อนาคต(ใหม่)ส.ส.หญิงรัฐสภาไทย

อนาคต(ใหม่)ส.ส.หญิงรัฐสภาไทย

อรพิน ไชยกาล ส.ส หญิงไทยคนแรกผู้เขียนยังทันได้เห็นในวัยที่ท่านอายุเกือบ 80 ประมาณช่วง พ.ศ.2527

ในแววตาอากัปกิริยาและการพูดจาของท่าน มีความสง่าของอดีตครูใหญ่ ร.ร.นารีนุกูล และผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอุบลราชธานี รวมทั้งการเป็นครูใหญ่ก่อนจะเป็น ส.ส.หญิงคนแรกเมื่อชนะเลือกตั้ง พ.ศ.2492 

ท่านชนะเลือกครั้งแรกในการเลือกตั้งซ่อมสมัยรัฐบาลจอมพล.ป. พิบูลสงคราม ซึ่งสามีนายเลียง ไชยกาล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ตั้งแต่พ.ศ. 2491 การยึดอำนาจปี 2494 ทำให้ทั้งสองพ้นตำแหน่งการเมืองแต่ทั้งสองก็ชนะเลือกตั้งปีถัดมา พ.ศ.2495 เข้าสภาอีกครั้งและอยู่จนครบสมัย โดยที่คุณอรพินได้เลิกเล่นการเมืองหลังจากนั้นจนถึงแก่กรรมในวัย 91 ปี เมื่อพ.ศ.2539

ส่วนสามีนายเลียง ยังได้รับเลือกตั้งต่อมาจากนั้นอีก 2 สมัยและหมดบทบาทการเมืองไปหลัง พ.ศ. 2500 ซึ่งว่างเว้นการเลือกตั้งไปอีกนานด้วยการมาถึงของจอมพล.สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ได้เข้าพบคุณอรพิน ผู้เขียนได้สัมภาษณ์ แร่ม พรหมโมบล บุณยประสพ ( พ.ศ.2454 - 2551 ) 1 ใน 3 สตรีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งหลัง พ.ศ.2500

ขณะนั้นท่านสูงวัยแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ในกิจการโรงแรมและงานอาสาสมัครในสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นชื่นชมความคิดอ่านของสุภาพสตรีร่างเล็กแต่งกายทันสมัยผู้มีผลงานมากมายในฐานะส.ว ( 20 ส.ค - 16 ก.ย.2500 ) เนติบันทิตหญิงคนแรก (พ.ศ. 2473 ) และผู้บริหารกิจการโรงแรมตั้งแต่พ.ศ. 2496

ทั้งสองเป็นหญิงไทยคนแรกๆที่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองรัฐสภา มีการศึกษาสูงและมีประสบการณ์ทำงานการศึกษา

ปัจจุบันหญิงไทยก้าวไปไกลมากทางการศึกษา แต่ในทางการเมืองโดยรวมยังก้าวไม่ไกลโดยเฉพาะในฐานะนักการเมืองทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ

 อย่างที่เราเห็นกัน ตลอดมามีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งน้อย ส.ส.หญิงจากการเลือกตั้งไต่อยู่ในระดับต่ำกว่า 10 - 14 % ครั้งล่าสุดเมื่อ มีนา'62  นับว่ากระเตื้องขึ้น คือ 15.8%( ส.ส.เขต 53 คน + ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 คน = 78 คน )

นอกจากอุปสรรคด้านความพร้อมทางการศึกษา ด้อยประสบการณ์ทำงาน และโอกาส ฯลฯ ความเป็นเพศหญิงก็เป็นอุปสรรคด้วยอย่างหนึ่งซึ่งทั่วโลกก็เป็นกันไม่ใช่เฉพาะในบ้านเรา นับตั้งแต่ภาระดูแลครอบครัวไปจนถึงอคติและการเลือกปฏิบัติต่างๆ ทางสังคมที่เห็นว่าหญิงควรอยู่เหย้าเฝ้าเรือน ไม่ควรริอ่านปฏิบัติตนมีบทบาทนอกบ้าน ดังเช่นมีหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ของเราเคยเปรียบเปรยเย้ยหญิงเรียกร้องสิทธิเสมอภาคว่าเป็น "ผู้หญิงอยากมีหนวด"

จะอย่างไรก็ตาม เรามีรัฐมนตรีหญิงคนแรกในคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการเมืองยุคหลัง 14 ตุลา 2516 คือ ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ ผู้จบปริญญาเอกด้านบริหารการศึกษา เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ พ.ศ.2503 ลาออก ปี 2518 ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ชนะเลือกตั้งครั้งแรกที่พิจิตร ปี 2519 และเป็นส.ส.พิจิตร 3 สมัย ตลอด 15 ปีมีบทบาทงานบริหารอย่างมากเช่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา สมัยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ โดยต้อง(ดับเครื่องชน)ทำงานย้ายการศึกษาประชาบาลจากกระทรวงมหาดไทยมาที่กระทรวงศึกษาธิการให้ได้

ชีวิตครูประชาบาลอับจนมาก สมัยก่อนได้เงินเดือนต่ำกว่าข้าราชการทั่วไป เสมียนขั้นต่ำเริ่มที่ 20 บาท ครูประชาบาลเริ่มที่ 8 บาท ไม่มีบำเหน็จบำนาญกองทุนเงินสะสมอะไร ประสิทธิภาพประสิทธิผลการศึกษาภูมิภาคจึงต่ำสะสมมาตลอดซึ่งจะดีขึ้นไม่ได้หากไม่ปรับยกวิทยฐานะการศึกษาและครูประชาบาล

ผู้เขียนได้เคยสัมภาษณ์ ดร.ยุพา ครั้งหนึ่ง เป็นช่วงที่ท่านวางมือจากการเมืองแล้วหันไปทำงานธุรกิจเป็นประธานคณะกรรมการบริษัทไทย-จีน สากลเดินเรือ (ซีทีไอ) ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิ์บริหารท่าเรือน้ำลึกที่สงขลาและภูเก็ต เป็นเวลาที่ท่านได้พิสูจน์ความสามารถแล้วทั้ง 3 สังเวียน การศึกษา การเมืองและธุรกิจ

ทั้ง 3 ท่านรู้รสและยืนยันความยากลำบากทำงานการเมืองโดยทั่วๆ ไปและในฐานะผู้หญิงทั้งที่ประสบด้วยตนเองและจากสตรีเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ โดยเฉพาะทางด้านอคติการเลือกปฏิบัติทางสังคม

เริ่มตั้งแต่ในพรรค ยากที่ผู้หญิงจะเป็นกรรมการบริหารพรรค ส่วนในการหาเสียงการอภิปราย เพียงความรู้ความกล้าพูดในเวทีสาธารณะยังไม่พอ

อดีตส.ส.หญิงอีกท่านหนึ่ง ขอสงวนนามเล่าว่าในต่างจังหวัดผู้สมัครบางคนหาเสียงทับถมเย้ยผู้สมัครหญิงว่าเลือกไปทำไม "...ผู้หญิงทำแห้งชาม เปียกชาม อย่างผู้ชายไม่ได้ “ ท่านทั้งอายทั้งโกรธแต่ก็ได้โต้กลับฉับพลันว่า ”...ในสภา เราไปทำงานบริหารบ้านเมืองออกกฎหมายและตรวจสอบฝ่ายบริหาร ไม่ได้เข้าไปทำแห้งชามเปียกชาม..."

แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเราได้เดินทางมาไกลมากแล้วจาก ส.ส.หญิงรุ่นย่ายาย รุ่นแม่ รุ่นป้าของเรา ไม่มีใครเย้ยหญิงแบบเดิมๆ พรรคใหม่เอี่ยมอย่างพรรคอนาคตใหม่ มีส.ส.หญิงเลือกตั้งถึง 17 คน เรียกว่าหายใจรดต้นคอพรรคใหญ่มีคนหน้าเดิมอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่มีส.ส.หญิงเลือกตั้ง 22 คนและพรรคเพื่อไทย 21 คน ในขณะที่พรรคเก่าแก่ประชาธิปัตย์ ทั้ง ส.ส.หญิงและชายสูญพันธุ์เกลี้ยงใน กทม.

ปรากฏการณ์นี้มีนัยยะว่า ขอเพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งพอใจพรรค ที่ผู้สมัครจะเป็นเพศหญิงหรือชายหรือแม้แต่ข้ามเพศ (ส.ส.ข้ามเพศคนแรกของเราเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคอนาคตใหม่)ไม่เป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบใดในตัวของมันเอง นับเป็นข้อท้าทายอย่างยิ่งในทุกสังคมที่ยังมีอคติต่อเพศสภาพใดเพศสภาพหนึ่งและโดยเฉพาะที่ประสบกันมาตลอดว่า "เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบากในการลงสมัครรับเลือกตั้ง "

  เราอาจยังต้องดูการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปก่อนจะสรุปว่าเพศสภาพความเป็นหญิงและความหลากหลายทางเพศของผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเคยเป็นข้อเสียเปรียบในการลงสมัครรับเลือกตั้งมาตลอดได้หมดยุคสมัย