โรคระบาดหมู 'วิกฤต' หรือ 'โอกาส' ของปศุสัตว์ไทย

โรคระบาดหมู 'วิกฤต' หรือ 'โอกาส' ของปศุสัตว์ไทย

'วิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง' หรือ 'จะเป็นโอกาส' ขึ้นอยู่ที่การปรับตัวของผู้ประกอบการ

โรคระบาด 'อหิวาต์แอฟริกาในหมู' หรือ 'African swine fever' (ASF) ที่จีนเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา และการแพร่ระบาดเริ่มเป็นวงกว้างมายังประเทศใกล้เคียง อาทิ เวียดนาม ลาว เป็นต้น โดยโรค ASF เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในหมูเท่านั้น (ไม่ติดต่อคน) แต่เป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก โดยหมูที่ติดโรคนี้อัตราการตายแทบจะ 100% จึงส่งผลให้ปริมาณเนื้อหมู หรือ อุปทานเนื้อหมูหายไปจากตลาดโลกปริมาณมาก โดยโรคระบาดในหมูนี้ยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดในประเทศไทย ประเด็นนี้จะเป็นบวกหรือลบต่อผู้ประกอบการธุรกิจปศุสัตว์ไทยอย่างไร จะเป็น 'วิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง' หรือ 'จะเป็นโอกาส' ขึ้นอยู่ที่การปรับตัวของผู้ประกอบการเองเป็นสำคัญ

จากข้อมูลของ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ United States Department of Agriculture (USDA) ปริมาณเนื้อหมูที่ผลิตในประเทศจีนแต่ละปีคิดเป็นราว 49% ของทั้งโลก (ข้อมูลปี 2559-2561) และหากจะจินตนาการเพิ่มเติมไปอีกว่าทางการจีนได้มีการสั่งทำลายหมูไปแล้วราว ±30% ของทั้งประเทศ (เป็นตัวเลขคาดการณ์) เท่ากับว่าปริมาณเนื้อหมูในปัจจุบันหายไปแล้วกว่า 1 ใน 4 ของปริมาณเนื้อหมูทั้งโลก ขณะที่ฝั่งดีมานด์ หรือ ปริมาณการบริโภคเนื้อหมูของคนจีนคิดเป็นราว 50% ของปริมาณการบริโภคเนื้อหมูทั้งโลก จากข้อมูลของ USDA โดยปกติคนจีนบริโภคเนื้อหมูมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นการขาดหายไปของอุปทานเนื้อหมูครั้งใหญ่นี้ จึงเป็นสึนามิครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมปศุสัตว์โลกเลยก็ว่าได้

โดย 1) 'ราคาเนื้อหมู' ทั่วภูมิภาคเอเชียปรับขึ้นทันที สำหรับประเทศไทยราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเรียกได้ว่าปรับขึ้นเกือบทำลายสถิติสูงสุดในประวัติการณ์ ที่ 82.5 บาท/กก. แล้ว โดยทางกรมการค้าภายในได้ทำการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการฯที่จะช่วยคงราคาไว้ที่ 75 บาท/กก. (ราคาล่าสุดจาก กรมการค้าภายในอยู่ที่ 75.5 บาท/กก.) 2) 'เนื้อไก่' ที่เป็นสินค้าทดแทนเนื้อหมู กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่ (รวมถึงไทย) เพื่อส่งไปประเทศจีนเพื่อทดแทนอุปทานเนื้อหมูที่ขาดหาย และเป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณอุปทานเนื้อไก่ในประเทศไทยลดลง และราคาเนื้อไก่มีชีวิตหน้าโรงฆ่า กทม. ปรับขึ้นมาที่ 36.5 บาท/กก. ปรับขึ้นมาจากเฉลี่ยปี 2561 ที่ 32.3 บาท/กก. 3) 'ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์' (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ปรับตัวลงเนื่องจากการนำเข้าจากจีนหยุดชะงัก อาจมีผลพวงจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนร่วมด้วย

ประเด็นเรื่องโรค ASF หากมองเป็นโอกาสของผู้ประกอบการปศุสัตว์ในไทย ก็อาจจะพูดไม่ได้เต็มที่นัก เพราะในระยะที่ยังไม่มีการระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ก็ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการฯ ทั้งฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่พลอยได้อานิสงส์กันไปด้วย โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ดีจากการส่งออกและราคาขายในประเทศก็ดีขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็กก็ได้ประโยชน์จากราคาขายในประเทศที่ดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ถูกลง ซึ่งในปัจจุบันทั้งหน่วยงานภาครัฐฯและเอกชนก็พยายามที่จะป้องกันการระบาดของโรค ASF ในไทยอย่างเต็มที่

แต่อย่างไรก็ดีความเสี่ยงที่โรค ASF จะระบาดเข้าไทยก็ยังมี แต่ผมประเมินว่าหากมีการระบาดของโรคเข้าไทยจริง 1) ราคาเนื้อหมูในประเทศจะปรับตัวลงระยะสั้น เพราะผู้บริโภคชาวไทยอาจตื่นตระหนก (แม้ว่ากรมปศุสัตว์จะยืนยันว่าไม่มีผลกับมนุษย์) 2) ราคาเนื้อไก่ในประเทศจะปรับตัวขึ้นทันที สวนทางกับราคาเนื้อหมู เพราะเป็นสินค้าทดแทนกัน 3) ในระยะกลาง ฟาร์มสุกรของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ส่วนใหญ่เป็นระบบปิดที่เหลือรอด ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคก็จะกลายเป็นเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะที่ฟาร์มสุกรของผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังอาจเป็นระบบเปิดอาจประสบปัญหาไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในฟาร์มกุ้งจาก 'โรคกุ้งตายด่วน' หรือ 'Early Mortality Syndrome' (EMS) ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมเชื่อว่าประเทศไทย ที่เคยผ่านประสบการณ์ทั้งโรคไข้หวัดนก (ไก่) และโรค EMS (กุ้ง) มาแล้ว และมีการรับมือกับการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี น่าจะสามารถป้องกันการระบาดของโรค ASF (หมู) ในไทยได้ หรือ อย่างน้อยก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการฟาร์มรายเล็ก สามารถลืมตาอ้าปากได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากที่ประสบปัญหาราคาเนื้อหมู และเนื้อไก่ ตกต่ำมาหลายปี