ปัจจัยระยะยาว

ปัจจัยระยะยาว

ผมจะขอพูดถึงปัจจัย ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกับตลาดหุ้นเราในระยะยาว

ซึ่งเราจะนำมาวิเคราะห์เพื่อวางกลยุทธ์ในเชิงของการกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุน ผมเริ่มจากปัจจัย Trade War หรือ Tech War แกนของปัจจัยนี้ คือ การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และ สาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งเครื่องมือที่มักจะนำขึ้นมากล่าวถึง คือ 1. การเจรจาลดการขาดดุล และการเปิดตลาดให้สินค้าของประเทศที่ขาดดุลการค้าเข้ามาทำตลาดมากขึ้น 

2. กำแพงภาษี หรือ โควต้า และ 3. การสั่งห้ามการนำเข้า ทั้งหมดนี้ คือมาตรการทั่วไปแต่ความเข้มงวดของนโยบายจะเป็นอย่างไรนั้น ผมมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเกมส์การทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างได้แน่นอน โดยหากมีการใช้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับภาษีและโควตาก็จะกระทบต่อต้นทุนกำไร และน่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่เท่าที่ติดตามผู้ดูแลนโยบายทางการเงินทั่วโลกต่างเฝ้าระวังประเด็นดังกล่าวและพร้อมที่จะออกนโยบายเพื่อลดทอนความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะเลือกใช้มาตราการใดก็ตาม  

อีกหนึ่งปัจจัย คือ การปรับเปลี่ยนทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ(FED Fund rate) ส่วนหนึ่งผมมองว่าเป็นผลมาจากกรณีของ Trade War จากที่ผ่านมาตลาดฯ คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น แต่ปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนเป็นแบบทรงตัว และอาจจะมีแนวโน้มปรับลดลงด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาทางการค้าว่าจะออกมาทางใด ที่ต้องระวังคือการใช้นโยบายภาษี หรือการห้ามนำเข้า ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศรวมไปถึงประเทศคู่ค้าต่างๆ  

สำหรับประเด็นรองๆ ที่ยังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ยังจะต้องแก้ปัญหากันต่อไป รวมถึง กรณี BREXIT ของอังกฤษ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน โดยประเด็นเหล่านี้สามารถสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้ลงทุนได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกที่เพิ่มความน่าสนใจในช่วงนี้ ผมให้น้ำหนักเรื่องปัจจัยการเมืองในประเทศหลังจากที่เราได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) และ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) และกำลังจะมีรัฐบาล โดยรวมถือว่า เป็นไปตามที่รัฐบาลได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เข้าช่วงพิจารณางบประมาณ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ารัฐบาลน่าจะมีแผนกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นออกมาบ้าง ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางดังกล่าวก็จะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นได้บ้างครับ

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ปัจจัยต่างประเทศนับว่ายังมีความไม่ความแน่นอนและสามารถส่งผลกระทบในวงกว้างได้อย่างตลอดเวลา ดังนั้น หากจะสรุปภาพตลาดยังคงมีลักษณะของความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยหากวิเคราะห์ในเชิงของสินทรัพย์แต่ละประเภท ผมมองว่า ผลตอบแทนของตราสารหนี้จะยังคงต่ำ อัตราเงินเฟ้อถ้าจะมีก็น่าจะมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่มีฟองสบู่ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้นไปได้สักระยะหนึ่ง ราคาน้ำมันมีแนวโน้มแกว่งตัวอยู่ในระดับ 55 -65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นเพราะความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอย

คำแนะนำสำหรับการลงทุนอีก 6 เดือนถัดจากนี้ ผมแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นไทยที่เน้นหุ้นปันผลเป็นหลักหรือหุ้นขนาดใหญ่ ประมาณ 20% กองทุนหุ้นต่างประเทศประมาณ 20% กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 30% ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และอีก 10% ลงทุนใน ทอง กับ น้ำมัน  อย่างไรก็ดี หากท่านใดสนใจพอร์ตการลงทุนดังกล่าวเพิ่มเติมสามารถอ่านรายละเอียดที่ได้ www.one-asset.com ครับ

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน