การต่อสู้ตามแนวธรรมวิธี ของบัณฑิต (ผู้รู้) !!

การต่อสู้ตามแนวธรรมวิธี ของบัณฑิต (ผู้รู้) !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จากพระพุทธภาษิตที่ว่า

“คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญหมายว่าเป็นบัณฑิต นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้”

ลักษณะของคนพาล คือ คนโง่เขลาเบาปัญญา ผู้ที่อยู่เพียงหายใจทิ้งไปวันๆ ไร้สารประโยชน์ ขาดสติปัญญา คิดก็คิดไม่ดี พูดก็พูดไม่ดี จะคำนึงถึงแต่ประโยชน์แห่งตนและหมู่คณะเป็นสำคัญ แม้ประโยชน์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด เป็นบาป อกุศล ก็จักกระทำ

ลักษณะอีกประการหนึ่งของคนพาล คือ ชอบจับผิด เพ่งโทษ คิดแต่จะตำหนิติเตียนผู้อื่นที่ไม่ต้องใจตนอยู่ร่ำไป อย่างไม่คำนึงถึงคุณธรรมความดีใดๆ แม้จะมีบัณฑิตผู้รู้ห้ามปราม เพื่อไม่ให้เป็นโทษภัย ก็จักไม่เชื่อฟัง คนพาลจึงแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นบุคคลที่กระทำบาปกรรมหรืออกุศลธรรมเป็นอาจิณ

สมัยหนึ่ง ได้รับภารธุระจัดอบรมพระภิกษุคณะหนึ่ง เพื่อเดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมภาคสนามที่อินเดีย เนปาล จึงได้มอบให้คณะศรัทธาที่มีความรู้ ช่วยทำแบบสอบถามจัดเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลก่อนและหลัง โดยมีคำถามสำคัญอยู่ข้อหนึ่ง คือ เรื่องห้ามรับเงินทองของพระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปรากฏว่า ได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นในแบบฟอร์มสอบถาม คือ การเขียนด่ากลับมามากมายจากพระภิกษุเหล่านั้น (จะเว้นไว้น่าจะประมาณ 4-5 รูป) เล่นเอาแพทย์หญิงผู้จัดทำแบบสอบถามเพื่อจัดเก็บข้อมูลจากพระภิกษุคณะดังกล่าว ถึงกับตกใจ ไปไม่ถูก ไม่กล้านำเสนออาตมาทราบ จนกลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ...

เมื่อเอกสารชุดดังกล่าวถึงมืออาตมาจึงได้มาอ่านดูแบบผ่านๆ และได้ตรวจสอบทบทวนดูเรื่องราวทั้งหมด ก็พอจะสรุปได้ถึงมูลเหตุแห่งความไม่ชอบใจ ปฏิฆะ ขุ่นเคือง พยาบาท และกระทำการเบียดเบียนดังกล่าว... อันเป็นพฤติกรรมของคนถ่อยเถื่อน ไร้ศีลธรรม ซึ่งไม่น่าจะมาจากบุคคลผู้ปฏิญาณตนว่า เป็นสมณะ ในพระพุทธศาสนานี้เลย ที่ควรแก่การสำรวม กาย วาจา ใจ เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีอินทรีย์สังวร ให้สมกับความเป็นสมณสารูป..

จึงอย่าได้แปลกใจ หากสังคมชาวบ้านปัจจุบันจะถอยหลังออกมาจากลำคลองคุณธรรมความดี มีการแบ่งฝักฝ่าย มุ่งแต่การกระทำการรุกรานต่อกันด้วยมารวิธี อย่างไม่หลงเหลือความเป็นญาติมิตรในถิ่นแดนธรรม ให้สมกับที่เกิดมาบนแผ่นดินที่รองรับพระพุทธศาสนามายาวนานเลย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราทั้งหลายมีหลักการอันมั่นคงในการเกิดมาเป็นชาวพุทธ ที่ต้องยึดหลัก ไม่ทำบาปทั้งปวง และต้องทำความดีให้ถึงพร้อม เพื่อรองรับการพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวิถีของสาธุชนในพระพุทธศาสนา ก็ไม่ควรหวั่นไหว ละทิ้งอุดมการณ์ หลักการ และข้อปฏิบัติ อันถูกต้องตรงธรรม.. ซึ่งนั่นเป็นวิสัยของบัณฑิตในพระพุทธศาสนา

ความศรัทธาเชื่อมั่นใน กรรม, วิบาก และความเป็นสัตว์อาศัยผลของกรรม (กัมมัสสกา) เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการดำเนินชีวิตไปในกระแสสังคมที่แสดงความเป็นอนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตาอย่างรวดเร็วและรุนแรง อันเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของกฎธรรมชาติเหนือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองคืนกลับความประมาทของชาวโลก ผู้นิยมวัตถุเทคโนโลยีเป็นดุจพระเจ้า จนเลอะเลือนในพระสัทธรรมอันบริสุทธิ์

คนดี บัณฑิต ผู้รู้ ในวิถีธรรม จึงควรมั่นคงหนักแน่นในศีลธรรม เพื่อการประพฤติทางกุศลกรรม อย่าได้หวั่นไหวทอดทิ้งภารธุระของการทำความดี การปฏิบัติธรรม เคารพธรรม ตามธรรมวิธีในพระพุทธศาสนา จะได้มีสติปัญญาและพลังธรรมในการขับเคลื่อนชีวิต เพื่อดำเนินไปบนหนทางแห่งการปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นเส้นทางที่คนพาล มารทั้งปวง ย่อมพ่ายแพ้ ไม่ว่าในกาลใดสมัยใด สมดังคติธรรมที่ว่า “การต่อสู้กับคนพาลโดยพาลวิธีนั้น ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต ผู้รู้ในพระศาสนานี้” เพราะที่สุดของสัตว์โลกต้องดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์กรรมอย่างเสมอภาคและยุติธรรมแท้จริง นั่นคือสัจธรรม !!!

 

เจริญพร