Libra กับปัญหาทางภาษี (ที่จะตามมา)

Libra กับปัญหาทางภาษี (ที่จะตามมา)

ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้อธิบายถึงที่มาที่ไปและลักษณะพื้นฐานของ Libra ที่ปรากฏใน White paper และข้อกฎหมายบางประการที่เกี่ยวข้อง

ฉบับนี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึง Libra ในมุมของภาษีบ้าง โดยผู้เขียนเชื่อว่าการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในแบบของ Libra นั้น จะเป็นการสร้างโจทย์ที่ท้าทายใหม่ให้กับกระทรวงการคลังและสรรพากรทั่วโลก 

ภาระภาษีที่แตกต่างระหว่าง Libra และคริปโทประเภทอื่น ๆ

ด้วยเหตุที่ว่าคริปโทประเภท mining เช่น bitcoin มีมูลค่าผันผวนและเปลี่ยนแปลงตาม demand/supply ในตลาด ดังนั้น แนวคิดในการเก็บภาษีคริปโทประเภทนี้ คือ การพยายามหาส่วนต่างของมูลค่า หรือ ประเมินเงินได้ที่งอกเงยเกินกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนไป เช่น หลักการตาม ม.40 (4) ของ พ.ร.ก. แก้ไขป.รัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำหนดให้ “เงินได้พึงประเมินรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”

เช่นเดียวกัน ในกรณีของ ICO ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล หากบริษัทผู้ออก (Issuer) ได้ทำการจ่ายส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์ให้ผู้ถือ Token บริษัทผู้ออก ย่อมมีหน้าที่ หัก ภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ก่อนจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือ Token ตามหลักการในป.รัษฎากร

อย่างไรก็ดี แนวคิดในข้างต้นอาจไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีของ Libra ซึ่งเป็น stable coin ได้ เพราะไม่ได้มีส่วนต่างของมูลค่า/ส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกรณีในข้างต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากการสร้างมูลค่าให้ Libra คือการกำหนดให้มีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่เต็มจำนวน โดยถูกนำไปผูกไว้กับมูลค่าของสกุลเงิน (fiat currency) เสมอ ดังนั้น การทำงานของ Libra คือ การบันทึกมูลค่าของเงินจริงๆ ลงในเหรียญเพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบมูลค่าที่แน่นอนของ Libra ที่ถือครอง ดังนั้น จึงไม่ใช่กรณีการหาส่วนต่างของมูลค่าตามการขึ้นลงของราคาตลาดอย่าง Bitcoin ในข้างต้น

สำหรับผู้เขียน ประเด็นที่น่าคิด คือ การซื้อ Libra ด้วยเงินสกุลหนึ่งและมีการแลกเปลี่ยนออกมาเป็นอีกสกุลหนึ่ง อาจเกิดส่วนต่างทางมูลค่าอยู่บ้างตามการขึ้นลงของค่าเงิน กฎหมายภาษี ในอนาคตจะเอื้อมมือไปถึงกรณีแบบนี้ได้หรือไม่ ในโลกที่ข้อมูลต่างๆ ยากต่อการตรวจสอบบน platform ของเอกชน

การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีทำได้ยากในกรณีของ Libra

แนวคิดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางบัญชีหรือข้อมูลทางการเงิน (Financial Account) ของบุคคลประเทศตนที่อาจนำไปเก็บไว้ในสถาบันการเงินในประเทศอื่น ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมในประเทศไทย คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐ (FATCA) ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินไทย เช่น ธนาคาร ต้องทำหน้าที่คัดกรองลูกค้าว่าเป็นคนสัญชาติอเมริกาหรือไม่ ซึ่งหากใช่ และเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ธนาคารย่อมมีหน้าที่ส่งข้อมูลทางการเงินดังกล่าวให้สรรพากรไทยเพื่อส่งต่อไปยังสรรพากรสหรัฐฯ (โดยสหรัฐฯ ก็มีหน้าที่ส่งข้อมูลทางบัญชีของคนไทยในสหรัฐฯ กลับมาเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ในลักษณะต่างตอบแทน)

อย่างไรก็ดี เมื่อมี Libra แนวคิดในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศในข้างต้นย่อมไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ “ธนาคาร” ไม่ได้ถูกใช้เป็นสถานที่หรือตัวกลางในการเก็บรักษา Libra หากแต่เป็น e-Wallet เจ้าต่างๆ (เช่น Calibra) หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ Facebook จะประกาศให้เป็นผู้จัดจำหน่าย Libra ในอนาคตต่างหาก ที่จะทำหน้าที่เหล่านั้นแทนธนาคาร ดังนั้น ข้อมูลทางภาษีที่ครั้งหนึ่ง รัฐเคยคิดว่าจะได้จาก ธนาคาร หรือ สถาบันทางการเงินประเภทต่างๆ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศ อาจไม่มีประโยชน์ หรือคุ้มค่า ในการลงทุนสร้างโครงข่าย tax exchange เท่าไรนัก เพราะคนที่ประสงค์จะทำการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางภาษี อาจนำเงินออกจาก ธนาคาร/สถาบันการเงิน และไปแลกเป็น Libra เพื่อนำไปเก็บไว้ใน e-Wallet แทน คำถามคือ ข้อมูลเหล่านั้นรัฐขอได้จากใคร? e-Wallet เจ้าต่าง ๆ หรือ Libra association ที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์?

ดังนั้น ประเด็นที่น่าคิด คือ หาก Libra ถูกนำมาใช้จริง ๆ จะเกิดธุรกิจทดแทนธุรกิจ e-payment เดิมที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจำนวนมาก โดยการเกิดธุรกิจทดแทนในลักษณะนี้ ยากต่อการได้ข้อมูล payment ต่าง ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการทำนโยบายทางการเงินและภาษี 

ภาษี และการใช้ Libra กับ e-Commerce บน Social Network

ในปัจจุบัน ปัญหาในทางภาษีอากรของภาครัฐทั่วโลก คือ การใช้ e-Commerce เป็นช่องทางในการเลี่ยงภาษี ดังนั้น ในช่วงปีทีผ่านมาเราจึงเห็นการออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การตรวจสอบข้อมูลภาษี เช่น ภาษี e-payment ที่มีข้อกำหนดให้สถาบันการเงิน (ทั้ง Bank และ Non-Bank) เป็นตัวกลางในการจัดส่งและรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากรทราบ

อย่างไรก็ดี ในโลกของ Libra ธุรกรรม e-Commerce จะสะดวกรวดเร็วขึ้น และเป็นไปได้ว่าจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ ใช้ Social Network เป็น platform ในการซื้อขาย และใช้ Libra เป็นสื่อกลางในการชำระเงินแทนการจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคารในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น QR code หรือ Internet Banking ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. อาจเปิดบัญชี Facebook เพื่อขายของ และรับ Libra เป็นสื่อกลางในการชำระราคา เมื่อมีการชำระเงินจากลูกค้า ก็เก็บไว้ในรูป Libra ไม่ได้แปลงออกมาเป็นเงินสด และไม่ได้นำไปฝากไว้กับธนาคาร ดังนั้น ประเด็นคือ ธุรกรรมทั้งหมดตามตัวอย่างข้างต้น ไม่สามารถถูกเรียกดูหรือตรวจสอบใดๆ ได้ การตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของธนาคาร ย่อมไม่มีประโยชน์อีกต่อไป และนี่คือโจทย์ของภาครัฐว่า จะสร้างความเท่าเทียมในทางภาษีระหว่างธุรกิจที่จดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้องและรับชำระเงินเป็นเงินตราที่ใช้ในปัจจุบัน กับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในโลกออนไลน์และใช้ Libra หรือคริปโทประเภทต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นอีกย่างแน่นอนในอนาคตเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน อย่างไร? 

ท้ายที่สุด ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า Libra จะได้ออกมาใช้อย่างเต็มรูปแบบตามที่ผู้คิดค้นตั้งใจหรือไม่ แต่อย่างน้อยแนวคิดในการสร้าง Libra จะเป็นจุดเริ่มต้นให้สรรพากรทั่วโลกต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่เพื่อรองรับความเสี่ยงในการถูกกัดกร่อนฐานภาษีในรูปแบบไม่เคยเจอมาก่อน

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ]