USD Futures ทางเลือกบริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน

USD Futures ทางเลือกบริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

 โดยหากพิจารณาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเฉพาะในปี 2019 จะพบว่าค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับ 32.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2019 ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.56 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 5% ภายในช่วงระยะเพียง 6 เดือน ซึ่งการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนนี้ ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคธุรกิจและการลงทุน โดยกลุ่มผู้ส่งออกจะได้รับรายได้จากการทำธุรกิจน้อยลงในรูปเงินบาท ในส่วนของผู้ที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ แม้จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากแปลงกลับมาเป็นเงินบาทก็จะได้รับผลขาดทุนจากการแข็งตัวของค่าเงิน สะท้อนให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ รวมไปถึงผู้ที่ลงทุนในสินทรัพย์กลุ่ม Global Commodity เช่น ทองคำ หรือ น้ำมัน จำเป็นต้องให้ความสำคัญและบริหารความเสี่ยงในส่วนนี้

โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุน จะสามารถบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ในกรณีที่ต้องการใช้เงินดอลลาร์ในอนาคต อาจทำการแลกเงินสดทิ้งไว้ล่วงหน้า ซึ่งแม้ว่าจะสามารถปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่ก็จะทำให้เกิดการเสียโอกาสในการสร้างดอกผลจากเงินก้อนดังกล่าว หรืออาจเลือกทำการ Hedge ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการทำสัญญา FX Forward กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งวิธีหลังนี้แม้ว่าจะไม่ต้องใช้เงินก้อนในตอนแรก ก็มีข้อจำกัดที่ขนาดของการทำธุรกรรม FX Forward ในแต่ละครั้งนั้น จะต้องทำในจำนวนเงินที่สูง ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนจะต้องได้รับวงเงินจากธนาคารพาณิชย์และดำเนินการด้านเอกสารทุกครั้งที่ทำธุรกรรม

นอกเหนือจากช่องทางแบบ Traditional ข้างต้นแล้ว ในปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้ลงทุนทั่วไปยังสามารถพิจารณาเลือกใช้สัญญา USD Futures ที่ซื้อขายใน TFEX เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ด้วย โดยสัญญา USD Futures ได้รับออกแบบมาเป็นสัญญาขนาดเล็ก 1 สัญญา จะเทียบเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 1,000 เหรียญ ผู้ที่ลงทุนในสัญญา USD Futures จะเสมือนกับทำการล็อคอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตไว้ ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถซื้อ (long USD Futures เสมือนกับซื้อเงินดอลลาร์ในอนาคต) และขาย (short USD Futures เสมือนกับการขายเงินดอลลาร์ในอนาคต) ได้ ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสามารถใช้ USD Futures ในการบริหารความเสี่ยงได้ทั้งในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (Short USD Futures) หรืออ่อนค่าลง (Long USD Futures)

แม้ว่าสัญญา USD Futures ในปัจจุบันจะชำระราคาด้วยเงินสด (cash settlement) ซึ่งต่างจากการทำสัญญา FX Forward ที่ผู้ลงทุนจะต้องส่งมอบหรือรับมอบเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อหมดอายุสัญญา แต่จะเห็นว่า ราคา USD Futures มีความเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ Spot Fx  โดยส่วนต่างราคาของ Spot Rate และ Futures จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปและ ราคาของ USD Futures ก็จะเข้าใกล้ Spot Rate ในที่สุดเมื่อสัญญาหมดอายุ  (รูปที่ 1) ดังนั้น การขายหรือซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าด้วยการใช้ USD Futures ดังที่กล่าวไปข้างต้นจึงสามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้

หากเปรียบเทียบ USD Futures กับ FX Forward จะเห็นว่าผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสามารถเข้าถึง USD Futures ได้ง่ายกว่า เนื่องจาก ไม่จำเป็นต้องมีวงเงินกับธนาคาร ลดความยุ่งยากด้านเอกสาร สามารถซื้อขายผ่าน Broker ภายใต้บัญชีเดียวกันกับสินค้าอื่นๆ ของ TFEX การซื้อขายในแต่ละครั้งทำได้ในปริมาณเงินที่ต่ำ (ตั้งแต่ 1,000 ดอลลาร์ขึ้นไป) ใช้ต้นทุนไม่สูงเพียงวางเงินหลักประกัน (Margin) ที่ประมาณ 10% ของปริมาณเงินที่ต้องการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ หากพิจารณาส่วนต่างราคาของ USD Futures และ FX Forward (รูปที่ 2) จะพบว่า USD Futures และ FX Forward มีราคาที่เทียบเคียงกัน (แตกต่างกันเพียง 1-7 สตางค์หรือต่ำกว่า 0.3%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า USD Futures เป็นอีกเครื่องมือที่สามารถใช้ทดแทน FX Forward ในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม USD Futures ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่บ้าง ได้แก่ Position Limit ที่กำหนดไว้ที่ 10,000 สัญญา หรือเทียบเท่ากับ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนแต่ละราย การบริหารเงิน Margin จากการคำนวณกำไรขาดทุนรายวัน (Daily Mark to Market) วันหมดอายุของสัญญาที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุน รวมไปถึงการที่เป็นสัญญาแบบ Cash Settlement ที่อาจจะยังไม่ตรงกับความต้องการผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้เงินจริงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งข้อจำกัดสองอันสุดท้าย อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่สามารถปิดความเสี่ยงด้วย USD Futures ได้เต็มที่ แต่ทั้งนี้ TFEX กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาบริการใหม่ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนที่มีสถานะถือครองใน USD Futures สามารถนำสถานะดังกล่าวมาแลกเงินจริงได้ทุกวัน (Daily Physical Delivery) ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ทั้งนี้ TFEX คาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการดังกล่าวได้ในปี 2019 นี้