ทำไมการปฏิรูปจึงยาก

ทำไมการปฏิรูปจึงยาก

การปฏิรูปประเทศสำคัญอย่างมากต่อการสร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดีในอนาคต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในประเทศ

น่าเสียดายว่า ในประเทศเราความสำคัญของการปฏิรูปได้ถูกลดเกรดลงโดยการเมือง เมื่อการปฏิรูปถูกใช้เป็นข้ออ้างของนักการเมืองในการสร้างความชอบธรรมที่จะแสวงหาอำนาจ กล่าวคือ ก่อนการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลขณะนั้นต้องการให้มีการเลือกตั้งเพื่อเป็นทางออกให้กับความขัดแย้งทางการเมืองที่ประเทศเป็นอยู่ พร้อมผลักดันวลี “เลือกตั้งแล้วปฏิรูป” ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งกำลังขับเคลื่อนมวลชนต่อต้าน ปฏิเสธที่จะให้มีการเลือกตั้งภายใต้วลี “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นความแตกต่างของความต้องการที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ผลคือ คณะทหารได้ใช้ความแตกต่างนี้เป็นโอกาสของการรัฐประหาร ให้เหตุผลว่า ต้องการยุติความขัดแย้ง ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และต้องการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา

แต่ห้าปีผ่านไป การปฏิรูปก็ไม่เกิดขึ้น มีแต่การผลักภาระการปฏิรูปออกไปข้างหน้าในรูปของแผน 20 ปี ไม่มีการปฏิรูปจริงจัง เมื่อไม่มีการปฏิรูป ปัญหาของประเทศก็ไม่มีการแก้ไข ประเทศไม่สามารถเติบโตได้ตามศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น การทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรงขึ้น พร้อมกับความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น สะท้อนความไม่สมดุลย์ที่มีอยู่ในสังคมกลายเป็นคนป่วยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสายตาของ นสพ.ไฟแนนซ์เชียลไทม์ของอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้

ทำไมการปฏิรูปจึงยาก

ในทางเศรษฐศาสตร์ การปฏิรูป คือการทำนโยบาย แต่ไม่ใช่นโยบายที่แก้ไขนโยบายเดิมที่มีอยู่แบบเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นนโยบายที่มุ่งแก้ไขโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ แก้ความบิดเบือนและความไม่สมดุลย์ที่มีอยู่ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสาระหลักของการปฏิรูปคือ การลดความไม่มีประสิทธิภาพ ลดความบิดเบือนที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ได้สร้างระบบ “ค่าเช่า” ให้เกิดขึ้น คือ ระบบเศรษฐกิจมีต้นทุนแอบแฝงมากมาย ที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจถูกบิดเบือน จนเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น

ในกรณีของประเทศเรา ตัวอย่างของระบบ “ค่าเช่า” ได้แก่ หนึ่ง การผูกขาดตัดตอนที่การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เป็นผลจากนโยบายของภาครัฐที่นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ สอง การทุจริตคอร์รัปชั่นที่สร้างต้นทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ จากการละเมิดการใช้อำนาจ(Abuse) ทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนสูงเกินไปที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ สาม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงไปตรงมาสร้างความไม่แน่นอน สร้างต้นทุน และความไม่เสมอภาคให้กับภาคธุรกิจ

นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น เป็นข้อเท็จจริงที่คนในประเทศทราบดี ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่สามารถเติบโตหรือขยายตัวได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจถูกทำลายลงด้วยระบบ “ค่าเช่า” เหล่านี้ กลายเป็นเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ เติบโตต่ำ กลายเป็นคนป่วยของภูมิภาคอย่างที่ถูกพูดถึง ซึ่งจุดที่เป็นปัญหามากที่สุดที่ต้องปฏิรูปโดยเร็วก็คือ ระบบการทำงานของภาครัฐที่รวมถึงนักการเมืองและข้าราชการที่นำไปสู่การทำนโยบายที่ไม่ถูกต้อง การแทรกแซงกลไกตลาด และบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อสรุปนี้ประมวลได้จากผลสำรวจการทำธุรกิจในประเทศไทยล่าสุด (Doing Business in Thailand) ปี 2018 จัดทำโดยองค์กร World Economic Forum ที่ระบุว่า ข้อจำกัดสำคัญของการทำธุรกิจในประเทศไทยขณะนี้ได้แก่ หนึ่ง เสถียรภาพของรัฐบาลและการรัฐประหาร สอง ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ สาม ความไม่เสถียรของนโยบาย คือนโยบายเปลี่ยนบ่อย  สี่ การขาดความสามารถด้านนวัตกรรม และห้า การทุจริตคอร์รัปชั่น​​​

ทั้งห้าข้อนี้เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจในประเทศประมาณร้อยละ 60 ของปัจจัยทั้งหมดที่ผลสำรวจพูดถึง และทุกข้อล้วนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของภาครัฐทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ การทำงานของภาครัฐปัจจุบันจึงเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคอันดับหนึ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ เป็นที่มาของระบบค่าเช่าที่ประเทศมีอยู่มากมาย ที่ทำลายโอกาสและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ต้นทุนที่มีมากขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น การทำนโยบายของภาครัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ความไม่โปร่งในการทำนโยบายของภาครัฐ ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้งที่เกิดจากความใกล้ชิดระหว่างภาครัฐกับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ และความสามารถของบุคลากรในภาครัฐที่จะทำนโยบายและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามนโยบายให้บรรลุผล เรื่องเหล่านี้คนในภาครัฐตระหนักดี แต่เลือกที่จะไม่ทำอะไร ไม่ปฏิรูปการทำงานของภาครัฐและระบบราชการอย่างที่เห็น

ทำไมการปฏิรูปจึงยาก

เหตุที่การปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นก็เพราะ หนึ่ง การปฏิรูปจะหมายถึงการทำลายระบบค่าเช่าที่มีอยู่ที่จะมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ แน่นอนผู้ได้ประโยชน์ คือระบบเศรษฐกิจที่ต้นทุนในการทำธุรกิจจะลดลง แต่ผู้เสียประโยชน์ก็คือ กลุ่มนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการประจำที่ได้ประโยชน์จากระบบค่าเช่า กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นพลังที่ต่อต้านหน่วงเหนี่ยวการปฎิรูปไม่ให้เกิดขึ้น ใช้อิทธิพลและความใกล้ชิดกับการทำนโยบายแทรกแซงการตัดสินใจของนักการเมืองและข้าราชการที่ต้องการปฏิรูปจนการปฏิรูปไม่เกิดขึ้น

สอง ประชาชนไม่มีข้อมูลที่จะเข้าใจถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อกับเศรษฐกิจจากระบบค่าเช่าที่มีอยู่ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง แต่รู้ว่ามีการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ถูกทางมากมาย แต่ไม่ตระหนักถึงความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ เมื่อไม่ตระหนัก จึงไม่ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไข นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่า ภาครัฐจะจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา การคาดหวังจึงต่ำ ทำให้แรงกดดันที่จะให้มีการปฏิรูปจากประชาชนในวงกว้างจึงยังไม่เกิดขึ้น

สาม ผู้นำประเทศไม่เข้าใจในความสำคัญของการปฏิรูปและ/หรือไม่มีความกล้าหาญที่จะผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากความไม่สนใจโดยส่วนตัวของผู้นำที่จะทำหน้าที่อย่างจริงจัง หรือถูกครอบงำโดยอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีต่อตัวผู้นำ ทำให้ผู้นำกลายเป็นผู้ตาม คือ ตามใจกลุ่มผลประโยชน์ การปฏิรูปจึงไม่เกิดขึ้น

จากประสบการณ์ทั่วโลก เมื่อผู้นำไม่นำการปฏิรูป การปฏิรูปก็จะเกิดขึ้นเองเมื่อประเทศเข้าสู่จุดวิกฤติที่มีเหตุมาจากการไม่ปฏิรูป ทำให้การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดของประเทศ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะมีต้นทุนสูงมากทั้งต่อเศรษฐ