“ธรรมศาสตร์โมเดล” การพัฒนาที่ยั่งยืนของ EFMD

“ธรรมศาสตร์โมเดล” การพัฒนาที่ยั่งยืนของ EFMD

EFMD หรือ European Foundation for Management Development เป็นองค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรและสถาบันการศึกษา

ในเมืองไทยชื่อนี้อาจจะไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วไป แต่ในแวดวงมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านการจัดการ EFMD เป็นที่รู้จักกันดีเพราะเป็นองค์กรประเมินและให้การรับรอง (accreditation) ตามมาตรฐาน EQUIS (European Quality Improvement System) และอื่นๆ ซึ่งหลายสถาบันในประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ รวมทั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อได้รับการรับรองก็แน่ใจได้ว่าสถาบันนั้นๆ ผ่านการประเมินอย่างเข้มข้นจึงเชื่อถือได้ในคุณภาพระดับนานาชาติ ทั่วโลกมีองค์กรและสถาบันการศึกษากว่า 900 แห่งใน 91 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ EFMD นับว่าเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลมากอีกแห่งหนึ่งโดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรป

EFMD สนับสนุนให้องค์กรต่างๆ มีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาองค์กร พัฒนาผู้มีสมรรถนะสูง พัฒนาผู้บริหาร พัฒนาวิชาชีพ และพัฒนาระบบนิเวศน์ทางการจัดการ (Ecosystem Development) ซึ่งการพัฒนาในเรื่องหลังสุดนี่เองเป็นแนวทางเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเฉพาะคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีได้ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้วในแนวทางที่เรียกว่าธรรมศาสตร์โมเดล” ที่พยายามทลายกำแพงของห้องเรียนออก นำนักศึกษาลงไปทำงานจริงร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ตอบโจทย์การยกระดับรายได้และให้ชุมชนยืนบนขาตัวเองได้อย่างยั่งยืน นักศึกษาจะใช้เวลาราว 4 เดือนในการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาของชุมชน เอาความรู้จากห้องเรียนไปช่วยแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งมักเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ชุมชนยิ่งทำยิ่งจนเพราะไม่มีระบบบันทึกที่ชัดเจน และไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงของสิ่งที่ตัวเองทำ ร่วมกันหาตลาดและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ วางระบบสต๊อกสินค้า และระบบการจัดการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน สิ่งเหล่านี้จะมีการพูดคุยและเรียนรู้กันตลอดเวลา ที่สำคัญทุกเรื่องต้องมั่นใจว่าชุมชนจะมองเห็นประโยชน์ และยินยอมที่จะทำด้วยตัวเองเพื่อจะได้ไม่กลับไปอยู่ในวงวนเก่าๆ ที่ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากความยากจนและการล่มสลายของวิสาหกิจชุมชน ที่ดูจะเป็นปัญหาร่วมกันของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย

วิสาหกิจชุมชนกว่า 100 แห่งในระยะ 10 ปี ได้ช่วยให้ชุมชนพัฒนาทั้งแนวคิดในการทำธุรกิจและการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่นขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมไปกับทีมนักศึกษาและคณาจารย์ สิ่งที่น่าชื่นใจคือชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ผิดไปจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ รู้จักช่องทางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนพร้อมจะปรับและเรียนรู้หากมีวิธีการและการสร้างแรงกระตุ้นที่ถูกต้อง

แม้ช่วงแรกๆ ของธรรมศาสตร์โมเดล จะประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ผลกระทบในวงกว้างยังไม่มากพอ จนกระทั่งเมื่อธรรมศาสตร์เริ่มมีพันธมิตรเข้ามาเติมเต็มเให้สมบูรณ์ นั่นจึงทำให้ระบบนิเวศน์แห่งการการรณรงค์เพื่อสังคมตามโมเดลนี้ครบถ้วนและลงตัว ด้วยการที่ธนาคารออมสินเข้ามาร่วมในปี 2557 ตามมาด้วยสมาคมเพื่อนชุมชน จ.ระยอง ที่ก่อตั้งโดย 5 กลุ่มบริษัทใหญ่คือ ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพีเพาเวอร์ ดาว และโกลว์ ร่วมกับสมาชิกสมทบอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนในปี 2558 จากนั้นในปี 2560 ขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม 16 สถาบันการศึกษาในภูมิภาค ขยายออกไปทั่วประเทศในปี 2562 ภายใต้ชื่อ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ทั้งจากสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ ชุมชนที่เข้มแข็ง และองค์กรสนับสนุนที่มากด้วยทรัพยากร จึงนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศน์ของวิสาหกิจชุมชนที่ครบถ้วน ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนตามนิยามของ EFMD อย่างสมบูรณ์

เรื่องราวทั้งหมดของ ธรรมศาสตร์โมเดลได้รับการถ่ายทอดเป็นกรณีศึกษาเพื่อเผยแพร่ให้สถาบันในเครือข่ายEFMD รับรู้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 นี้เองสถาบัน EFMD ได้ประกาศให้ ธรรมศาสตร์โมเดลได้รับรางวัลการปฏิบัติอันเป็นเลิศ หรือ Excellence in Practice 2019 ในระดับ Silver ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของสถาบันการศึกษาไทยที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้และพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนิยามของ EFMD และจะเป็นต้นแบบการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของ EFMD นำไปเรียนรู้ต่อไป รางวัลอันทรงเกียรตินี้จะมอบให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาคารออมสิน และสมาคมเพื่อนชุมชนในปลายปีนี้ที่ประเทศสเปน

ไม่เพียงรางวัลระดับโลก สิ่งที่ล้ำค่ากว่าคือการที่ได้เห็นวิสาหกิจชุมชนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนออกไปแข่งขันในระดับโลกได้ ล่าสุด ผลิตภัณฑ์ Rice Me ของวิสาหกิจชุมชนเกาะกก จ.ระยอง ที่ได้ร่วมกับสมาชิกเกษตรกรพยายามรักษาที่นาผืนสุดท้ายกลางเมืองด้วยการเปลี่ยนการขายข้าวเป็นถุงที่ขาดทุน 10 บาททุกกิโลที่ขาย มาสู่การแปรรูปเป็นขนมเพื่อสุขภาพในชื่อ Rice Me วันนี้ผลิตภัณฑ์ใหม่ วางขายในร้านกาแฟอเมซอนที่สิงคโปร์อีกด้วย เหล่านี้คือ ผลสะท้อนความสำเร็จของชุมชนภายใต้ความร่วมมือของชุมชน สถาบันการศึกษา และพันธมิตรทางธุรกิจที่จะทำให้ธรรมศาสตร์โมเดลเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

โดย... วิทยา ด่านธำรงกูล

[ศึกษารายละเอียดเรื่อง Excellence in Practice ได้จาก https://efmdglobal.org/awards/eip-excellence-in-practice-award/]