สติกลิตซ์ยังไม่พ้นวังวนเดิม

สติกลิตซ์ยังไม่พ้นวังวนเดิม

เมื่อปลายเดือนเม.ย. ศาสตราจารย์ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ชั้นรางวัลโนเบล

 พิมพ์หนังสือเล่มใหม่ออกมาชื่อ People, Power, and Profits: Progressive Capitalism for an Age of Discontent หลังจากวันนั้น การวิจารณ์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่ก็มองได้ว่าไม่เกินคาดเนื่องจากผู้เขียนมีชื่อเสียงโด่งดังอีกทั้งยังต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แบบออกนอกหน้า เป็นธรรมดา การต่อต้านจะนำมาซึ่งการตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากบุคลากรในค่ายนายทรัมป์

สำหรับผู้ที่ติดตามอ่านงาน หรือแนวคิดของ ศ. สติกลิตซ์ อยู่บ้าง เมื่อเห็น Discontent ในชื่อรองของหนังสือเล่มนี้คงโยงไปถึงหนังสือที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเรื่อง Globalization and Its Discontents ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2545 ในเล่มนี้ เขาโจมตีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)อย่างรุนแรง ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวโลกเพราะทำตัวเป็นเครื่องมือของพวกต้องการบริหารเศรษฐกิจตามแนวคิดตลาดเสรีแบบสุดขั้ว (เหตุผลอาจหาได้ในบทคัดย่อหนังสือของเขาเป็นภาษาไทยในเว็บไซต์ www.bannareader.com) ในหนังสือเล่มล่าสุดนี้ นอกจากเขาจะโจมตีแนวคิดตลาดเสรีแบบสุดขั้วแล้ว เขายังโจมตีอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเขามองว่าตายแล้วอีกด้วย นั่นคือ แนวคิด เสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism)

แนวคิดเสรีนิยมใหม่ในสายตาของ ศ. สติกลิตซ์ เป็นกรอบนโยบายที่สหรัฐเริ่มใช้ในสมัยโรนัลด์ เรแกนเป็นประธานาธิบดีเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน กรอบนั้นมีแนวนโยบายอยู่ด้วยกัน 4 อย่างได้แก่ ลดภาษีให้กลุ่มคนรวย ลดความเข้มข้นของมาตรการดูแลตลาดแรงงานและตลาดสินค้า ตีค่าทุกย่างเป็นเงินและสนับสนุนกระบวนการโลกาภิวัตน์ย่างเต็มกำลัง โดยทั่วไป นายทรัมป์ใช้นโยบายในแนวนี้ยกเว้นในด้านการสนับสนุนกระบวนการโลกาภิวัตน์ ตามเนื้อหา แนวคิดเสรีนิยมใหม่ไม่ต่างกับแนวคิดตลาดเสรีที่ ศ. สติกลิตซ์โจมตีอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้น การโจมตีของเขาจึงอาจคาดเดาได้

เพื่อแก้ปัญหา เขาเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า ทุนนิยมก้าวหน้า” (Progressive Capitalism) ซึ่งประกอบด้วยแนวนโยบายใน 4 ด้านด้วยกันคือ (1) รื้อฟื้นบทบาทของรัฐบาลขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดความสมดุลกับพลังของตลาดและภาคประชาสังคม ซึ่งจะแก้ความบกพร่องของระบบตลาดเสรี (2) สนับสนุนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และองค์กรทางสังคมที่เอื้อให้ประชาชนจำนวนมากทำงานด้วยกันเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเอาเปรียบสังคมของคนบางกลุ่ม (3) ลดการกระจุกตัวของอำนาจในตลาดของบริษัทขนาดยักษ์ และ (4) ตัดความเชื่อมโยงระหว่างพลังทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะการบริจาคเงินจำนวนมากให้แก่พรรคและนักการเมือง

สำหรับผู้ที่ติดตามแนวคิดของ ศ. สติกลิตซ์อยู่บ้าง สิ่งต่างๆ ที่เขาเสนอไม่มีอะไรใหม่ แม้คำว่า “ทุนนิยมก้าวหน้า” อาจจะดูว่ามีความใหม่อยู่บ้างก็ตาม ยิ่งกว่านั้น ผู้ติดตามความคิดของเขาอย่างจริงจังน่าจะผิดหวังมาก หลังจากคอยมานานว่าเขาจะเสนออะไรเพื่อตอบประเด็นใหญ่ที่เขาตั้งไว้ในหนังสือชื่อ Freefall: America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy ซึ่งพิมพ์เมื่อต้นปี 2553 ชื่อของหนังสือเล่มนี้บ่งชี้ถึงความหนักหนาสาหัสของปัญหาเพราะทั้งอเมริกาและโลกกำลังล่มจม ปัจจัยพื้นฐานที่ก่อให้เกิดปัญหาได้แก่สิ่งที่เขาเรียกว่า “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” (Moral Deficit) ด้วยเหตุนี้โลกจะต้องมีกระบวนทัศน์ หรือแนวคิดพื้นฐานใหม่เพื่อใช้แก้ปัญหาแบบยกเครื่อง คอลัมน์นี้วิพากษ์เรื่อง Freefall ไว้ในบทความประจำวันที่ 7 พ.ค. 2553

จากนั้นมา ศ. สติกลิตซ์ เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม แต่มิได้เสนออะไรที่ตอบประเด็นใหญ่ในเรื่อง Freefall เพราะเขาเขียนเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ การศึกษาและปัญหาของยุโรป หากมองว่าเนื้อหาของเล่มล่าสุดที่กำลังพูดถึงนี้เป็นการตอบประเด็นในเรื่อง Freefall คำตอบของเขาไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะมันมิได้มีอะไรที่ทำให้มองได้ว่าเกิดจากกระบวนทัศน์ใหม่ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของโลกแบบยกเครื่อง ทุกอย่างที่เขาเสนอยังอยู่ในกรอบของแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งขับเคลื่อนด้วยการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด แม้การบริโภคจะเกินความจำเป็นจนสุดโต่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งสุดรุนแรงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแล้วก็ตาม คำตอบที่มาจากกระบวนทัศน์ใหม่และเพียงพอกว่าของ ศ. สติกลิตซ์ มีอยู่ในเมืองไทย แต่คนไทยส่วนใหญ่และรัฐบาลไทยยังไม่เข้าใจ หรือศรัทธาจนนำมาใช้ย่างจริงจัง