พลิกสร้าง 'พลังบวก'

พลิกสร้าง 'พลังบวก'

ความรู้สึกเชิงลบไม่เปิดโอกาสให้เราใช้ประสิทธิภาพของสมองได้อย่างเต็มที่

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดูจะเป็นตัวการสำคัญให้คนทำงานในองค์กรรู้สึกเหนื่อยหน่าย จนไม่อาจทำงานได้เต็มกำลัง เพราะเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้มักผิดพลาดเป็นประจำด้วยสารพัดความผันแปรไม่แน่นอน ทั้งการเมืองในประเทศ ไปจนถึงเศรษฐกิจในระดับโลกที่ดูจะไม่ได้มีแนวโน้มเป็นบวกเท่าไรนัก

เริ่มจากในบ้านเราที่ความไม่แน่นอนด้านการเมืองเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจมานานหลายปี มาจนถึงวันนี้ เราก็ต้องกังวลกันอีกครั้ง เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งบ้านเราประชากรส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดกำลังซื้อก็ย่อมส่งผลถึงส่วนอื่นในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หันมามองระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณบวกใดๆ ความวุ่นวายภายในยุโรปจากปัญหาเบร็กซิต ยังคงยาวนานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีปัญหาสงครามการค้าจนนักวิชาการหลายสำนักกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีกไม่นานนับจากนี้

หลายคนจึงท้อแท้กับการทำงาน เพราะมองไปทางไหนก็ยังไม่เห็นข่าวดี หลายคนพาลโกรธชังคู่แข่งทางธุรกิจที่ทำให้บริษัทของตัวเองต้องมีปัญหา บางคนก็โกรธเจ้าของ โกรธผู้บริหารองค์กรเพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด จนอาจลืมไปว่าความโกรธและความเกลียดชังเหล่านั้นเป็นการปิดโอกาสที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองในอนาค 

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะสอนใจเราได้ดีที่สุดคือ สตีฟ จ็อบส์ในวัยหนุ่มหลังจากก่อตั้งแอ๊ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ด้วยวัยเพียง 21 ปีแล้วนำพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์จนประสบความสำเร็จมหาศาล สร้างความมั่งคั่งจนทำให้เขาเป็นเศรษฐีพันล้านได้ในวัย 20 ต้น ๆ

แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 10 ปีเขาก็ถูกจอห์น สกัลลี่ผู้บริหารของแอ๊ปเปิ้ลที่เขาเลือกให้มาทำงานด้วยตัวเองกดดันให้ลาออก ซึ่งแน่นอนว่าจ็อบส์ต้องช็อคกับเรื่องดังกล่าว และโกรธขึ้งกับทุกสิ่งรอบข้างเพราะนี่เป็นบริษัทที่เขาก่อตั้งขึ้นมาแท้ ๆ

แต่จ็อบส์ก็รู้จักที่จะเปลี่ยนพลังแห่งความโกรธนั้นเป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ แทน ด้วยการก่อตั้งบริษัทเน็กซ์ ซึ่งมีความโดดเด่นหลายด้านเพราะเขาต้องการสร้างคอมพิวเตอร์ที่เหนือกว่าแอปเปิ้ลแมคอินทอชในยุคนั้น เน็กซ์จึงเป็นคอมพิวเตอร์ราคาแพงแต่มีความล้ำยุคจนกลายเป็นต้นกำเนิดเวิล์ดไวด์เว็บ 1.0 ด้วยการเชื่อมต่อภายในสถาบันวิจัยเซิร์น

นอกเหนือจากเน็กซ์แล้ว จ็อบส์ยังมีพลังเหลือพอที่จะก่อตั้งพิกซาร์ซึ่งเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นชื่อดังเช่นทอยสตอรี่ บั๊กส์ นีโม่ ฯลฯ ซึ่งทำรายได้ดีจนดิสนีย์ขอซื้อกิจการไปเมื่อปี 2006 ส่งผลให้จ็อบส์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดิสนีย์เพราะมูลค่าทางธุรกิจของพิกซาร์ถูกประเมินไว้ถึง 7,400 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

สุดท้ายแล้วแอ๊ปเปิ้ลซึ่งกิจการย่ำแย่ก็จำต้องซื้อกิจการของเน็กซ์เพื่อดึงตัวสตีฟ จ็อบส์กลับมาร่วมงานอีกครั้ง และระบบปฏิบัติการของแอ๊ปเปิ้ลคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ก็พัฒนามา  จากระบบเน็กซ์สเต็ปที่จ็อบส์คิดค้นขึ้น ซึ่งการกลับมาของจ็อบส์ก็ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากมายที่เรารู้จักกันดี

นับตั้งแต่ไอพอด ไอโฟน ไอแพด ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นตัวหลักในการสร้างยุคใหม่ของแอ๊ปเปิ้ล ที่รุ่งเรืองสูงสุดจนมีกำไรสูงสุด และมีเงินสดสะสมสูงที่สุด การเปลี่ยนพลังของความโกรธของตัวเองในวันนั้นจึงเป็นการสร้างพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัดที่ส่งผลมาถึงทุกวันนี้

ความโกรธแค้นไม่อาจช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่สร้างโอกาสให้กับตัวเองในอนาคต เพราะความรู้สึกเชิงลบไม่เปิดโอกาสให้เราใช้ประสิทธิภาพของสมองได้อย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามกับความคิดเชิงบวกที่ทำให้สมองปลอดโปร่งและความคิดอ่านโลดแล่นได้เต็มพิกัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวแปรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ การโกรธแค้นเรื่องเหล่านั้นจึงเป็นการเสียพลังงานโดยใช่เหตุ แต่การพลิกกลับมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตัวเองต่างหากที่จะทำให้เรามีความพร้อมยิ่งขึ้นเมื่อเจอความผันผวนครั้งต่อไปในอนาคต