เรื่องเล่าเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของ X, Xtra และ Y

เรื่องเล่าเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองของ X, Xtra และ Y

นักวิชาการจำนวนไม่น้อย (ต่อไปนี้ขอใช้ว่า X แทนนักวิชาการแนวนี้) เชื่อว่า รูปแบบการปกครองมีวิวัฒนาการไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิต

และเรื่องราวอื่นๆในโลกที่เริ่มจากจุดเริ่มต้นที่บรรพกาลและเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ก้าวหน้า และความหมายของคำว่าก้าวหน้านี้ ก็ยังมีแตกออกไปเป็นประเภทที่ก้าวหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กับประเภทที่ก้าวหน้าไปถึงจุดที่สมบูรณ์ที่สุดและจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรอีกต่อไป นอกจากจะเสื่อมถอย หากไม่สามารถรักษาจุดที่สมบูรณ์นั้นไว้ได้ X อาจจะมองว่า รูปแบบการปกครองในโลกเริ่มต้นด้วยการมีหัวหน้าเผ่าและเมื่อเผ่าขยายตัวไปมากและมีพัฒนาการด้านอื่นฯ หัวหน้าเผ่าก็จะพัฒนาเป็นกษัตริย์ และจากกษัตริย์ที่มีอำนาจไม่มากนักก็พัฒนามาเป็นกษัตริย์ที่อำนาจอันสมบูรณ์หรือที่เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิ์ และหลังจากนั้น ก็วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก มีได้ 2 แบบคือ แบบแรกเข้าสู่รูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์แต่มีสามัญชนขึ้นมามีอำนาจแทนโดยผ่านการเลือกตั้งมีวาระ รูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์แล้ว เรียกกันว่า สาธารณรัฐ แบบที่สองคือ ยังมีกษัตริย์อยู่แต่มีการจำกัดโดยกฎหมาย ซึ่งเรียกกันว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน X ก็เชื่อว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นแค่ทางผ่าน ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สาธารณรัฐอยู่ดี ไม่วันใดก็วันหนึ่ง และ X เชื่อว่า สาธารณรัฐเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ได้อีก 

แต่พวก X ยังมีแตกออกไปเป็นพวก Xtra นั่นคือ แม้ว่าจะเห็นด้วยกับ X แต่ Xtra ไม่เชื่อว่าวิวัฒนาการของรูปแบบการปกครองจะมาถึงจุดสุดท้ายอันสมบูรณ์ที่สาธารณรัฐ เพราะ Xtra เชื่อว่า มันจะวิวัฒนาการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และก็ไม่รู้ด้วยว่า รูปแบบการปกครองหลังจากสาธารณรัฐจะมีหน้าตาอย่างไร ทำได้ก็แค่จินตนาการกันไป 

 อย่างไรก็ตาม ฐานคิดของ X และ Xtra นั้นต่างมีอะไรร่วมกัน นั่นคือ เชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการที่พวกเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องเล่าที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมทั้งมนุษย์ นั่นคือ มนุษย์เราค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากลิง และเมื่อทฤษฎีวิวัฒนาการในสายชีววิทยามีอิทธิพลต่อสายรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ ทำให้มองว่า รูปแบบการปกครองก็มีวิวัฒนาการเช่นกัน เช่น เริ่มต้นที่ยังไม่มีการปกครองอะไร จนมาถึงการปกครองโดยหัวหน้าเผ่าและก็เรื่อยๆ มา เพียงแต่ X ต่างจาก Xtra ตรงที่ดันไปหยุดทฤษฎีวิวัฒนาการไว้ที่สาธารณรัฐเสียเฉยๆ ซึ่งไม่รู้ว่าเอาเหตุผลอะไรไปหยุด ส่วน Xtra นั้นเป็นพวกสายแข็งคือเชื่อว่าสาธารณรัฐเป็นแค่ทางผ่าน รูปแบบการปกครองเปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ซึ่งทุกวันนี้ ก็ดูจะมีเค้าลางอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจจะอยู่มนุษย์ และปกครองมนุษย์ กลายเป็นระบอบที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่เทคโนโลยี หรือจะอุตริตั้งชื่อว่า เทคโนโลยาธิปไตย ก็เอา

หากเปรียบกับวิวัฒนาการของมนุษย์ X เห็นว่าวิวัฒนาการจะมาหยุดตรงที่ความเป็นมนุษย์อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ถือเป็น มนุษย์รุ่นสุดท้าย” (the Last Man) ส่วน Xtra นั้นยังเชื่อว่ามนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะวิวัฒน์ต่อไปเป็น post-human และ post-post ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีสภาพเหมือนมนุษย์ต่างดาวอะไรแบบนั้นตามแต่จะจินตนาการกันไป หรืออาจจะสูญพันธุ์ไปก็ได้ เหมือนสัตว์บางชนิด 

 ส่วนนักวิชาการอีกพวกหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกว่า Y) ไม่ได้ปักใจเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการแบบที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างเป็นเส้นตรง แต่เชื่อว่า รูปแบบการปกครองของมนุษย์นั้นสามารถแบ่งในทางทฤษฎีได้ 3 แบบ นั่นคือ แบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆ เดียว แบบที่อำนาจอยู่ในมือของกลุ่มคนและแบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ แต่ทั้ง 3 แบบนี้จะไม่ค่อยมีเสถียรภาพมั่นคงเท่าไรนัก ขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจ ถ้าดีก็อยู่ได้นานหน่อย แต่จะนานแค่ไหน ก็ยากที่จะอยู่ยั้งยืนยง เพราะคนต้องมีตาย ต่อให้เป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม แต่ในกรณีที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ค่อยจะมีปัญหาเรื่องตายเมื่อเทียบกับแบบที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆ เดียวหรือกลุ่มคน เพราะในคนส่วนใหญ่ก็มีตายกันอยู่ทุกวัน แต่ความเป็นคนส่วนใหญ่นั้นยังดำรงอยู่เสมอ พูดง่ายๆก็คือ the People Never Die แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือ จะให้คนส่วนใหญ่ดีพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดความเสถียรภาพความมั่นคงในการปกครองนั้นยากอยู่ 

 ดังนั้น ในสายตาของ Y การปล่อยให้มีการปกครองแบบใดแบบหนึ่งใน 3 แบบนี้ดำรงอยู่อย่างมีอำนาจอันสมบูรณ์ย่อมมีเสื่อมอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน Y ก็เชื่อว่า ในการปกครองของมนุษย์นั้น ย่อมจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 3 นี้อยู่เสมอและเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติเสียด้วย นั่นคือ คนส่วนใหญ่หรือประชาชนจะต้องมีอยู่เสมอ ไม่งั้นจะมีรัฐไม่ได้ แต่ก็จะต้องมีคนๆหนึ่งเป็นผู้นำเป็นประธานตัดสิน และก็ย่อมจะต้องมีกลุ่มก๊วนที่เกิดจากการรวมตัวของคนที่เห็นพ้องต้องกันในอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ความเชื่อหรือความเป็นเครือญาติอะไรก็ตาม ดังนั้น เมื่อสังคมหรือรัฐย่อมมีองค์ประกอบทั้งสามนี้อยู่เสมอ Y จึงเห็นว่า รูปแบบการปกครองที่ดีน่าจะให้มีการแชร์อำนาจกันระหว่างสามองค์ประกอบนี้ นั่นคือ คนๆเดียวก็ต้องมีอำนาจ กลุ่มคนก็ต้องมีอำนาจ และคนส่วนใหญ่ก็ต้องมีอำนาจ 

 ซึ่ง Y เรียกรูปแบบการปกครองแบบนี้ว่า รูปแบบการปกครองแบบผสม (mixed constitution) เพื่อป้องกันไม่ให้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งมีอำนาจมากเกินไป เพราะถ้าปล่อยให้เพียวๆ (pure) แล้วจะเมาอำนาจ และไม่มีอำนาจใดจะมาตรวจสอบถ่วงดุลได้ แต่ถ้าผสม โอกาสเมาก็จะน้อยลง! แต่ในการผสมทางการปกครองนี้ ให้องค์ประกอบทั้ง 3 มีอำนาจเท่าๆ กันก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าเท่ากัน มันจะไม่ไปไหน คืองัดกันอยู่อย่างนั้น เหมือน shut down ! งัดมากๆ เข้าก็ฉีกขาดแตกออกเป็นส่วนๆ กันไป ดังนั้น Y จึงเห็นว่า ในการผสมก็จะต้องให้บางองค์ประกอบมีอำนาจสุดท้าย เรื่องจะได้จบ และ Y ยังลงไปในรายละเอียดอีกว่าบางเรื่องอาจจะจบที่คนๆ เดียว (อำนาจชี้ขาดโดยกษัตริย์หรือประธานาธิบดี) บางเรื่องจบที่คณะบุคคล (อำนาจชี้ขาดอยู่ที่รัฐสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญ) หรือจบที่คนส่วนใหญ่ (เลือกตั้งหรือประชามติ)  

ในทรรศนะของ Y รูปแบบการปกครองใด หากออกแบบไม่ดี มันก็จะเกิดการเหวี่ยงตัวไปที่องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง และอาจจะเหวี่ยงไปมาอย่างรุนแรง หมุนไปมาเป็นวงกลมระหว่าง 3 องค์ประกอบนี้ แต่ถ้าออกแบบให้ดีให้สมดุล การเหวี่ยงตัวแม้ว่าจะมี แต่ก็ไม่รุนแรง และไม่หมุนไปมา ในทรรศนะของ Y สาธารณรัฐก็ดี กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ดี จะอยู่ยั้งยืนยงมีเสถียรภาพและเป็นคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการปกครองของมนุษย์ (มนุษย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว) ก็ต้องอยู่ภายใต้การผสมผสานขององค์ประกอบทั้ง 3 อย่างเหมาะสม คำว่าเหมาะสมนี้คือ เหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศนั้นๆ เช่น ผสมแบบอเมริกา ผสมแบบอังกฤษ ผสมแบบฝรั่งเศส ผสมแบบเดนมาร์ก แบบสวีเดน  

เรื่องเล่าเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองระหว่างของ X, ของ Xtra และของ Y แบบไหนน่าเชื่อถือก็เลือกกันไป แต่เลือกยังไงอาจจะไม่ได้อย่างที่เลือก เพราะของแบบนี้ ไม่ว่าจะแนว X, Xtra และ Y มันไม่ได้เป็นของที่เลือกได้ แต่มันเป็นของที่ต้องเป็นไปตามกฎที่อยู่เหนือการเลือก !!