‘โรคซึมเศร้า’ ตรวจได้ด้วยเอไอ

‘โรคซึมเศร้า’ ตรวจได้ด้วยเอไอ

อีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวเร็วและรีบรักษาให้หายขาด

โรคซึมเศร้า เป็นอาการทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นและส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย คนส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นอาการที่รักษาไม่ได้ ซึ่งอันที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น หากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้รับการรักษาก็จะสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้ตัวก่อนว่าเป็น

ปัจจุบันวิทยาการทางด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence : AI) มีความก้าวหน้าและถูกนำมาใช้ประโยชน์ครอบคลุมวงการต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งทางการแพทย์ที่มีหลายองค์กรร่วมมือกันพัฒนาเอไอเพื่อใช้สำหรับทำการวิเคราะห์ภาวะซึมเศร้าและนำไปสู่วิธีการรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกวิธี

ผลจากการทดลองกับกลุ่มผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตพบว่า ผู้มีปัญหาจะเกิดความรู้สึกดีหากได้พูดคุยบอกเล่าปัญหาส่วนตัวให้กับผู้อื่นฟัง และจะรู้สึกดีและผ่อนคลายยิ่งขึ้นหากให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังแทน จากผลการทดลองนี้นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเอไอขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ ช่วยเหลือ และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ตัวอย่างเช่น การสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้เหมือนมนุษย์ และรับฟังคำพูดของมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะจิตใจย่ำแย่ โดยใส่โปรแกรมให้หุ่นยนต์สามารถตรวจจับสัญญาณภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลต่างๆ จากการวิเคราะห์น้ำเสียงของผู้ใช้งานว่าอยู่ในสภาวะอย่างไร เช่น การใช้โทนเสียงต่ำ การพูดคำหรือเนื้อหาซ้ำๆ หรือเสียงสูงที่เกิดจากความกังวลใจในการเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมถึงคำพูดที่แสดงถึงอาการภาวะซึมเศร้า เพื่อนำไปสู่การให้คำปรึกษาและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

นอกจากหุ่นยนต์แล้ว “แชทบอท” (chatbot) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับการนำเอไอมาใช้วิเคราะห์ภาวะซึมเศร้า โดยแชทบอทสามารถวิเคราะห์กลุ่มคำและลักษณะภาษาของผู้ใช้งานว่ามีสัญญาณบ่งบอกอันตรายในการพูดคุยกันหรือไม่ เช่น หากผู้ใช้งานมีการใช้คำว่า “เสียใจ” “เศร้า” “ร้องไห้” “ทุกข์ทรมาน” “เจ็บปวด” แสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะอยู่ในอารมณ์ซึมเศร้า หรือการใช้คำว่า “ป่วย” “เลือด” “บาดเจ็บ” ก็มีแนวโน้มว่าผู้ใช้งานรายนี้อาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพหรือต้องการเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษา 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในเบื้องต้นนี้ เราสามารถป้อนข้อมูลให้แชทบอททำหน้าที่ในการให้คำแนะนำแนวทางการรักษา หรือการไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการอย่างทันท่วงที ซึ่งการรู้อาการล่วงหน้าย่อมส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะรักษาหายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้แชทบอทอาจจะช่วยจูงใจ ให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างความเชื่อมั่นว่า โรคซึมเศร้าเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาเพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้ป่วยได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคำบางคำอาจกลายเป็นจุดหักเหให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตีความไปในแง่ลบได้ ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชัน Predict to Prevent จะช่วยแนะนำคำที่เหมาะสมในการสื่อสารกับผู้ป่วย โดยการนำเอไอและฟังก์ชั่นการคาดเดาคำมาพัฒนาเป็นคีย์บอร์ดแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่ใช้ได้กับโปรแกรมแชทต่างๆ เมื่อผู้ใช้งานพิมพ์ประโยคที่เข้าข่ายว่าจะกระทบจิตใจผู้ป่วย ระบบจะประมวลผลและแนะนำคำที่เหมาะสมโดยผ่านการรับรองจากจิตแพทย์แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เพื่อป้องกันการตีความในทางลบซึ่งอาจนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้

เห็นได้ชัดว่า เอไอ เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ วินิจฉัย รวมถึงการแนะนำวิธีการรักษาในเบื้องต้น ซึ่งถึงแม้เทคโนโลยีเอไอจะช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าให้กับผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำมากเพียงใด แต่ผู้ป่วยก็ควรจะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกวิธีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง จึงกล่าวได้ว่า เอไอ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวเร็วและรีบรักษาให้หายขาดได้ในที่สุด