ความสำเร็จแบบ “อเมริกัน”

ความสำเร็จแบบ “อเมริกัน”

เพื่อให้เรื่องที่เขียนในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีความต่อเนื่อง ที่ได้เริ่มมาจากการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงที่เพิ่งผ่านพ้นไป

เพราะผู้เขียนติดตามการแข่งขันทุกนัดด้วยความสนใจในการพัฒนาและความสำเร็จของหลายทีม ซึ่งทีมหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงทีน่าจะหยิบยกมากล่าวถึง คือ ทีมชาติสหรัฐ ที่เพิ่งมาสนใจแต่ทำทีมได้ดีทั้งหญิงและชาย

การเล่นฟุตบอลในอเมริกา นักเรียนนอกอย่างผมหรือหลายคนที่เคยเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐจะทราบดีว่า เมื่อเขาพูดถึง “ฟุตบอล” จะเป็นสิ่งที่เขาคุ้นชินกับ “อเมริกันฟุตบอล” ที่มีจุดกำเนิดแรกเริ่มมาจากการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย ปรินซ์ตั้น กับ รัจเกอร์ ราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมาโดยยึดเอาแบบแผนกติกาจองรักบี้ฟุตบอลที่มีพื้นฐานจากกีฬาฟุตบอล (soccer) ตามมาตรฐานของอังกฤษมาเป็นแบบอย่าง (ข้อมูลของ peoplehistory website)

แต่ประเด็นที่จะเขียนถึงวันนี้จะไม่เน้นไปในเรื่องของประวัติความเป็นมาของฟุตบอลที่ท่านทั้งหลายสามารถหาอ่านได้ไม่ยากในโลกเสมือนจริง สิ่งที่อยากจะกล่าวถึงมากที่สุด คือ ปัจจัยในความสำเร็จของทีมชาติสหรัฐในหลายการแข่งขันกีฬาที่พบเห็นซึ่งน่าจะสามารถกระตุ้นเตือนหรือให้ข้อคิดกับการทำทีมกีฬาในประเทศของเรา รวมทั้งจะเป็นข้อคิดในเรื่องอื่นๆ ทางสังคมการเมืองเป็นอานิสงส์ต่อไปได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดมาตั้งแต่สมัยผมเรียนหนังสือที่สหรัฐ เมื่อ 30 ปีก่อน คือ ความเป็นอเมริกันที่มุ่งมั่นแสวงหาสองสิ่งสำคัญในชีวิต คือ ชื่อเสียง กับ ความสำเร็จ (อาจรวมทั้งความร่ำรวยและการเป็นที่ยอมรับในสังคม) ทำให้เป้าหมายที่คนอเมริกันใฝ่ฝันถึงมีอยู่สองประการ บางคนเอาดีทางปกติก็มุ่งมั่นทำงาน สร้างฐานะสร้างรายได้สร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น บางคนที่ชอบในทางของตัวเองแบบลุยๆ ก็ไปปีนป่ายหน้าผา เล่นกีฬา หรือทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ บางคนเป็นนักศึกษาหน้าตาดีแต่อยากดังไปแสดงหนังผู้ใหญ่มีปรากฎเป็นข่าวให้ทราบกัน หรือไปเป็นผู้ก่อการร้ายก็เคยมี เรียกว่าเอาดีก็เอาให้สุด ทำเลวเขาก็เลวได้สุดๆ เหมือนกัน

เรื่องหนึ่งที่คนอเมริกัน คิดคล้ายๆ กัน คือ ความภูมิใจในความเป็นชาติอเมริกัน เรื่องความรักชาติรักเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่คนทุกชาติทุกภาษาต่างมีต่อชาติตนเองอยู่แล้ว แต่คนอเมริกันมีลักษณะที่น่าสังเกตได้ว่าเขาเอาความภูมิใจในความเป็นอเมริกันไปยึดโยงกับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างแนบเนียนและไปผูกติดกับความสำเร็จได้ในทุกเรื่อง ไปที่ใดก็จะเห็นธงชาติอเมริกัน ทุกคนร้องเพลงชาติได้ มีการทำสัญลักษณ์มือขาวแตะหน้าอกข้างซ้ายเวลาร้องเพลงประจำชาติ ลูกเด็กเล็กแดงทำได้เหมือนกันหมด แบดจ์ (badge) หรือเครื่องหมายบ่งบอกสังกัดที่มาของทหารตำรวจ จะมีรูปธงชาติ หรือ แม้แต่บนปกเสื้อประธานาธิบดีก็จะมีเข็มกลัดรูปธงชาติอเมริกันติดอยู่สะท้อนความภาคภูมิใจของเขา ที่ระยะหลังก็ได้เห็นหลายหน่วยงานในบ้านเราเริ่มรณรงค์ทำในสิ่งคล้ายกัน และได้นำภาพธงชาติมาทำเป็นรูปติดเสื้อ ติดในสิ่งที่ควรติดอย่างเหมาะสมมากขึ้น

คนอเมริกันนอกจากภูมิใจในความเป็นชาติของตนเองแล้ว ยังมีความทะเยอทะยาน มีความคิดจะเอาชนะอุปสรรคขวากหนามเป็นแรงบันดาลใจ เขาส่งมนุษย์อวกาศไปเดินถึงบนดวงจันทร์ เอาธงชาติไปปักไว้ได้ก็ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ คนอเมริกันที่เป็นเพื่อนสมัยเรียนหนังสือกับผมหลายคน เห็นเขาถกเถียงกับครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในแบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นชิน ถ้าจะบอกว่า “เถียงคำไม่ตกฟาก” ก็คงจะคล้ายๆ แต่ไม่ใช่เป็นการใช้อารมณ์หรือเอาชนะแบบไร้เหตุผล การโต้เถียงเป็นเรื่องของการใช้องค์ความรู้ มีตรรกะ มีเหตุมีผลรองรับ

ความสำเร็จล่าสุดของทีมฟุตบอลหญิงสหรัฐ ในชุดชิงแชมป์โลกที่ประเทศฝรั่งเศส พบว่ายังคงใช้หลักการที่เรียกว่า “โจมตีคู่ต่อสู้ให้ตั้งตัวไม่ติด (preemptive strike)” เป็นหลักเดียวกันกับการที่กองทัพสหรัฐใช้ในการโจมตีอิรัก อัฟกานิสถาน รวมทั้งการแทรกซึมบ่อนทำลายคู่ต่อสู้ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เราคงได้เห็นการโจมตีทางอากาศที่หนักหน่วงและระยะหลังกองทัพอเมริกันมีการสูญเสียน้อยลงเพราะได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการปฎิบัติภารกิจเป็นส่วนใหญ่ ความจริงการแข่งขันคู่ชิงชนะเลิศที่ถูกคู่ ควรจะเป็น อังกฤษ กับ สหรัฐ ผมถือว่า คู่นี้ถูกคู่ที่สุด เพราะเป็นการต่อสู้กันเชิงความคิดวิธีการ แบบอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยมแบบอเมริกันชัดเจน เสียดายตรงที่ ทั้งคู่มาเจอกันในนัดตัดเชือกรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่เกมการแข่งขันวันนั้นบอกอะไรเราได้มากมาย เพราะทีมอเมริกันได้ใช้ยุทธวิธีเข้าโจมตีตั้งแต่นาทีแรกไม่ให้โอกาสอังกฤษรุกได้กระทั่งเสียประตูแรกตั้งแต่นาทีต้นๆ ส่วนอังกฤษที่รูปแบบเทคนิกการเล่นดูจะมีภาษีดีกว่า มาได้ประตูในช่วงท้ายๆ และขาด “ความมั่นใจ” และ “สมาธิ” ในการเล่น ทำให้แม้จะมีโอกาสดีๆ หลายครั้ง ในที่สุดทีมชาติอเมริกันสามารถเอาชนะไปได้แบบไม่ขาดตามสายตาของคนดูที่มองรูปแบบการเล่นมาทุกนัด และยิ่งในนัดชิงที่สามซึ่งอังกฤษแข่งกับทีมชาติสวีเดนยิ่งสะท้อนความผิดพลาดหรือทัศนคติของทีมได้อย่างดีในทำนองว่า ถ้าไม่ใช่ชนะเป็นที่หนึ่ง ตำแหน่งอื่นฉันไม่สนใจแล้ว จึงทำให้สวีเดนมาเอาชนะไปได้แบบที่อังกฤษไม่สามารถทำประตูได้เลย

ที่เขียนมาไม่ต้องการให้เข้าใจว่ามาชื่นชมหรือมาอวยคนอเมริกันว่า ดี หรือ เก่ง กว่าใครๆ แต่อยากนำมุมมองในด้านบวกมาสะท้อนให้พวกเราเห็นและปรับใช้ ส่วนด้านที่มีสีเทาๆ ของคนอเมริกันนั้นมีไม่น้อย เช่น จัดงานเลี้ยงบังหน้า เพื่อเชื้อเชิญเอาคนของเราไปร่วมวงสนทนา ขุดคุ้ยข้อมูล ให้ทุนดูงานกับคนที่เขาคิดว่าให้ประโยชน์กับเขาได้ก็เคยได้ยินมา แต่นำมาเล่าคงไม่เกิดประโยชน์มากนัก อยากให้เห็นผลพวงของการขาดความ “มั่นใจ” และ “การขาดสมาธิ” ของทีมอังกฤษที่ทำให้หลายอย่างซวนเซและทำให้เกมการแข่งขันเดินไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่ต่างกับการเมืองไทยในวันนี้ที่ “คนรุ่นใหม่” เหมือนจะสวมหัวใจอเมริกันมาทำงานการเมือง พยายาม “โยนเผือกร้อน” หลายลูกถาโถมเข้าใส่ความเป็น พรรคอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่าๆ ท้าตีท้าต่อยกระทั่งมีคนหมั่นไส้จะดักตบตี ด้วยหวังจะ “ขอชนะครั้งเดียวแบบกินรวบทั้งกระดาน” ซึ่งบอกไปแล้วว่า ด้านดีของแนวคิดแบบอเมริกันนั้นมีอยู่ แต่ทัศนคติทำนองนี้ ถือเป็นอันตราย และอาจจำเป็นต้องเร่งกำจัดให้พ้นไปก่อนจะสายเกินเยียวยาแก้ไข