หนี้สาธารณะ...ความเสี่ยง ที่จะต้องเผชิญในอนาคต

หนี้สาธารณะ...ความเสี่ยง ที่จะต้องเผชิญในอนาคต

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สรุปสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 มีจำนวน 6,960,625.47 ล้านบาท

หรือคิดเป็น 42.07 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,720,353.81 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 901,865.96 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ ที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 329,004.22 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 9,411.48 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนเม.ย.2562 จำนวน 6,960,625.47 ล้านบาท

แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 6,733,028.96 ล้านบาท หรือ 96.73 % และหนี้ต่างประเทศ 227,596.51 ล้านบาท หรือ 3.27 % ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สารธารณะคงค้างทั้งหมด แบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 6,034,302.53 ล้านบาท หรือ 86.69 % และหนี้ระยะสั้น 926,322.94 ล้านบาท หรือ 13.31% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด หนี้สาธารณะของไทย จึงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยปัจจุบันเป็นหนี้ในประเทศและหนี้ระยะยาว ภาพปัจจุบันด้านการคลังถือว่ามั่นคง

ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดสัดส่วนทางการเงินต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ 60% หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562  สัดส่วน 42.07% จึงอยู่ในกรอบสอดคล้องกับการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับสากล และในระยะปานกลาง 5 ปี คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ใต้เพดานที่ไม่เกิน 60% โดยในปีงบประมาณ 2562 อยู่ที่ 43.3% ปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ 44.5% ปี 2564 อยู่ที่ 46% ปี 2565 อยู่ที่ 47.9% ปี 2566 อยู่ที่อยู่ที่ 48.5% ภายใต้สมมติฐาน GDP ขยายตัว 4%

หนี้สาธารณะคือหนี้ที่รัฐบาลกลาง หน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่ให้รัฐบาลค้ำประกันหนี้สิน หนี้สาธารณะส่วนใหญ่มาจากการดำเนินนโยบายของรัฐแบบขาดดุลหรือรายได้ของรัฐน้อยกว่ารายจ่ายของรัฐ ทำให้ต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลในแต่ละกรอบปีงบประมาณ

ตราบใดที่เศรษฐกิจขยายตัวดี ก็สามารถรองรับหนี้สาธารณะได้ ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% ของ GDP ถ้าเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดี ก็ไม่น่าห่วง แต่ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องสงครามการค้า ทั้งอเมริกา จีน และยุโรป ถ้า GDP ไม่โตตามเป้าหมาย ถึงแม้หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 60% ก็อาจเผชิญปัญหาได้

นอกจากนี้จะต้องพิจารณาว่าหนี้ที่ไม่ปรากฎในงบประมาณ หรือหนี้ซ่อนเร้นหนี้ที่อยู่นอกงบประมาณ ซึ่งอาจเป็นภาระผูกพันในอนาคต ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปกองทุนต่าง ๆ เป็นหนี้ที่กระจุกอยู่ในจุดต่าง ๆ โดยไม่นับรวมเป็หนี้สาธารณะ มีการคาดการณ์กันว่ามีประมาณ 300,000 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายประชานิยมแจกเงินเพื่อหาเสียงแต่เศรษฐกิจไม่เติบโตตามที่คาดหมาย หนี้สาธารณะอาจมากกว่า 60% ของ GDP ได้

กรณีที่รัฐบาลใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นกลไกในการชยายสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เป็นลูกค้า second tear ที่ไม่สามารถกู้เงินธนาคารพาณิชย์ได้ ถ้าลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข รัฐบาลจะต้องแบกรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อด้วย ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีสัดส่วนถึง 30% ของระบบสถาบันการเงินทั้งหมด ในแง่ของรัฐวิสาหกิจและการลงทุน ถ้ารัฐวิสาหกิจขาดทุนเพิ่มขึ้น

รัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนเพิ่ม จะมีภาระหนี้ที่จะต้องถูกนับรวมด้วย

ความเสี่ยงที่จะต้องมีการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังคือ กองทุนนอกงบประมาณทั้งหลาย ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีฐานะแตกต่างกัน เช่นกองทุนประกันสังคม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนหมู่บ้าน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นความเสี่ยงต่อฐานะของรัฐที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าเราได้ผู้นำที่มีความซื่อสัตย์มีความสามารถและประสิทธิภาพ ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ ก็ไม่น่าห่วง แต่ข่าวการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและโครงสร้างของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น อนาคตไม่แน่ว่าเราอาจได้ผู้นำที่พาเราเดินไปที่หน้าผาทางการคลัง หรือ Fiscal cliff หรือไม่อย่างไร

หนี้สาธารณะอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญในอนาคตครับ...