ความท้าทายของนโยบายสาธารณะ

ความท้าทายของนโยบายสาธารณะ

อาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ และสมาคมรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ให้ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ

ในหัวข้อ รัฐประศาสนศาสตร์: นโยบายสาธารณะเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทย เนื่องในวันครบรอบ 64 ปี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถือเป็นเกียรติอย่างมากต่อตัวผม และมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล เป็นหัวข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ เพราะประเทศเรามีปัญหามากที่รอการแก้ไข และนโยบายสาธารณะที่ดีจะสามารถช่วยประเทศให้ก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้

วันนี้จึงอยากเขียนเรื่องนี้ และแชร์ความเห็นของผมบางส่วนที่ได้ให้ไว้ที่นิด้าให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

นโยบาย หรือที่เราเรียกกันว่า นโยบายสาธารณะ คือ สิ่งที่รัฐทำที่กระทบการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นอยู่ของคนในสังคม เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มีตามรัฐธรรมนูญ

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมมีความเชื่อว่า นโยบายมีความสำคัญต่อสังคมและประเทศ นโยบายที่ดีสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญให้กับเศรษฐกิจและคนในสังคม เช่นเดียวกัน นโยบายที่ไม่ดีหรือเลว ก็สามารถทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะที่ดีจึงสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศ

สำหรับประเทศไทย ประเทศเราขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านในสามด้าน ที่จะมีผลอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของคนในประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะท้าทายการดำเนินโนบายของภาครัฐ ที่ต้องทำให้ประเทศสามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ เพื่อไม่ให้คนในประเทศเสียหายหรือเสียโอกาส

การเปลี่ยนผ่านด่านแรก คือ การเมือง ที่ประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบเผด็จการทหารไปสู่การปกครองในระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นการเปลี่ยนผ่านที่คนในประเทศรอคอย ที่จะเห็นประเทศกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมีการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของหลักธรรมมาภิบาลเจ็ดข้อของระบอบประขาธิปไตย ที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้ในวันเนลสัน แมนดาลา เมื่อปี 2557 ได้แก่

การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม การเคารพในความเห็นที่แตกต่าง การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม การปกครองที่มีความรับผิดชอบและโปร่งใส ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม การเรียนรู้ ศึกษาและแบ่งปันความรู้ในสังคม และผู้นำที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน

นี่คือพื้นฐานด้านธรรมาภิบาลของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้น เพื่อให้การเมืองของประเทศมีเสถียรภาพ แต่ช่วง 6 เดือนแรกของการเปลี่ยนผ่าน ต้องยอมรับว่าการเมืองในประเทศเรายังมีช่องว่างอีกมากระหว่างสิ่งที่เป็นหลักธรรมาภิบาลของระบอบประชาธิปไตยและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เราเห็นการเมืองยังเป็นการเล่นการเมืองของนักการเมืองเพื่ออำนาจและผลประโยชน์มากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ เราเห็นนักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนที่จะสร้างประเทศให้ก้าวหน้า ขณะที่ความพยายามที่จะรักษาอำนาจการเมืองของผู้มีอำนาจก็นำไปสู่คำถามมากมายเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลของระบอบประชาธิปไตย ชี้ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังเป็นการเดินทางไกล และการแสวงหาจุดร่วมระหว่างการเมืองในระบบอุปถัมภ์ที่อำนาจเป็นใหญ่กับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนอยากเห็นยังไม่ประสบความสำเร็จ เป็นความท้าทายของนโยบายสาธารณะที่ต้องลดช่องว่างนี้ และทำให้จุดร่วมนี้เกิดขึ้นเพื่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ เป็นความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้น

ด้านที่สอง ของการเปลี่ยนผ่าน คือ เศรษฐกิจ ที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศกำลังปรับตัวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบของนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจทั่วโลก ทั้งด้านอุปทานคือการผลิต และด้านอุปสงค์ที่วิถีการบริโภคของคนในสังคมได้เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวมากเพื่อรักษาการเติบโตและความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศสามารถเติบโตได้ต่อไป และในการปรับตัวนี้ ภาคธุรกิจก็จะมองมาที่ภาครัฐที่ต้องช่วยสนับสนุนด้วยนโยบายต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในเศรษฐกิจโลก

ในแง่นโยบายสาธาธาระ พัฒนาการเหล่านี้หมายถึง ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวและต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน ทั้งในแง่บทบาทและในวิธีการทำนโยบาย เพื่อให้บทบาทของภาครัฐสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องก้าวข้ามความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้บทบาทภาครัฐเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ สร้างความไว้วางใจ(Trust) ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจให้เกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าบทบาทของภาครัฐ ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจและประชาชนอยากเห็น เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านด้านเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ

ด้านที่สาม คือการเปลี่ยนผ่านในมิติของสังคม ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยที่สัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 60 ปี จะมีมากถึง 20% ของประชากรทั้งหมด เริ่มในปีหน้าที่ประชากรสูงวัยจะมีประมาณ 13.1 ล้านคน ขณะที่สัดส่วนประชากรในวัยทำงานจะลดลง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการจัดสรรทรัพยากรในประเทศ

ผลกระทบที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ ถ้าไม่มีการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพหรือความสามารถของภาคแรงงานในการผลิต ความสามารถในการเติบโตและการหารายได้ของประเทศไทยก็จะลดลง เพราะจำนวนคนในวัยทำงานมีน้อยลง และคุณภาพของแรงงานก็จะลดลงตาม ขณะที่ภาระด้านการใช้จ่ายของประเทศจะสูงขึ้น จากจำนวนคนสูงวัยที่จะมีมากขึ้น คนเหล่านี้ต้องพึ่งพาภาครัฐหรือคนอื่นให้ดูแล

ล่าสุดประมาณว่า ผู้สูงอายุที่ไม่มีการวางแผนหรือไม่มีการออมเพื่อรองรับการเกษียณมีมากถึง 41% และ 28% ของผู้สูงอายุเหล่านี้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน นี่คือผลกระทบของสังคมสูงวัย ที่จะเป็นความท้าทายทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับประเทศ

การเปลี่ยนผ่านทั้ง 3 ด้านนี้ จะสร้างผลกระทบมากมายต่อสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นความท้าทายที่เพิ่มเติมจากหลายปัญหาที่ประเทศมีอยู่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการทุจริตคอร์รัปชั่น การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องการการทำนโยบายที่ดีจากภาครัฐเข้ามาแก้ไข เป็นนโยบายสาธารณะที่เข้าใจสถานการณ์ มีเหตุมีผล และเจาะลึกในผลกระทบต่างๆ อย่างระมัดระวัง เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต่อนโยบายสาธารณะเพื่อให้สังคมสามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีได้ต่อไป

ในปาฐกถา ผมได้ฝากข้อคิดว่า สังคมเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนร่างกายมนุษย์ ร่างกายมนุษย์เมื่อเจ็บป่วยหรือมีปัญหา ร่างกายก็มีกลไกที่จะซ่อมแซมตัวเอง สังคมก็เช่นกัน เมื่อสังคมมีปัญหาก็เป็นหน้าที่ของคนในสังคมที่ต้องแก้ปัญหา แต่ที่สังคมไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีได้ ก็มาจาก หนึ่ง สังคมไม่รู้ว่ามีปัญหา สอง สังคมรู้ว่ามีปัญหาแต่ไม่มีความรู้ที่จะแก้ปัญหา สาม สังคมรู้ว่ามีปัญหา มีความรู้ที่จะแก้ปัญหา แต่ยังไม่สามารถระดมความรู้ความสามารถที่สังคมมีมาแก้ปัญหา

ในบริบทนี้ ความท้าทายในการทำนโยบายสาธารณะของเรา คือ ทำอย่างไรให้สังคมไทยสามารถระดมความรู้ความสามารถที่สังคมมี มาช่วยภาครัฐแก้ไขปัญหา เริ่มต้นจากทำอย่างไรให้นักการเมืองรู้ปัญหาและให้ความสำคัญกับปัญหาที่ประเทศมีที่ต้องแก้ ไม่ใช่จะทำแค่นโยบายที่ได้ใช้หาเสียง ทำอย่างไรให้ข้าราชการมุ่งประโยชน์ของประเทศชาติ ผลักดันการทำนโยบายให้สนองตอบต่อปัญหาที่ประเทศ และได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมของประชาชน และทำอย่างไรให้ภาคประชาสังคมสามารถมีบทบาทสนับสนุนและตรวจสอบการทำนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประเทศได้นโยบายสาธารณะที่ดีที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน และอนาคตของประเทศ

นี่คือความท้าทายนโยบายสาธารณะของประเทศไทย