การพัฒนาความร่วมมือของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมาย SDGs

การพัฒนาความร่วมมือของอาเซียนในการบรรลุเป้าหมาย SDGs

เมื่อวันที่ 23 – 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ Kingsley Strategic Institute (KSI),

ASEAN Business Advisory Council (ASEAN-BAC), ASEAN Studies Centre และ The Asia Centre ในการจัดงาน ASEAN Community Leadership and Partnership Forum 2019 ในหัวข้อ “Building Partnerships for a Sustainable and Inclusive ASEAN”

ผมในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติและที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานประชุมครั้งนี้ ได้รับเชิญให้บรรยายเรื่อง “Prioritizing the Sustainable Development Goals: Partnership between Government, Business and Civil Society” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านจากหลายประเทศ รวมทั้ง ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)

เวทีสัมมนาในช่วงของผม เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ซึ่งสหประชาชาติตั้งเป้าหมายเอาไว้ 17 เป้าหมาย โดยประเด็นสำคัญที่อภิปรายกันมี 2 เรื่อง คือ สิ่งที่ท้าทายในการทำให้ SDGs ประสบความสำเร็จคืออะไร? และ อาเซียนจะพัฒนาความร่วมมือให้ดีขึ้นเพื่อช่วยทำให้เป้าหมาย SDGs ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

1.สิ่งที่ท้าทายในการทำให้ SDGs ประสบความสำเร็จคืออะไร?

เนื่องด้วย SDGs ประกอบด้วยเป้าหมายมากถึง 17 ประการ การที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ในงบประมาณและเวลาที่จำกัด ประกอบกับความคาดหวังที่สูงขึ้นของประชาชนในประเทศ ผู้นำประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตัดสินใจอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งประเด็นยุทธศาสตร์มีหลายประเด็น แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจว่าเป้าหมายใดมีผลกระทบสูงสุด (right issue) ที่หากปัญหานี้ได้รับการแก้ไขแล้ว จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่นที่เหลืออีก 16 เป้าหมายได้มากที่สุด

ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์ที่จะสร้างผลกระทบสูงสุด คือ การส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และการพัฒนาทางการศึกษา (เป้าหมาย 4) ซึ่งดร.ศุภชัยก็กรุณาแสดงความเห็นด้วยกับผมในเรื่องนี้

การศึกษาจะช่วยให้เราบรรลุ SDGs อื่นอีกอย่างน้อย 9 เป้าหมาย เช่น

1) การศึกษาเป็นกุญแจในการลดความยากจน และช่วยหยุดยั้งความยากจนที่ส่งต่อจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งได้ด้วย (intergenerational transmission of poverty) (เป้าหมาย 1)

2) การศึกษาช่วยให้คนตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะตามมา จากการกระทำของตนในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่หรือการดื่มสุรา เป็นต้น (เป้าหมาย 3)

3) เด็กชายที่ถูกสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแต่เด็ก พวกเขาจะเปลี่ยนทัศนคติแบบกดขี่ทางเพศที่มีอยู่ในสังคม ขณะที่เด็กหญิงที่ได้รับการศึกษา มีแนวโน้มที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานในระบบได้มากขึ้น มีรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น (เป้าหมาย 5)

4) การศึกษามีสหสัมพันธ์ทางบวกกับการพัฒนาผลิตภาพ ซึ่งทำให้แรงงานได้ค่าจ้างสูงขึ้น มีโอกาสในการงานที่ดีขึ้นและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น (เป้าหมาย 8)

5) การศึกษาช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม เพราะช่วยเสริมสร้างทักษะการคิด สร้างวัฒนธรรม และวางรากฐานที่จำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรม (เป้าหมาย 9)

6) งานศึกษาของ IMF ยังพบว่า การศึกษามีส่วนในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่หรือประเทศกำลังพัฒนา (เป้าหมาย 10)

7) การศึกษามีสหสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิล การกำจัดขยะอย่างเหมาะสม การปลูกต้นไม้ เป็นต้น (เป้าหมาย 12, 13)

8) การศึกษาที่อยู่บนฐานเรื่องสิทธิ (rights-based approach) ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจ ความอดทนต่อความแตกต่างและช่วยสร้างสังคมที่สงบสุขได้ (เป้าหมาย 16)

2.อาเซียนจะพัฒนาความร่วมมือให้ดีขึ้นเพื่อช่วยทำให้เป้าหมาย SDGs ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

อาเซียนอาจพัฒนาความร่วมมือในการทำให้เป้าหมาย SDGs ให้สำเร็จได้หลายประการ เช่น

1) การส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการสร้างชาติในทุกประเทศในอาเซียน เนื่องจากสถาบันการสร้างชาติเป็นสถาบันที่ส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างชาติระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชากิจ โดยการสร้างผู้นำระดับสูงใน 3 ภาคส่วน และสร้างเยาวชนไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม ทั้งในมิติประเด็น กลุ่มคน และพื้นที่ (Agenda based, People based and Area based)

2) การจัดตั้ง ASEAN Tri-Sector Dialogue in Sustainable Development ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้เกิดการบูรณาการสามภาคส่วนระหว่างประเทศ ไม่ใช่โครงสร้างที่แยกส่วนหรือเน้นเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาครัฐกิจ เป็นต้น

3) การหาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practice) ในการบรรลุ SDGs แต่ละด้าน และทำคู่มือเพื่อเทียบเคียง (benchmarking) กับแนวปฏิบัติที่ดีในแต่ละเป้าหมายและตัวชี้วัดอย่างชัดเจน

4) การส่งเสริมให้เกิดการจับคู่เอกชนที่ทำ CSR กับ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย และการสร้างผู้ประกอบการเพื่อสังคมประกบในทุกปัญหาในทุกประเทศ โดยมีการทำ mapping ให้ชัดเจนว่า แต่ละเป้าหมายมีภาคเอกชนหน่วยงานใด และมีภาคประชาชนหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง เป็นต้น

ที่สำคัญ เนื่องจากการทำตามเป้าหมาย SDGs 17 ประการนี้ เป็นไปโดยสมัครใจ ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดมีอำนาจในการบีบบังคับให้ประเทศใดทำหรือไม่ทำได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนให้แต่ละประเทศมุ่งที่บรรลุเป้าหมาย 17 ประการจึงเป็นไปได้ยากมาก

ดังนั้นผมคิดว่า โลกต้องพัฒนาระบบที่ทำให้ประเทศที่ไม่อยากทำดี ทำดีโดยไม่รู้ตัว โดยองค์กรที่เป็นสถาบันในระดับโลก อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) ธนาคารโลก (WB) และองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ควรเข้ามามีส่วนในการกำหนดระบบจูงใจ เช่น การกำหนดมาตรการจูงใจภาครัฐของแต่ละประเทศ โดยการผูกความสำเร็จในการทำตามเป้ามาย SDGs ไว้กับแรงจูงใจภายนอกที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็น การลดภาระหนี้ระหว่างประเทศ การให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ การให้ความช่วยเหลือพิเศษ หรือสิทธิพิเศษบางประการจากหน่วยงานระดับโลกต่างๆ เป็นต้น

เนื่องด้วยในปีนี้ ประเทศไทยได้เป็นประธานของอาเซียน ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่ดีมากที่ไทยไม่ควรปล่อยให้หลุดมือไป ในการเล่นบทบาทนำและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในเวทีอาเซียนที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในลักษณะ win - win หากไม่ได้ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถือว่าน่าเสียดายมาก ผมหวังว่าข้อเสนอของผมจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลไทยในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปผ่านเวทีอาเซียนครับ