กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความตกลง RCEP

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความตกลง RCEP

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เพื่อพิจารณาว่าสินค้านั้นเกิดขึ้นหรือผลิตขึ้นที่ประเทศใด

มีกรณีการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่สำคัญคือ กรณีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ประเทศผู้ให้เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว เช่นสิทธิGSP หรือเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มประเทศ เช่นสิทธิ GSTP และกรณีการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าตามความตกลงสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย คือบรรดาความตกลงเขตการค้าเสรี(Free trade agreement : FTA ) ต่างฯ ซึ่งอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปโดยอาจเรียกตรงฯเลยว่าความตกลงเขตการค้าเสรี เช่นความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN Free Trade Area :AFTA. ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย ชิลี หรือเรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ก็มี เช่นความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น (Japan -Thailand Economic Partnership :JTEPA) นอกจากนี้ก็มีการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นการทั่วไปในกรณีต้องมีการพิจารณาว่าสินค้าที่นำเข้ามีถิ่นกำเนิดที่ประเทศใด

กรณีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จะเป็นกฎเกณฑ์ที่ประเทศผู้ให้เป็นผู้กำหนดหรือตามที่กลุ่มประเทศได้ตกลงกันไว้ เพื่ิอใช้พิจารณาว่าสินค้านั้นกำเนิดหรือผลิตขึ้นในประเทศผู้ได้รับสิทธิ์หรือในกลุ่มประเทศนั้น อันจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้าในประเทศผู้ให้สิทธิ์หรือในกลุ่มประเทศนั้น

ในกรณีเป็นความตกลงเขตการค้าเสรี กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าตามที่ภาคีสมาชิกได้ตกลงกันไว้ จะใช้พิจารณาว่าว่าสินค้านั้นกำเนิดหรือผลิตในประเทศสมาชิก ที่สามารถนำเข้าไปในประเทศสมาชิกอื่นโดยไม่ถูกจำกัดการนำเข้าหรือได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้า ตามที่กำหนดในความตกลงนั้น

เกณฑ์ในการพิจารณาถิ่นกำเนิดสินค้า มีเกณฑ์ที่ถือว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดที่สำคัญสองหลักเกณฑ์คือ

หลักเกณฑ์แรก สินค้านั้นได้มาทั้งหมดหรือมีการผลิตทั้งหมดในประเทศนั้น (Wholly obtain) เกณฑ์นี้ของข้างชัดเจน เช่น สินแร่ต่างฯที่ได้จากผืนดินของประเทศนั้น หรือพืชสัตว์ที่ปลูก เลี้ยง เติบโต เก็บเกี่ยวหรือจับได้ในเขตแดนของประเทศนั้น

หลักเกณฑ์ที่สอง สินค้านั้นไม่ได้มาหรือไม่มีการผลิตทั้งหมดในประเทศนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้วัตถุดิบหรือสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นเป็นส่วนประกอบหรือส่วนผสมในการผลิตสินค้าด้วย

การพิจารณาถิ่นกำเนิดของสินค้าหลักเกณฑ์ที่สอง จะพิจารณาว่าสินค้านั้นมีการแปรสภาพอย่างเพียงพอหรือไม่ ในเบื้องแรกมีเกณฑ์ทั่วไปคือ ถ้ามีการดำเนินการกับสินค้านั้นเพียงเล็กน้อย ที่ไม่ทำให้คุณลักษณะสำคัญของสินค้านั้นเปลี่ยนไป จะไม่ถือว่าสินค้ามีถิ่นกำเนิดในประเทศที่ดำเนินการนั้น เช่นการเปลี่ยนสิ่งบรรจุหุ้มห่อใหม่ การดำเนินการเพื่อรักษาสินค้าระหว่างการขนส่ง

ถ้าปรากฏว่าสินค้าที่มีวัตถุดิบหรือสินค้านำเข้าเป็นส่วนผสมหรือส่วนประกอบได้รับการดำเนินการแปรสภาพอย่างเพียงพอ ก็ถือว่าสินค้านั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศที่ดำเนินการ การพิจารณาว่าสินค้านั้นมีการแปรสภาพอย่างเพียงพอ มีเกณฑ์พิจารณาสองเกณฑ์

เกณฑ์แรก คือเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ดำเนินการในประเทศนั้น มูลค่าดังกล่าวนับรวมทั้งค่าแรง ค่าวัตถุดิบ และค่าดำเนินการต่างฯในการผลิตสินค้าดังกล่าว เช่นตามความตกลงAFTA กำหนดไว้ 40% ของราคา FOB

เกณฑ์ที่สอง คือ มีการดำเนินการกับสินค้านั้น จนได้สินค้าที่มีพิกัดอัตราศุลกากรเปลี่ยนไป เช่นนำเข้าวัตถุดิบปลาซาร์ดีน พิกัด0302.43 มาผลิตเป็นปลาซาร์ดีนกระป๋อง พิกัด1604.13 ปลาซาร์ดีนกระป๋องดังกล่าวถือได้วามีถิ่นกำเนิดในประเทศผู้ผลิต

อย่างไรก็ตามทั้งสองเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นก็อาจมีข้อกำหนดพิเศษเพิ่มเติมจากเกณฑ์ดังกล่าวเฉพาะสินค้าบางรายการก็ได้

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP)

เป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 6ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ เริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในปี2556 หากเจรจาตกลงสำเร็จจะเป็นเขตการค้าเสรี รวม 16ประเทศ มีประชากรกว่า สามพันสี่ร้อยล้านคน เป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลก  สำหรับความคืบหน้าของการเจรจา จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของอาเซียน 10ประเทศ ประเด็นที่ต้องไปเจรจากับคู่เจรจา 6 ประเทศ หลายเรื่องอาเซียนเองก็ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องหนึ่งก็คือกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ผ่านมาอาเซียนใช้เกณฑ์เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเพิ่ม  สำหรับกรณี RCEP มีบางประเทศเสนอให้ใช้อัตรา 60 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงมาก บางประเทศต้องการให้ต่ำซึ่งในครั้งการเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า AFTA ก็มีปัญหาทำนองนี้มาแล้ว แต่ในที่สุดก็ตกลงกันที่40 เปอร์เซ็นต์ RCEP ก็น่าจะยึดถือ AFTA เป็นเกณฑ์

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพที่ผ่านมา มีข่าวจะพยายามให้การเจรจาRCEP สำเร็จในปีนี้ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเรื่องเดียวในอาเซียนเองยังตกลงกันไม่ได้ เพราะกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้ามีความสำคัญมีผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียทางการค้าของแต่ละประเทศ ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรของตนเองหรือมีน้อย ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าก็ต้องการให้กำหนดเปอร์เซ็นต์ต่ำ เพื่อให้การผลิตสินค้าของตนได้ถิ่นกำเนิดสินค้าโดยไม่ยาก ประเทศที่มีทรัพยากรมีวัตถุดิบมากพึ่งการนำเข้าน้อย ก็ต้องการให้กำหนดเปอร์เซ็นต์ไว้สูง เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าที่ใช้ทรัพยากรของตนเองอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ก็มีข่าวว่าประเทศคู่เจรจา บางประเทศเช่นอินเดียมีทีท่าต้องการให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นไปอย่างเข้มงวดเพื่อกีดกันสินค้าจากบางประเทศ ในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ก็มีความเห็นจากเอกชนบางฝ่ายว่า มีการใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้ากีดกันสินค้าของตน เรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของRCEP คงต้องเจรจากันหลายยกใช้เวลาพอสมควร นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอื่นเช่น สินค้าที่จะใช้สิทธิ์ตามความตกลงต้องส่งตรงจากประเทศผู้ส่งออกหรือไม่ รวมทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะยอมให้ผู้ผลิตผู้ส่งออกรับรองตนเองได้หรือไม่

ถ้าการเจรจาทำความตกลง RCEP สำเร็จลุล่วงมีผลใช้บังคับ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยที่จะช่วยผลักดันการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น และก็จะทำให้มีผู้ส่งออกมาใช้บริการการออกหนังสือถิ่นกำเนิดเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ได้ให้ข่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมปรับปรุงพัฒนาการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออกที่ได้รับการรับรองจากกรมการค้าต่างประเทศด้วย