4 เส้นทางการเติบโตขององค์กร

4 เส้นทางการเติบโตขององค์กร

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่เริ่มพบเจอในองค์กรหลายๆ แห่งของเมืองไทย คือ ปัญหาเรื่องการเติบโตต่อไปในอนาคต

 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรที่เติบโตและประสบความสำเร็จมากับธุรกิจหลักเพียงธุรกิจเดียว

ลองนึกภาพดูองค์กรธุรกิจทั่วๆ ไปที่เติบโตและประสบความสำเร็จมาในธุรกิจๆ หนึ่ง ผู้บริหารและบุคลากรจะมีความคุ้นเคย คุ้นชิน กับวิธีการทำธุรกิจ การแข่งขัน ในรูปแบบของธุรกิจและอุตสาหกรรมเดิม เมื่อโอกาสในการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวเริ่มไม่สดใสเหมือนในอดีตทั้งจากสาเหตุของตัวอุตสาหกรรมเองและการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบ ทำให้ผู้บริหารจะต้องกลับมาทบทวนถึงกลยุทธ์ที่จะใช้ในการเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งพอมาถึงจุดนี้ผู้บริหารจำนวนมากก็มักจะเผชิญกับความไม่มั่นใจต่อทิศทางการเติบโตต่อไป เนื่องจากความคุ้นชินที่มีมาในธุรกิจเดิมเป็นหลัก อีกทั้งการทำงานในองค์กรและธุรกิจเดิมๆ มาเป็นสิบๆ ปี ก็มักจะทำให้ยากที่จะคิดถึงเส้นทางการเติบโตใหม่ขององค์กรได้

ถ้าดูที่เส้นทางการเติบโตขององค์กรต่อไปในอนาคตนั้น จริงๆ แล้วมีทางเลือกอยู่ไม่กี่เส้นทางด้วยกัน ประกอบด้วย

1) เติบโตในธุรกิจหลัก หรือใน Core Business เนื่องจากหลายครั้งผู้บริหารอาจจะเข้าใจว่าธุรกิจหลักดั้งเดิมเริ่มถึงทางตัน หรือ ไม่มีโอกาสในการเติบโตต่อไปได้อีก แต่จริงๆ แล้วธุรกิจหลักอาจจะยังมีโอกาสในการเติบโตต่อไปได้ ถ้ามองธุรกิจดังกล่าวด้วยมุมมองใหม่ๆ รวมถึงการนำเรื่องของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาผสมผสาน เช่น กรณีของธุรกิจสายการบินที่ในยุคหนึ่ง หลายๆ สายการบินเริ่มมองว่าธุรกิจดังกล่าวใกล้ถึงยุคอิ่มตัว แต่ด้วยการนำนวัตกรรมและมุมมองใหม่ๆ เข้ามาใช้ทำให้เกิดสายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้น และทำให้ธุรกิจที่เคยคิดกันว่าใกล้ถึงยุคอาทิตย์อัสดงกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ปัญหาที่มักจะพบคือองค์กร ที่อยู่ในธุรกิจมานานมักจะมองธุรกิจเดิมดัวยมุมมองใหม่กันไม่ค่อยออก และมักจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เสียมากกว่า

2) เติบโตในธุรกิจที่เสริมธุรกิจหลัก หรือ Edge of core business ซึ่งธุรกิจเสริมดังกล่าวก็คือธุรกิจที่เข้ามาส่งเสริมหรือสนับสนุนในธุรกิจหลัก ที่หลายๆ องค์กรมักจะมองข้าม แต่จริงๆ แล้วยังมีโอกาสในการเติบโตอยู่มาก เช่น กรณีของ Best Buy ที่เป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของอเมริกา ที่เข้าไปซื้อ Geek Squad ที่ให้บริการติดตั้ง ดูแล ซ่อมแซมบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ (ที่สามารถหาซื้อได้ที่ Best Buy) และกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินอย่างดีให้กับ Best Buy

3) เติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก หรือ Adjacent growth ซึ่งเป็นการขยายเข้าไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และสามารถใช้ความรู้ ความสามารถของธุรกิจหลักเข้าไปช่วยในการเติบโตได้ ตัวอย่างเช่น Nike ที่เริ่มต้นจากรองเท้ากีฬา แล้วขยายเข้าสู่เสื้อผ้ากีฬา จากนั้นเข้าสู่อุปกรณ์กีฬา และธุรกิจอื่นๆ ไปเรื่อยๆ โดย Nike ได้ใช้ความสามารถและความโดดเด่นในธุรกิจหลักของตนเอง ทั้งเรื่องแบรนด์ ความเข้าใจในตัวลูกค้า มาใช้เป็นฐานในการขยายการเติบโตเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ

4) เติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือ ที่หลายๆ บริษัทเรียกว่าการหา new S-Curve โดยเป็นการเติบโตในธุรกิจที่กำลังมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต (สร้าง S-Curve เส้นใหม่) โดยธุรกิจดังกล่าวอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับธุรกิจหลักเดิมที่มีอยู่เลยได้ ซึ่งการเติบโตในลักษณะนี้เป็นการวางเดิมพันขององค์กรไว้กับธุรกิจใหม่ที่ไม่มีความคุ้นเคย แต่มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต

เส้นทางการเติบโตทั้ง 4 ประการข้างต้น เป็นเพียงกรอบหรือแนวทางที่พบเจอจากหลายๆ องค์กรที่พยายามดิ้นรนแสวงหากลยุทธ์การเติบโตขององค์กรตนเอง อย่างไรก็ดี ในเรื่องของวิธีการ ข้อดี ข้อเสียของแต่ละเส้นทางนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากที่ผู้บริหารจะต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง