สถานการณ์ความมั่นคงต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย ในห้วงคร

สถานการณ์ความมั่นคงต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย ในห้วงคร

สถานการณ์ความมั่นคงของโลกในครึ่งปีหลังยังคงไม่สดใสเลย ยังคงมีความตึงเครียดในทุกภูมิภาค พยายามจำแนกเฉพาะประเด็นสำคัญที่น่าจะมีผลกระทบต่อไทย

โดยผลกระทบที่มีต่อไทยสามารถแบ่งออกมาได้ 5 กลุ่มง่ายๆ คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ฯ ความไม่มั่นคงในยุโรป ความแตกร้าวในตะวันออกกลาง การเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภัยคุกคามนอกแบบอื่น

ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ฯ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 น่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น อย่าพึ่งเชื่อว่าเขาจะตกลงกันได้ง่ายๆ เพราะถึงเวลาที่สหรัฐฯ จะยอมไม่ได้แล้วที่จีนดูเหมือนจะมีความคืบหน้าอย่างก้าวกระโดดทางทหารและไซเบอร์ ที่ผ่านมา สหรัฐ ฯ ยุค Donald Trump ประกาศกดดันจีนอย่างเปิดเผยในหลายมิติ ตั้งแต่ความพยายามโอบล้อมจีนด้วยการจัดตั้งยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific ซึ่งนับเป็นการขัดขวางการขยายอิทธิพลของจีนที่ผ่านทางยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives ไปในตัว นอกเหนือจากสงครามการค้า มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะยั่วยุจีนในทะเลจีนใต้บ่อยครั้งขึ้น ไทยในฐานะมิตรประเทศของทั้ง 2 ชาติและเป็นประธานอาเซียนน่าจะต้องถูกกดดันให้เลือกข้าง เช่น การห้ามบริษัท Huawei เข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐเป็นต้น นอกจากนี้ ผลเสียหายด้านความมั่นคงของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับจีน น่าจะปรากฏขึ้นบ้างแล้ว เช่น ก่อให้เกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจในไทย ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาสังคม

ยุโรปที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ จึงน่าจะประสบความไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการแยกตัวออกของอังกฤษ (Brexit) ที่จะเกิดขึ้นใน 31 ต.ค.2562 ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของอังกฤษจะกระทบต่อยุโรปและทำให้กระแสต่อต้านคนต่างถิ่นจะรุนแรงขึ้น กระแสชาตินิยมปกป้องผลประโยชน์พวกพ้อง เชื้อสายเดียวกัน กำลังเป็นปัญหาที่ทำให้สังคมยุโรปแตกร้าวอย่างที่สุด ขณะเดียวกันความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับนาโตที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นสะสม เช่น ปัญหายูเครน สายลับแทรกซึมและการยกเลิกข้อตกลงระหว่างกันต่างๆ ทำให้เกิดความตึงเครียดในยุโรป ไทยจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาเกาะเกี่ยวในอาเซียนโดยตรงมากขึ้นของอังกฤษและรัสเซีย

ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงมีอยู่ไม่จบสิ้น แถมยังซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ  แม้ว่ากลุ่มก่อการร้าย Islamic State (IS) จะสูญเสียที่มั่นหลักไปหมดแล้ว แต่สงครามในซีเรียยังคงหนักหน่วงด้วยว่า หลายกองกำลังยังไม่ละวางเจตจำนงและพื้นที่ยึดครอง ขณะที่ในอิรักความขัดแย้งของ 3 กลุ่มชนจะยังมีอยู่ ปัญหาปาเลสไตน์น่าจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างโจ่งแจ้งในเรื่องที่ไม่ควรทำ การช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่าง 3 ยักษ์ใหญ่ท้องถิ่น คือ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบียและตุรกีที่รุนแรงขึ้นและดึงรัสเซียกับสหรัฐฯ มาเกี่ยวข้องน่าจะกระทบต่อความปลอดภัยในอ่าวเปอร์เซีย ทั้งนี้ผู้มีแนวคิดหัวรุนแรงจะแพร่ขยายปฏิบัติการกระทบต่อไทย

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะทวีความตึงเครียดขึ้นขึ้นในหลายจุด เมียนมาประสบกับปัญหาความขัดแย้งทั้งในด้านกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา ที่ยะไข่ไม่ได้มีแต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏภาพซ้อนขึ้นมาของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวพุทธ Arakan Army (AA) ที่ปฏิบัติการรุนแรงขึ้น ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายสากลพยายามเข้าแทรกแซงปัญหาโรฮิงญา การต่อสู้ทางการเมืองในเมียนมาและกัมพูชาที่เรื้อรังต่อเนื่องอาจไม่ใช้ความรุนแรงแต่สร้างความวิตกต่อเพื่อนบ้านรวมทั้งไทย เช่นเดียวกับการรุกเข้ามาของจีนในภูมิภาคผ่านทางโครงการเส้นทางส่งกำลังบำรุงทางถนน รถไฟและทางน้ำ ที่มีมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อการจำต้องปรับตัวหลายอย่างในทุกภาคส่วนของไทย สำหรับการก่อการร้ายในประเทศที่กำลังบ่มเพาะ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าวิตกของกลุ่มหัวรุนแรงที่กลับมาจากตะวันออกกลางที่พยายามบ่มเพาะกำลัง พยายามก่อเหตุในอาเซียน ทั้งหมดนี้อาจเชื่อมโยงกับกระแสเรียกร้องสิทธิกำหนดใจตนเอง(Self Determination) ในปัตตานีได้ทั้งนั้น

ภัยคุกคามนอกแบบที่อาจกระทบต่อไทยในช่วงต่อไปนี้ นอกเหนือจากภัยจากโรคระบาดอุบัติใหม่หรืออุบัติภัยร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอแล้ว ยังต้องจับตาอุทกภัยที่มาจากพายุไต้ฝุ่นในฤดูมรสุม ขณะที่หมอกควันพิษน่าจะปรากฏอีกในปลายปี  การที่ปี 2562 เป็นปีที่ภูมิภาคเอเชียมีอุณหภูมิร้อนผิดปกติ นำไปสู่ธรรมชาติแปรปรวนอย่างคาดไม่ถึง อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของไทยในมิติต่างๆ ก็ได้

ปัญหาจากต่างประเทศที่กล่าวมาแล้วนั้นยังเป็นรองปัญหาในประเทศที่หนักหน่วงกว่า และด้วยว่าเพราะความขัดแย้งทางการเมืองนั้นเลยจุดสร้างความเชื่อถือไว้ใจระหว่างกันเสียแล้ว ก็อาจทำให้ความร่วมมือหรือยอมรับกันระหว่างชาติตะวันตกกับไทยอาจไม่เป็นไปอย่างที่เราหวังและรอคอยอีกด้วย