ธปท.รักษ์โลก(จบ)

ธปท.รักษ์โลก(จบ)

กิจกรรม “BOT Go Green 2019” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

บูทที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือบูทที่สาธิตการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยผมสังเกตเห็นว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งที่ยืนคอยอธิบายให้ผู้เข้าร่วมงานฟังด้วยความสนุกสนาน กระตือรือร้น และมีพลังในตัวเอง จึงได้ขอนัดสัมภาษณ์ คุณวรรษวรรณ เที่ยงวรรณกานต์ (น้องอ้อง) และพบว่าเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของเธอโลดแล่นอยู่ในวงการสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน น้องอ้องเล่าเรื่องราวชีวิตของเธออย่างเป็นกันเองว่า ครอบครัวตั้งความหวังจะให้เธอเป็นวิศวกรเหมือนพ่อเพราะเป็นเด็กเรียนเก่ง เรียนห้องคิง แต่มาสะดุดตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้ไม่ได้ แต่ยังโชคดีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรมเป็นปีแรก “คิดว่าเราควรจะเลือกเรียนด้านไหนดีที่จะเหมาะกับผู้หญิงถ้าเรียนวิศวกรรมโยธาจะต้องคุมงานอยู่กลางแดด จึงตัดสินใจเลือกเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมพร้อมกับวิศวกรรมโยธาที่สามารถเรียนได้พร้อมกัน” และมาศึกษาต่อปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

น้องอ้องเล่าต่อว่า เธอได้มีโอกาสทำงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถ แต่ด้วยเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าหากได้ทำงานจนสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องถึงเวลาที่จะไปเรียนรู้งานใหม่ จึงทำให้เธอย้ายงานบ่อยมากแม้กระทั่งเมื่อสอบบรรจุทำงานได้ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คิดว่าจะเป็นการย้ายงานครั้งสุดท้ายแต่เมื่อทำไปได้สักระยะหนึ่งกลับรู้สึกว่าอยากมีความรู้ด้านการลงทุน จึงศึกษาต่อจนได้รับใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ และตัดสินใจลาออกมาทำงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนจนไปจบที่งานด้านโฆษณา น้องอ้อง สารภาพว่า “ในช่วงเริ่มต้น เธอยังไม่สามารถค้นพบตัวตนของเธอได้ เป็นคนใจร้อน หากคิดว่างานที่ทำไม่ตอบโจทย์ ก็จะเปลี่ยนงาน เพื่อค้นหาว่าในแต่ละงาน มีอะไรให้เราเรียนรู้บ้าง เมื่อเรียนรู้แล้วเราจะนำไปต่อยอดได้อย่างไร”

จนในสุด เธอก็ตอบคำถามให้กับตัวเองได้ว่า ต้องการทำงานที่ตนเองมีใจรักและชอบ นั่นก็คืองานที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ปัจจุบันมีอยู่จนล้นโลก น้องอ้องเห็นว่าวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ดีที่สุด คือ การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น การใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือการใช้เป็นวัสดุประกอบ แปรรูปด้วยกระบวนการไพโรไลซิส แต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่แพร่หลายเนื่องจากต้องใช้ผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง        

น้องอ้องตัดสินใจร่วมกับเพื่อนตั้งบริษัท AEMS and AMS Co.,Ltd สร้างโรงงานที่ จ. กาญจนบุรี เพื่อนำพลาสติกไร้ค่า มาผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป็นน้ำมันและแก๊ส แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตดินเม็ดมะยมสำหรับปลูกพืช ซึ่งได้รับความนิยมเพราะดินชนิดนี้จะไม่ละลายเลอะเทอะและมีสีสันสวยงามนอกจากนั้น ยังนำเชื้อเพลิงมาผลิตแก้วกาแฟ ชุดน้ำชา และเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงนำไปบริจาคเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเผาศพไร้ญาติอีกด้วย

น้องอ้องเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ต้องการทำงานนี้ให้ประสบความสำเร็จ เพราะรักที่จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมของเรามีปัญหา มีทั้งน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ อีกทั้งขยะที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นและมีขยะตกค้างอีกเป็นจำนวนมหาศาล “การจูงใจให้คนรักษาสิ่งแวดล้อมต้องใช้การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน จนในที่สุดถึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้ว เรารักที่จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม อยากจะนำขยะพลาสติกไร้ค่ามาสร้างให้เกิดประโยชน์อยากช่วยเหลือชุมชน อยากช่วยเหลือสังคม อยากทำงานนี้ให้สำเร็จ จะได้ช่วยชุมชนและสังคมหลาย ๆ อย่าง”  

ระบบผลิตพลังงานจากขยะพลาสติกด้วยเทคโนโลยีไพโรไลซิส

ดินเม็ดมะยมสำหรับปลูกต้นไม้ และเครื่องปั้นดินเผา

ปัจจุบันบริษัทของเธอได้เข้าร่วมในโครงการเพื่อสังคม สร้างรายได้พร้อมช่วยลดขยะพลาสติกของโลกเพื่อให้คนรุ่นใหม่ใส่ใจพลังงานทางเลือกและสิ่งแวดล้อม โดยใช้นวัตกรรมมาบวกกับความรู้และการบริหารจัดการที่ดีเป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับชุมชนช่วยลดขยะพลาสติก เป็นระบบต้นแบบให้กับชุมชนด้านการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นรายได้ ผลิตพลังงานทดแทนจากพลาสติกเป็นน้ำมัน มุ่งหวังที่จะช่วยทุกองค์กรให้เป็น Zero Waste

จากประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย น้องอ้องมีหลักในการทำงานที่สำคัญคือ การตั้งเป้าหมายและทำตามเป้าหมายไปทีละขั้น การทำงานแบบพี่น้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อมอบหมายงานแล้ว เราต้องไว้วางใจผู้ร่วมงานอย่าไปจ้ำจี้จำไช เพราะแต่ละคนมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน เราต้องดูผลลัพธ์ของงาน เราต้องลดอัตตาของตัวเองรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานให้มาก ๆ น้องอ้องเสริมว่า “คิดว่าปัจจุบันได้หาตัวเองเจอแล้ว เรียนจบตั้งแต่ปี 2546 ผ่านประสบการณ์มาเยอะ เป็นลูกน้องใครไม่ได้ ตอบโจทย์ให้ตัวเอง เป็นลูกน้องหาประสบการณ์ก่อน เราเคยเจอ หัวหน้าที่ไม่ฟัง แต่ท้ายสุด จากประสบการณ์หลายอาชีพ และคบคนหลากหลาย จนค้นพบว่า ต้องการท้าทายตัวเองให้ประสบความสำเร็จ พร้อมตั้งเป้าหมายในแต่ละปี ซึ่งปัจจุบันก็สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจไว้”        

สุดท้ายอยากฝากถึงพี่ ๆ ที่แบงก์ชาติว่า ขอให้ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม รู้สึกดีใจที่แบงก์ชาติเป็นองค์กรหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการจัดกิจกรรม BOT GO Green รณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ น้องอ้องและทีมงานจะนำเครื่องบดพลาสติกมาตั้งที่แบงก์ชาติเพื่อขอรับบริจาคขยะพลาสติกที่ไร้ค่า ขอให้พวกเราร่วมกันนำขยะมาบริจาคกันเยอะ ๆ นะครับ

        

หมายเหตุ ขอขอบคุณคุณพิชญา การสมดี ที่มีส่วนร่วมในการเขียน และขอขอบคุณคุณอภิศรา เป่าอินทร์ เลขานุการอาวุโส ฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร ที่แนะนำให้สัมภาษณ์คุณวรรษวรรณ เที่ยงวรรณกานต์ เพื่อนำข้อมูลมาเขียนในบทความนี้