ธปท.รักษ์โลก(1)

ธปท.รักษ์โลก(1)

ผมสังเกตเห็นว่า ในทุก ๆ วันพุธเพื่อนพนักงานที่มาจับจ่ายซื้อของในห้องอาหารสโมสรจะนำถุงผ้ามาใส่ของเอง

ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าแบงก์ชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดโลกร้อนด้วยการ ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก และทำให้ผมนึกถึงอีกหลาย ๆ โครงการที่แบงก์ชาติได้ปลุกกระแสการตื่นรู้เพื่อรักษ์โลกของเรา โดยมีฝ่ายธุรการและบริหารอาคาร (ฝธอ.) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญผลักดันให้เกิดโครงการต่าง ๆ เช่น การคัดแยกการทิ้งขยะใส่ในถังสีต่าง ๆ แยกเป็นขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย กระป๋องสารพัดประเภท ไปจนถึงขยะที่เกิดจากเศษอาหาร ผลไม้ต่าง ๆ รวมถึง การรณรงค์

ให้เดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ และการปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน เป็นต้น

ผมขอกล่าวถึง 2 โครงการที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ 1. โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ (Zero Waste) โดย คุณนิพัฒน์ รังคพุทธมานะ เจ้าหน้าที่งานบริหารอาวุโส ฝธอ. ได้เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 จากการร่วมกันคิดว่าจะบริหารจัดการกับเศษใบไม้ กิ่งไม้ และหญ้า ที่ปีหนึ่งมีมากกว่า 80 ตัน รวมทั้งเศษอาหาร อีกปีละกว่า 5 ตันได้อย่างไร แต่เมื่อได้ไปเข้าอบรมหลักสูตรผลิตปุ๋ยอินทรีย์กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จึงค้นพบว่าแบงก์ชาติน่าจะแปรรูปขยะมาเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียวกัน

ด้วยแนวคิดข้างต้น โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พร้อมการสร้างโรงเรือนปุ๋ยอินทรีย์ (Bio-fertilizer house) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทีมงานบริการด้านสวนได้ร่วมกับทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นำสารเร่งซุปเปอร์จากกรมพัฒนาที่ดินมาผสมในการผลิตทำให้เร่งกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า และเศษอาหาร ได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา60 วัน สามารถแปรรูปขยะทั้งหมดของแบงก์ชาติให้เป็น Zero Waste ได้เป็นผลสำเร็จ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยน้ำหรือน้ำ EM สามารถนำมาแจกให้กับพนักงานทุกวันศุกร์ต้นเดือน เพื่อนำไปใช้รดต้นไม้หรือชำระล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ รวมทั้งบำบัดน้ำเสีย กำจัดกลิ่น และกำจัดลูกน้ำ 

คุณนิพัฒน์ เล่าเสริมว่า โครงการแปรรูปขยะจากเศษอาหารสด ถือว่าเป็นโครงการที่ท้าทายมาก ความสำเร็จเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกคนที่ช่วยกันแยกขยะแต่ละประเภทลงในถังที่จัดไว้ เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์พนักงาน Outsource ที่ช่วยนำส่งขยะไปที่โรงเรือนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงทีมงานที่ทำสวนที่ได้ประยุกต์ความรู้เพื่อทำปุ๋ยและทำน้ำหมักจนประสบความสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันแบงก์ชาติสามารถยกเลิกการขอบริการรถขนส่งขยะจาก กทม. ที่ต้องมารับขยะกว่า 100 เที่ยวต่อปี พร้อมเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ภายในพื้นที่ได้เอง

หากพวกเราสนใจสามารถศึกษาดูงาน หรือสอบถามขั้นตอนการผลิตได้จากทีมงานที่โรงเรือนปุ๋ยอินทรีย์ ที่ตั้งอยู่บริเวณเรือนเพาะชำใกล้ ๆ สนามเปตอง ริมเขื่อน

โครงการที่ 2 คือ โครงการ BOT Carbon Footprint & Carbon Neutral คุณชูชีพ การสมดี รองผู้อำนวยการ ฝธอ. ได้เล่าว่า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยแบงก์ชาติได้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ด้วยการเข้าร่วม “โครงการขยายผลกิจกรรมชดเชยคาร์บอน เพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ” ของคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจก (อบก.) ถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่สถานที่ทำงานเป็น Carbon Neutral

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานที่พวกเราสัมผัสได้ เช่น เปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างเป็นหลอด LED ติดตั้ง Solar Cell แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่บริเวณอาคาร 1 อาคาร 2 ลานจอดรถ ทีมยานพาหนะ และศูนย์การเรียนรู้    

เพียงแค่ 2 โครงการที่ผมยกตัวอย่างมานี้ นอกจากทำให้แบงก์ชาติประหยัดงบประมาณแล้วยังเป็นการสร้างวินัยและความตระหนักรู้ให้แก่พนักงานที่จะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยกันลดโลกร้อนด้วยตัวเองอีกด้วย

ครั้งหน้า ผมจะเล่าถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในวงการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมจนค้นพบการแปรรูปขยะไร้ค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า