ค่าเงินบาท กับ โอกาสในการลงทุน

ค่าเงินบาท กับ โอกาสในการลงทุน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ตามการคาดการณ์

 แต่ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลงอยู่ที่ 3.3% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการชะลอตัวของการส่งออกและท่องเที่ยว โดยประเด็นที่ กนง.มีความกังวล คือการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ดังนั้น บทความฉบับนี้ดิฉันจะมาพูดถึงเรื่อง การแข็งค่าของเงินบาท และโอกาสในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน ให้ทุกท่านได้ทราบกันค่ะ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สรอ.อย่างรวดเร็ว โดยสิ้นปี 2018 อยู่ที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มากกว่า 5% ถือว่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

สาเหตุหลักๆ มาจาก 1) การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก เป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปลี่ยนการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยสมาชิกของ Fed จำนวน 7 ท่านจาก 17 ท่าน เห็นว่า Fed ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 0.50%  ขณะที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้

2) ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง บ่งชี้ถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย นักลงทุนจึงเห็นว่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยประเภทหนึ่ง และ 3) เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติเคลื่อนย้ายเข้าลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นของไทยจำนวนมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรก นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ 58.9 และ 40.6 พันล้านบาทตามลำดับ เนื่องจาก ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น และ การเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น

สกุลเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาค และส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ได้สร้างความกังวลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการเพื่อลดการเก็งกำไรในค่าเงินบาท และชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ผ่านการปรับลดปริมาณการออกพันธบัตรธปท.

โดยล่าสุด ธปท.ลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 3 รุ่น วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ นักลงทุนในตลาดยังคาดหวังต่อการออกมาตรการอื่นๆ ของธปท.เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติม ขณะที่การเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรงของธปท.นั้น มีโอกาสทำได้ไม่มากนัก เนื่องจาก จะส่งผลให้ไทยมีโอกาสเข้าข่ายประเทศที่บิดเบือนค่าเงินมากขึ้น

สำหรับนักลงทุนที่มีมุมมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในระยะต่อไป มีทางเลือกในการสร้างโอกาสในการลงทุน ดังนี้

  1. หากนักลงทุนมีความต้องการที่จะใช้เงินสกุลดอลลาร์ สรอ.ในอนาคต ควรทยอยเพิ่มสัดส่วนการแลกเงินบาทเป็นเงินสกุลดอลลาร์ สรอ. ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยราคาซื้อขายทันที (Spot rate) เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น หากเงินดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้นในอนาคต
  2. ลงทุนในกองทุนรวมฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากการที่เงินดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้นเทียบเงินบาท เช่น กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของสหรัฐฯ โดยถืออยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. นอกจากนี้ หากลงทุนในกองทุนรวมฯ อื่นๆ ที่มีสกุลเงินเป็นดอลลาร์ สรอ. อาจลงทุนแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
  3. ลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Note) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เช่น สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เทียบเงินบาท โดยนักลงทุนจะมีความยืดหยุ่นในการกำหนดสกุลเงินอ้างอิงระยะเวลาการลงทุน และราคาสินทรัพย์อ้างอิง ได้แก่
    • USD Bull Note ประเภทคุ้มครองเงินต้น โดยนักลงทุนจะได้กำไรเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่มีการคุ้มครองเงินต้นทั้งจำนวน หากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
    • Dual Currency Note ซึ่งเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะได้รับผลตอบแทนคงที่ และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือตราสารหนี้ทั่วไป เมื่อเงินบาทอ่อนค่าเทียบดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามคาด นักลงทุนจะได้รับเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งหากแปลงเป็นสกุลเงินบาทก็จะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันที

ทั้งนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Market) เป็นตลาดที่มีความผันผวน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง ดังนั้น การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อัตราผลตอบแทนมีการอ้างอิงกับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์และการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้คาดการณ์มุมมองของค่าเงินได้อย่างถูกต้อง