กลุ่มอำนาจใหม่

กลุ่มอำนาจใหม่

กฎข้อหนึ่งของธรรมชาติคือ “อนิจจัง” ความไม่คงที่ ไม่มีแน่นอนเที่ยงแท้ และแปรเปลี่ยนได้ตลอด

สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดวงดาวคือผู้ควบคุมเวลา โหราศาสตร์จึงเป็นศาสตร์แห่งการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ

หลังจาก 28 มิถุนายน 2562 ตำนาน 47 ปีของน.ส.พ. The Nation ได้ปิดตัวลง ช่วงก่อนหน้านั้น 31 มีนาคม นสพ.โพสต์ทูเดย์ได้ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายก่อนปิดตัวเช่นกัน นี่เป็นอีกหลักไมล์สำคัญของวงการสื่อ อันที่จริง สื่อกระดาษทั้งนสพ.และนิตยสารปิดตัวกันมากในปี 2559 เมื่อผ่านความยากลำบาก การปรับตัว และอดทนจนถึงวันนี้ คงมีน้อยคนที่คิดว่าจะมีการปิดตัวกันอีก แต่มันก็มี การปิดเนชั่นยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อยังไม่จบ อาฟเตอร์ช็อคเกิดขึ้นได้เสมอ

กลุ่มอำนาจใหม่

ทุกคนเชื่อว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปคือสาเหตุใหญ่ ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและเครือข่าย 4G ราคาที่ถูกลงและคุณภาพที่ดีขึ้นของสมาร์ทโฟน กอปรกับการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ผู้คนจึงเปลี่ยนจากกระดาษไปสู่หน้าจอ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น

ยังมีอีก 3 สาเหตุที่ถูกมองข้ามไป (1) ความขัดแย้งทางการเมืองปี 2556 ที่ต่อเนื่องจนปฏิวัติปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและงบโฆษณาลดลง ความตื่นตัวทางการเมืองทำให้ทุกคนเข้าสู่โซเชียลมีเดีย งบเริ่มถ่ายเทไปหา จากน้อยและมากขึ้นเรื่อย ๆ (2) การดูหน้าจอไม่ได้ทำให้การอ่านลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ทุกคนยังติดตามข่าวสาร ประเด็นอยู่ที่พวกเขาอ่านผ่านสื่อโซเชียล เฟซบุ๊คก็ไม่มีโมเดลแบ่งรายได้ เว็บข่าวจึงไม่ได้อานิสงส์ในจุดนี้ (3) ทัศนคติของผู้คนที่เสพและมองสื่อดั้งเดิมเปลี่ยนไปมาก ผู้เขียนเชื่อว่านี่คือปัจจัยสำคัญมากในระยะยาว

ตั้งแต่อดีต สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ จะทำหน้าที่ “ผู้เฝ้าประตู” ค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกข่าวเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ พวกเขาคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่า ประชาชนควรรู้และไม่ควรรู้อะไร ข้อดีคือทุกข่าวถูกตรวจสอบความจริงและที่มาที่ไป จึงตัดปัญหาข่าวปลอม แต่เพราะสถานการณ์โลกทุกด้านเคลื่อนไหวเร็วขึ้นมากขึ้น เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อผู้คนก็ดีขึ้น เรื่องราวย่อมมากขึ้นเป็นทวีคูณ เช่นเดียวกับความกระหายที่จะเสพข่าวสารของผู้คน ด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร หน้าที่เดิมจึงถูกท้าทายและกลายเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการอยู่รอดเสียเอง

ทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนรับและนำเสนอข่าวสารได้อย่างเสรี ไม่มีใครกลุ่มใดผูกขาดอำนาจส่วนนี้อีกแล้ว เกิดเป็นกระบวนการประชาธิปไตย (Democratization) ของสื่อ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้อุดมคตินี้เป็นจริงขึ้นมา มันเป็นระบบกระจายอำนาจ (Decentralization) ภายในเครือข่าย มิใช่รวมศูนย์ที่ใดที่หนึ่ง (เหมือนบล็อกเชน)

ที่สำคัญ สื่อออนไลน์และโซเชียลเปิดให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นโต้ตอบ ถือเป็นการสื่อสาร 2 ทางที่มีพลังมากกว่า เพราะอินเตอร์เน็ตคือจักรวาลแห่งข้อมูลความรู้ การค้นคว้าทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว ทุกคนสามารถนำเสนอความคิดดีๆ และกลายเป็นผู้นำทางความคิดได้ ไม่ต้องเชื่อนักวิเคราะห์ คอลัมนิสต์ หรือกูรูคนใด  ถ้าไปค้นกูเกิล เฟซบุ๊ค หรือยูทูป เราจะพบผู้คนมากมายที่ไม่เคยปรากฏชื่อบนสื่อใด แต่กลับมีผู้ติดตามนับแสนนับล้าน โด่งดังและมีอิทธิพลมากกว่าสื่อเดิมเสียอีก

ผลเลือกตั้งที่ผ่านมาคือตัวอย่างชัดเจน สื่อเดิมส่วนใหญ่ทั้งทีวีและน.ส.พ.เชียร์พรรคที่เอาลุงตู่ กลุ่มนี้ได้ 8.4 ล้านเสียง แต่กลุ่มพรรคที่ไม่เอาลุงตู่ได้เกือบ 20 ล้าน โดยเฉพาะพรรคพึ่งเกิดอย่างอนาคตใหม่ได้ถึง 6.3 ล้าน ช่องทางของกลุ่มนี้คือโลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย แสดงว่าประชาชนจำนวนมาก “เลือก” ที่จะรับข่าวสารและ “คิดวิเคราะห์” ด้วยตนเอง ปฏิเสธการชี้นำจากสื่อเดิม และตัดสินใจจากฐานข้อมูลที่กว้างขวางหลากหลายที่ไม่ถูก “คัดกรอง” จากใครผู้ใด

เทคโนโลยีเพิ่มอำนาจให้กับคนธรรมดาทั่วไป ข้อเสียคือข่าวปลอมจำนวนมหาศาล ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา สื่อเดิมสื่อใหม่จึงได้เปรียบกันไปคนละอย่าง มี 2 ทางเลือกสำหรับอนาคต สื่อเดิมเปิดกว้างสำหรับทุกข่าวทุกคน (ซึ่งคงมีทรัพยากรไม่พอ) หรือสื่อใหม่พัฒนาไปสู่คุณภาพที่สูงขึ้น (ซึ่งต้องอาศัยเวลาและกฎระเบียบเท่าที่จำเป็น) แม้จะยากมาก แต่ทางหลังก็ยังมีความเป็นไปได้ในระยะยาว ส่วนทางแรกดูเหมือนแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น อาฟเตอร์ช็อคของวงการสื่อจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

ลัคนาดวงเมืองอยู่เมษ สื่อสิ่งพิมพ์คือภพ 3 (เมถุน) พุธเป็นดาวเจ้าราศี ในเมถุนมีมฤตยู ทั้งคู่จึงเป็นดาวสำคัญ หนังสือเล่มแรกของไทย “บัญญัติ 10 ประการ” พิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ 3 มิถุนายน 2379 วันนั้นพุธเมถุน 90 พุธเดิมสนิท มฤตยูกุมภ์ 120 มฤตยูเดิม หมอบรัดเลย์ออกน.ส.พ.ภาษาไทยฉบับแรก The Bangkok Recorder เมื่อ 4 กรกฎาคม 2387 มฤตยูจรวันนั้นอยู่ที่ 14:32 องศามีน ทับพุธเดิมสนิทพอดี

มฤตยูหมายถึงการเปลี่ยนแปลง มฤตยูเปลี่ยนโดยทำลายเก่าเพื่อสร้างใหม่ ระบบโครงสร้างเดิมที่ไม่ยืดหยุ่น รวมศูนย์ และล้าสมัย จะเผชิญแรงปะทะอย่างสูง ถ้าไม่ถูกทำลายจากภายนอก ก็ผุพังจากภายใน มฤตยูคือดาวแห่งเสรีภาพ การปลดปล่อยพลังต่าง ๆ เช่น อำนาจ เงินตรา ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ฯลฯ ให้กระจายตัวและเคลื่อนไหวอย่างอิสระ เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เลี่ยงไม่ได้

คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ในสังคมที่อนุรักษ์นิยมยิ่งต่อต้าน มฤตยูจึงเปรียบเสมือนยาขม แต่ถ้าไม่มีมฤตยู เราอาจกลายเป็น กบต้มในหม้อน้ำที่ค่อยๆ เดือด เพราะไม่สำนึกรู้และปรับตัวไปพร้อมกับโลก รอจนซึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้ากวาดล้างทำลาย ทุกอย่างก็สายเกินแก้

เมษคือภพ 1 หมายถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน มฤตยูจรเมษ ประชาชนไม่พอใจสภาพเดิม ๆ จันทร์คือประชาชน มฤตยูจรในภพ 10 ของจันทร์ ภพ 10 คือการเมือง ประชาชนสนใจการเมืองอย่างมาก

กลุ่มอำนาจใหม่คือภาคประชาชนที่ตระหนักในพลังของเทคโนโลยีและตื่นตัวในสิทธิ์เสรีภาพของตน