หหุ้นไทยแพงแล้วหรือยัง?

หหุ้นไทยแพงแล้วหรือยัง?

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 100 จุด จากจุดต่ำสุดบริเวณ 1,600 จุดในเดือนพ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 1,717จุด ในขณะนี้

หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่าสาเหตุที่หุ้นขึ้นเพราะอะไร ผมรวบรวมข้อสังเกตของการขึ้นของ SET Index ในรอบนี้ ดังนี้ครับ

เริ่มจากในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ทาง MSCI หรือดัชนีอ้างอิงตลาดหุ้นที่มีความนิยมใช้ทั่วโลก ประกาศการปรับขึ้นน้ำหนักการลงทุนในประเทศไทย จากเดิม 2.3% เป็น 2.8% ซึ่งประเมินเป็นเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนจากกองทุนประเภท Passive รวมประมาณ 7.6 หมื่นล้าน โดยในวันที่ 28 พฤษภาคม 2019 ที่เป็นวันกำหนด Rebalance มูลค่าการซื้อขายหุ้นในวันนั้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 2 แสนล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 1.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้คาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มการลงทุนจากกองทุนที่ลงทุนประเภท Passive เท่านั้น ยังไม่รวมกองทุนประเภท Active ที่อาจจะมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยอีก ซึ่งเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในส่วนนี้จะทยอยเข้าอย่างต่อเนื่องและอาจมีมูลค่ามหาศาลถึง 1-2 แสนล้านบาท ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

ต่อมา พัฒนาการของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ยังดูไม่มีท่าทีว่าจะตกลงกันได้ ทำให้นักวิเคราะห์ทั่วโลกกังวลถึงผลกระทบของการค้าที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่อาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงหากมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในกลุ่มที่เหลืออีกประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ประกอบไปด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายเป็นส่วนใหญ่ (สินค้าที่ถูกประกาศขึ้นภาษีนำเข้าก่อนหน้า มักเป็นประเภทวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง ที่ผลกระทบยังไม่ถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้ายมากนัก) ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัว และธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด น่าจะมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น หรือลดดอกเบี้ยนโยบายลงนั่นเอง นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์กันว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ และ 2 ครั้งในปีหน้า หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยลดลงประมาณ 0.25% - 0.75% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% -  2.50%

ดังนั้น จึงเกิดการย้ายเงินลงทุนเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น เพราะคิดว่ามาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องทางการเงินจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่ปรับตัวลงแรง และการที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้น เราจึงเห็นเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน มียอดต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยสูงถึง 3.2 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ SET Index ทะลุระดับ 1,700 จุดมาได้

ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศ หลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้ต้องเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น เพื่อไม่ให้ผลการดำเนินงานของกองทุนด้อยหรือหักเหจากผลตอบแทนของ SET Index มากจนเกินไป จึงจำเป็นต้องเข้าซื้อหุ้นแม้ระดับราคาจะขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว จนทำให้ SET Index ยิ่งปรับตัวสูงขึ้นไปอีก

แต่หากพิจารณาสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่ายังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1 ของไทยเติบโตเพียง 2.8% ปัจจัยกดดันหลักๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นสงครามทางการค้า ทำให้ยอดส่งออกสินค้าของไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขล่าสุดเดือนพฤษภาคม ยอดการส่งออกของไทยติดลบไปถึง -5.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหากรวมตั้งแต่ต้นปี ยอดการส่งออกติดลบไปแล้ว -2.7% โดยการส่งออกไปประเทศจีนติดลบไปถึง -7.9%

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากจากทั้งเงินทุนไหลเข้าและเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ยิ่งกดดันภาคการส่งออก ทำให้แนวโน้มจีดีพีในไตรมาสที่ 2 น่าจะยังเติบโตต่ำอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 และจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี จากฐานการเติบโตที่ต่ำในปีที่แล้ว และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่น่าจะอนุมัติได้ในช่วงเดือนตุลาคม และจะเริ่มทยอยส่งผลต่อเศรษฐกิจเล็กน้อยในปลายปี และเริ่มชัดเจนขึ้นในปีหน้า ดังนั้น ผมจึงมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีนี้ลงเหลือ 3.0% และเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2020

ณ ระดับ SET Index 1,717 จุดนี้แพงไปแล้วหรือยัง หากพิจารณาการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นของตลาดที่นักวิเคราะห์ประเมินล่าสุด พบว่าอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 104.6 บาท โดยตัวเลขนี้ยังมีความเสี่ยงถูกปรับลดลง คาดว่าจะเหลือประมาณ 103.0 บาท จากการปรับลดสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบลดลง ทำให้เกิดส่วนขาดทุนสินค้าคงคลังในหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีภัณฑ์ รวมถึงการปรับสมมุติฐานค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยพยุง Valuation  ของ SET Index ไว้ได้นั่นคือค่าพีอีตลาดที่เหมาะสม หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลดลง ส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์เสี่ยงกับสินทรัพย์ปลอดภัยจะสูงขึ้น ค่าพีอีที่เหมาะสมของตลาดอาจปรับขึ้นได้ถึง 17-18 เท่า

นั่นหมายความว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้สูงถึง 1,750 – 1,850 จุด ทำให้จากระดับปัจจุบัน SET Index ยังมี Upside ถึง 2 - 8% โดยหุ้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาวะดอกเบี้ยที่กลับเป็นขาลง ได้แก่ ธนาคารขนาดเล็ก และธุรกิจเงินทุนและไฟแนนซ์ ที่ต้นทุนการเงินมีแนวโน้มลดลง หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีโอกาสถูกปรับเพิ่มมูลค่าที่เหมาะสมจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจส่งออกจะได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุด ทั้งผลกระทบจากสงครามการค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าครับ