รัฐสวัสดิการในอังกฤษ บทเรียนสำหรับประเทศไทย

รัฐสวัสดิการในอังกฤษ บทเรียนสำหรับประเทศไทย

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอให้ภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาของรัฐสวัสดิการในอังกฤษในปัจจุบัน

จากนั้นจะกล่าวถึงแนวความคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐสวัสดิการ ซึ่งเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประเทศอังกฤษด้วย จากนั้นจะทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอบางประการว่าประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนารัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษได้อย่างไร

 

ปัญหาของรัฐสวัสดิการและผลกระทบจากนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ

รัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยคนที่วางรากฐานความคิดเรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการคือ Sir William Beveridge ผู้เขียนรายงานปีค.ศ.1942 เสนอให้รัฐบาลสร้างระบบสวัสดิการ/ระบบประกันสังคม(social insurance) เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มเสี่ยงต่างๆเช่น คนที่ว่างงาน คนป่วย คนเกษียณ คนที่เป็นหม้าย เป็นต้น นอกจากนั้นข้อเสนอที่สำคัญคือเรื่องการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษา ที่อยู่อาศัย สภาพการทำงานของประชาชน และการเสนอให้จัดตั้ง National Health Service หรือระบบประกันสุขภาพระดับชาติ ซึ่งคนทำงานก็จะจ่ายเงินบางส่วนจากเงินเดือนเพื่อมาสนับสนุนโครงการของรัฐเหล่านี้ เป้าหมายสำคัญที่เบเวอริดจ์ต้องการเสนอคือให้ทุกคนในอังกฤษมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร มากกว่าขั้นต่ำ (minimum standard)

 

รายงานของเบเวอริดจ์ได้รับความนิยมจากประชนชนซึ่งหลายๆส่วนอยู่ในภาวะยากจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบกับความรู้สึกหลังสงครามที่มีคนที่บอบช้ำจากสงครามมาก ทำให้คนรู้สึกว่าต้องร่วมมือร่วมใจช่วยเหลือกัน เมื่อรัฐบาลพรรคเลเบอร์(พรรคแรงงาน)ภายใต้การนำของ Clement Attlee (1945-1951)ได้รับการเลือกตั้งในเดือนมิ.ย.ปีค.ศ.1945 ก็ได้ทำตามคำแนะนำจากรายงานของเบเวอริดจ์ สถาบันรัฐสวัสดิการสำคัญที่ได้ตั้งขึ้นสมัยนั้นและยังมีความสำคัญมากในปัจจุบันคือ National Health Service (NHS)  หรือระบบประกันสุขภาพโดยรัฐ ให้ประชาชนได้รับการรักษาฟรี(หรือจ่ายน้อยที่สุด)

 

รัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษ (ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่าแนวเสรีนิยม (liberal)) ไม่ได้มีความ “ใจกว้าง” เหมือนรัฐสวัสดิการแบบสังคมประชาธิปไตยในประเทศกลุ่มนอร์ดิค(Nordic/social democracy) เช่น สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ นอร์เวย์ นอกจากนั้นระบบสวัสดิการในประเทศอังกฤษก็ถูกท้าทายมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุคนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธตเชอร์(1979-1990) จากพรรคคอนเซอเวทีฟ(พรรคอนุรักษ์นิยม) ซึ่งเชื่อในแนวทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ ถึงแม้ในยุคนี้จะมีความพยายามลดสวัสดิการโดยรัฐและเปลี่ยนทัศนคติประชาชนเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการให้ไปในทางลบมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถยกเลิกระบบNHSได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังสนับสนุนอยู่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ไม่สามารถทำลายฉันทามติทางการเมืองที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐสวัสดิการได้

 

ในปัจจุบัน ระบบรัฐสวัสดิการของประเทศอังกฤษประสบกับความท้าทายหลายประเด็น นอกจากนั้น การที่รัฐบาลอังกฤษใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2010 (หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008/2009) ได้ลดทอนประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการของรัฐ และส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมอย่างมาก โดยเมื่อไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญของUNด้านความยากจนชื่อPhilip Alston ได้ออกรายงานประณามอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอังกฤษที่ทำให้เกิดความทุกข์ยากในประเทศและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจนมากขึ้นในประเทศอังกฤษ ทำให้ภาวะความหิวโหยและคนที่ไม่มีบ้านอยู่เพิ่มขึ้น อังกฤษเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก แต่ประชาชน 1 ใน 5 กลับอยู่ในภาวะยากจนแบบสัมพัทธ์(relative poverty)หรือนับเป็นจำนวนคน 14 ล้านคน โดยคาดการณ์ด้วยว่าเด็ก 40% จะอยู่ในขั้นยากจนภายในปี 2021 ซึ่งAlston มองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น และรัฐบาลอังกฤษอยู่ในภาวะปฏิเสธความจริง(in denial) เกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/un-poverty-austerity-uk-universal-credit-report-philip-alston-a8924576.html)

 

คำถามที่น่าสนใจก็คือ: ถ้านโยบายรัดเข็มขัดสร้างความยากแค้นให้กับประชาชน และมีผลลบต่อความเท่าเทียมกันทางสังคมถึงขั้นนี้ ทำไมรัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟถึงถูกเลือกตั้งกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังสามารถดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดได้อย่างยาวนาน?

 

นักวิชาการหัวก้าวหน้าหลายๆคนในประเทศอังกฤษได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิธีหนึ่งที่ชนชั้นนำทางการเมืองพรรคคอนเซอเวทีฟใช้เพื่อให้ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลและสร้างความชอบธรรมให้นโยบายรัดเข็มขัด คือการพยายามสร้างความเชื่อทางเศรษฐกิจว่า การที่ประเทศประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจปี 2008/2009 นั้น มีคำอธิบายง่ายๆว่าเป็นเพราะรัฐบาลเลเบอร์ชุดเก่าใช้จ่ายเกินตัว (ทั้งที่เหตุผลที่เกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกปี 2008/2009 นั้นอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง) ซึ่งวาทกรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นเน้นไปที่การลดการขาดดุลงบประมาณ (budget deficit) และลดรายจ่ายด้านสวัสดิการของรัฐ โดยละเลยประเด็นอื่น เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพ และอื่นๆ

 

นอกจากนั้น ชนชั้นนำทางการเมืองที่มีความคิดเอียงขวา ยังมีการใช้วิธีสร้างวาทกรรม/มุมมองแบบแบ่งแยกคนในสังคม เช่นสร้างวาทกรรมให้คนที่ชอบรับเงินจากรัฐ benefit claimants เป็นโจทย์ของสังคม เมื่อเทียบกับworkers คนที่ทำงานหนัก ทั้งที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายด้านสวัสดิการนั้น ลดรายได้ต่อครัวเรือนที่มีรายได้ในเกณฑ์ต่ำเช่นเดียวกับลดรายได้ของครัวเรือนที่ไม่มีงานทำ (Mason, 2013 cited in Lavery, 2018: 36)[1] นอกจากนั้น มีการศึกษาชิ้นหนึ่งได้เสนอไว้ว่านโยบายรัดเข็มขัดในประเทศอังกฤษระหว่างช่วงพ.ค. 2010-2014/2015 ได้ส่งผลลบต่อรายได้ของประชากรครึ่งล่างที่รายได้น้อย(bottom 50%)มากกว่าประชากรอีกครึ่งหนึ่ง และคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นก็จะเป็นกลุ่มเฉพาะเช่น เด็ก วัยทำงาน คนเกษียณ โดยคนทำงานก็จะได้รับรายได้ที่แท้จริง (real wage) ที่ลดลงอีกด้วย (Jenkins, 2015: 15; Hills, 2015: 5; Lavery, 2018: 34)[2]

 

ชุดความคิดที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างหนึ่ง คือการที่นักการเมืองฝ่ายขวา และประชาชนบางส่วน มีการโทษผู้อพยพ/คนชาติอื่นด้วย และอาจจะมีการเชื่อมโยงว่าการที่อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู) เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้รัฐเสียเงินเยอะและทำให้ระบบสวัสดิการไม่มีประสิทธิภาพ (ปัญหา overload)

 

กลุ่มภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด(anti-austerity movement) ในประเทศอังกฤษ และพรรคเลเบอร์ในปัจจุบัน(ตั้งแต่ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา)ได้พยายามต้านวาทกรรมกระแสหลักที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น และชี้ให้เห็นว่าการใช้นโยบายรัดเข็มขัดที่บ่อนทำลายสวัสดิการของรัฐในอังกฤษนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจ(economic imperative)ที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นตัวเลือกทางการเมือง(political choice)ด้วย โดยผู้เขียนจะกล่าวถึงข้อเสนอเชิงปฏิรูปของพรรคเลเบอร์ในส่วนต่อไป

 

ข้อเสนอที่น่าสนใจในการปฏิรูปรัฐสวัสดิการและระบบเศรษฐกิจในประเทศอังกฤษ

นอกจากประเด็นด้านนโยบายรัดเข็มขัดที่บ่อนทำลายประสิทธิภาพของรัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ทำให้หลายคนกังวลว่ารัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษยังจะเป็นไปได้อยู่หรือไม่ หรือควรเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด โดยนักวิชาการชื่อดังของอังกฤษ Andrew Gamble เคยสรุปสั้นๆถึงปัญหาสี่ประการของรัฐสวัสดิการ: 1) Affordability หมายถึงภาษีที่เก็บได้และงบประมาณของรัฐจะเพียงพอไหม ซึ่งถ้าประชาชนไม่สนับสนุนก็อาจจะต่อต้านการขึ้นการเก็บภาษี; 2) International competitiveness หมายถึงความกังวลที่ว่าระบบสวัสดิการจะทำให้ประเทศแข่งขันสู้ประเทศอื่นไม่ได้ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ กฎหมายปกป้องแรงงานอาจจะทำให้ค่าแรงสูง ตลาดแรงงานไม่ยืดหยุ่น และอื่นๆ แต่ประเด็นนี้แก้ได้ในประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นอังกฤษคือต้องพัฒนาและยกระดับการผลิตและคุณภาพแรงงาน (และเลื่อนขึ้นห่วงโซ่คุณค่า หรือ move up the value chain); 3) new social risks ความเสี่ยงทางสังคมใหม่ๆ คนอาจจะเริ่มเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นไม่ยอมรับในความคิดแบบต้องร่วมด้วยช่วยกัน เครือข่ายทางสังคมถูกลดทอนลง ไม่สนับสนุนสถาบันรวมหมู่ (collectivist institutions) เช่นรัฐสวัสดิการ เพราะไม่มีความยืดหยุ่นและมีปัญหาอื่นๆ; 4) Ageing ปัญหาประชากรที่สัดส่วนของผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น เทียบกับวัยแรงงาน ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็มีหลายแบบเช่น ยืดเกณฑ์อายุที่จะจ่ายบำนาญ ลดการให้เบี้ยผู้สูงอายุ กระตุ้นการเกิด หรือ เปิดให้มีผู้อพยพเข้ามาทำงาน (หรือเน้นเทคโนโลยี AI) (ดูเพิ่มในหนังสือ Can the Welfare State Survive? สำนักพิมพ์ Polity, 2016)

 

ผู้เขียนมองว่าข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคเลเบอร์(ซึ่งถึงแม้จะเป็นพรรคฝ่ายค้าน)เกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการช่วงหลังเจเรมี คอร์บินได้ขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค (2015 เป็นต้นมา) มีความน่าสนใจ และน่าจะช่วยแก้ปัญหา3-4ประเด็นที่ Andrew Gamble ได้เสนอไว้ กล่าวโดยย่อคือ นอกจากจะต่อต้านนโยบายการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจแล้ว พรรคเลเบอร์นั้นมองว่าการปฏิรูประบบสวัสดิการของรัฐนั้นเชื่อมโยงกับความจำเป็นในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยเสนอให้รัฐมียุทธศาสตร์ทางอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นการยกระดับทางเทคโนโลยีและสร้างแรงงานทักษะที่สูงขึ้น สร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองสังคม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือกัน(caring economy)และเศรษฐกิจท้องถิ่นที่แข็งแรง และพยายามส่งเสริมความคิดเชิงพหุวัฒนธรรมนิยม(multiculturalism) หรือสนับสนุนการยอมรับในความแตกต่างทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมในสังคมอังกฤษ รวมทั้งสนับสนุนการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น เก็บภาษีธุรกิจใหญ่ๆที่เคยมีวิธีเลี่ยงภาษี และสนับสนุนการเก็บภาษีการเก็งกำไรในภาคการเงินด้วย เพื่อเอางบประมาณมาใช้จ่ายในด้านสวัสดิการและดำเนินนโยบายทางสังคมเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และล่าสุดแสดงความสนใจที่จะทำการทดลองเรื่อง Universal Basic Income (เงินเดือนขั้นต่ำให้ประชาชน)หากได้เป็นรัฐบาล

 

ที่น่าสนใจคือพรรคเลเบอร์ไม่ได้เน้นเก็บภาษีมาใช้ในนโยบายด้านสังคมอย่างเดียว แต่สนใจเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย(เพื่อที่จะได้ภาษีมากขึ้น) โดยเน้นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ “สมดุล”ขึ้น เพราะที่ผ่านมาภาคการเงิน(financial sector)มีน้ำหนักมากในระบบเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยเลเบอร์ต้องการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ให้เศรษฐกิจอังกฤษมีความสมดุลมากขึ้น  โดยเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม(mission-led industrial strategy)ที่นำโดยรัฐ ซึ่งสนใจการจ้างงานและเป้าหมายทางสังคมหลายๆอย่างนอกเหนือจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (แนวความคิดด้านนโยบายของพรรคเลเบอร์นั้นได้รับอิทธิพลของงานของนักวิชาการเช่น Marianna Mazzucato และ Ha-joon Chang)

 

ตัวอย่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญคือ: 1) ข้อเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูป (National Transformation Fund) เพื่อยกระดับระบบการคมนาคม พลังงาน โครงสร้างดิจิตัลและอื่นๆ; 2) ข้อเสนอให้ตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนพัฒนาประเทศ (National Investment Bank) และเครือข่ายธนาคารท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา(Regional Investment Bank) เพื่อแก้ไขการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่ที่ลอนดอนและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอื่นๆมากขึ้น และ; 3) นโยบายเพื่อการการศึกษาและพัฒนาแรงงาน โดยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีพ(life-long learning) ให้ประชาชนสามารถพัฒนาทักษะได้ตลอดชีวิต และให้โอกาสการศึกษาประชาชนทุกคนโดยการสร้าง National Education Service; 4) สนับสนุนองค์กรทางเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงในที่ทำงาน (work-place/economic democracy) เช่นสหกรณ์ หรือบริษัทเพื่อสังคม บริษัทที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นมากขึ้น

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคเลเบอร์ไม่ได้แยกเป็นส่วนๆ แต่มีความเชื่อมโยงกัน อยู่ภายใต้กรอบความคิดเกี่ยวกับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ เป้าหมายความเท่าเทียมทางสังคม สร้างเศรษฐกิจที่ช่วยเหลือกัน(caring economy) และดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว/นำพาการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว(green industrial revolution)เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม โดยในเดือนพฤษภาคม2019 ที่ผ่านมา ผู้นำพรรคเลเบอร์(เจเรมี คอร์บิน)ได้ผลักดันให้รัฐสภาอังกฤษผ่านญัตติ/ประกาศให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องเร่งด่วน(Climate Change Emergency)

 

ถึงแม้ว่าพรรคเลเบอร์จะสนใจการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้เน้นเชิงปริมาณ คือเน้นวิเคราะห์ ลักษณะเชิงคุณภาพด้วย (qualitative nature of growth) เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาจากไหน ผลกระทบต่อคนในท้องถิ่นต่างๆอย่างไร ตอบโจทย์ทางสังคมอะไรหรือเปล่า เช่น ช่วยจ้างงานที่ดีไหม หรือสร้างสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือเปล่า เป็นต้น กล่าวคือ ไม่ได้มองว่าบทบาทของรัฐบาลคือเก็บภาษีมากระจายให้เท่าเทียมกันมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่พยายามออกแบบระบบเศรษฐกิจมาให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมาตั้งแต่แรก

 

นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าพรรคเลเบอร์เป็นฝ่ายค้าน แต่ก็ได้พยายามสร้างเครือข่ายนักวิชาการ Think tank ที่มีแนวคิดก้าวหน้า นักเศรษฐศาสตร์ที่พยายามซ่อมแซมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเพื่อความเท่าเทียมมากขึ้น และช่วยในการส่งเสริมความคิดเชิงนโยบายในสังคมวงกว้าง ไม่ว่าจะผ่านสื่อระดับชาติในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือผ่านเครือข่ายนักเคลื่อนไหวและประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคและสนับสนุนพรรคอยู่

 

ประเทศไทยสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์การพัฒนารัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษ?

จากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าการแย่งชิงพื้นที่การอธิบายปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง/การสร้างวาทกรรมการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งถ้าประเทศไทยจะพัฒนารัฐสวัสดิการ ควรให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจกับประชาชน และสร้างฉันทามติทางการเมืองที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการ และการตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เช่น เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นทางอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มิเช่นนั้นฐานรัฐสวัสดิการก็อาจจะไม่มั่นคงและถูกสั่นคลอนได้ง่ายถ้าไม่มีฐานประชาชนที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการอย่างเหนียวแน่น

 

ผู้เขียนขอทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยข้อเสนอ 2 ประการ ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ และจะช่วยกระตุ้นการถกเถียงกันเรื่องความเป็นไปได้ของรัฐสวัสดิการในประเทศไทยต่อไป

 

1)การที่จะสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องปัญหาเทคนิค เช่นเรื่องการจัดสรรงบประมาณและอื่นๆ เพียงอย่างเดียว และไม่ใช่เป็นเรื่องที่ชนชั้นนำภาครัฐ “ให้”ผลประโยชน์แก่ประชาชน เหมือนกับเป็นการให้ประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์ อย่างที่บางคนคิด หากแต่มีมิติที่สำคัญคือด้านการสร้างความคิด ประเพณีปฏิบัติทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ กล่าวโดยย่อคือต้องมีการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและฉันทามติทางเศรษฐกิจการเมือง (political economic consensus) ที่ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงประโยชน์ของรัฐสวัสดิการ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าประชาชนควรจะมองเห็นความสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเมืองว่าควรจะมีกลไกเพื่อเพิ่มการเกื้อกูลกันในสังคมและช่วยเหลือคนกลุ่มเสี่ยงในสังคม และยอมรับในหลักการว่าสวัสดิการรัฐพื้นฐานบางอย่างนั้นเป็น “สิทธิ” ที่ประชาชนควรได้รับ (ไม่ใช่เป็นการทำทานของชนชั้นนำ) ซึ่งการสนับสนุนแนวทางแบบรัฐสวัสดิการ ในแง่หนึ่งหมายถึงการปฏิเสธที่จะเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีแนว “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เพียงอย่างเดียว ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง และฉันทมติทางเศรษฐกิจการเมืองเช่นนี้ได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ภาคประชาสังคมแข็งแรง และสร้างแรงกดดันทางสังคมให้ประเทศไทยเดินไปสู่เส้นทางของรัฐสวัสดิการ และช่วยปกป้องไม่ให้รัฐสวัสดิการถูกบ่อนทำลายได้ในอนาคต

 

2)การคิดเรื่องรัฐสวัสดิการควรจะเชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย และต้องเชื่อมโยงกับการวางแผนการเติบโตในอนาคตภายใต้สถานการณ์/ปัจจัยที่ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน เช่นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการก็ต้องมีรายได้จากระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งเราก็ควรจะต้องถามต่อว่ารายได้หรือความมั่งคั่งของประเทศ มาจากไหน และมาด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นธรรมทางสังคมหรือไม่ ประเด็นที่สำคัญที่อยากเสนอคือ เราไม่ควรคิดเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณอย่างเดียวแล้วค่อยเก็บภาษีมาใช้ในนโยบายด้านสังคม/ให้สวัสดิการประชาชน แต่ต้องคิดวางแผนตั้งแต่แรกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นใครได้ประโยชน์ มีการกระจายผลประโยชน์กันอย่างไร เป็นธรรมหรือไม่ มีปัญหาการผูกขาดเชิงเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ และคิดเรื่องเป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่นๆด้วย การสร้างงานที่ดี(decent jobs)ให้คนในประเทศ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

ถึงแม้ประเทศไทยจะต่างจากประเทศอังกฤษ แต่ประเทศไทยก็มียุทธศาสตร์ 20 ปี และ วิสัยทัศน์ที่จะสร้างThailand 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาคิดวิเคราะห์กันอย่างจริงจังว่าใครได้ประโยชน์จากการออกแบบนโยบายการพัฒนาและนโยบายอุตสาหกรรมแบบนี้ (สำหรับประเด็นนี้ สามารถอ่านบทความวิจัยที่วิพากษ์Thailand 4.0ของผู้เขียนได้ที่: Chiengkul, P. (2019). Uneven development, inequality and concentration of power: a critique of Thailand 4.0, Third World Quarterly, DOI: 10.1080/01436597.2019.1612739 สำหรับผู้ที่ไม่สามารถดาวน์โหลดบทความนี้ผ่านเครือข่ายห้องสมุด สามารถดาวน์โหลดได้ตามลิงค์นี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (50คนแรกเท่านั้น)https://www.tandfonline.com/eprint/9gsvbQpz7VMe3meEIrMJ/full?target=10.1080/01436597.2019.1612739)

โดย... 

ดร.ประพิมพ์ฝัน เชียงกูล

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


******

[1] Mason, R. (2013) ‘Will the Benefit Squeeze Hit the “Strivers” or the “Skivers with Their Blinds Down”?’’, The Telegraph, 8 January. Available at: http://www.telegraph.co.uk/news/politics/9787734/Will-the-benefit-squeeze-hit-the-strivers-or-the-skivers-with-their-blinds-down.html

[2] Jenkins, S. P. (2015) The Income Distribution in the UK: A Picture of Advantage and Disadvantage. Discussion Paper No. 8835. Bonn. Available at: ftp.iza.org/dp8835.pdf; Hills, J. (2015) The Coalition’s Record on Cash Transfers, Poverty and Inequality 2010-2015. LSE and ASE working paper 11. Available at: sticerd.lse.ac.uk/dps/case/spcc/WP11.pdf; Lavery, S. (2018) ‘The Legitimation of Post-crisis Capitalism in the United Kingdom: Real Wage Decline, Finance-led Growth and the State’, New Political Economy, 23(1), pp. 27–45. doi: 10.1080/13563467.2017.1321627.