Facebook Libra : นวัตกรรมเปลี่ยนโลกการเงิน

Facebook Libra : นวัตกรรมเปลี่ยนโลกการเงิน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เล่าถึง Facebook Stable Coin ซึ่งในตอนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่า Coin ของ Facebook (Fb)

 จะถูกออกแบบให้มีลักษณะอย่างไร จนกระทั้งกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Fb ได้ออก White Paper เพื่ออธิบายถึง “Libra” หรือ ที่ Fb เรียกสิ่งนี้ว่า “Stable Digital Cryptocurrency” 

Libra คืออะไร

Libra คือ คริปโท ที่คิดค้นโดย Fb โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก โดยให้มีคุณลักษณะพิเศษหลักสามประการ คือ 1) ทำงานบน Blockchain เพื่อสร้างความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ 2) กำหนดให้มีสินทรัพย์หนุนหลังที่ชัดเจน 3) ถูกกำกับโดยกลุ่มสมาชิก Libra Association หรือ กลุ่มความร่วมมือของผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินและบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั่วโลก (Paypal, Uber และ Visa เป็นต้น) โดย Association นี้ จะทำหน้าที่เป็น Validator Node ให้กับระบบ Libra Blockchain หรืออาจกล่าวได้ว่า Association นี่เองที่จะคอยให้ Consensus ในธุรกรรมของ Libra ตามหลักการทำงานของ Blockchain

ดังนั้น การสร้าง Association ก็เพื่อลดปัญหาการแข่งขันและอุปสรรคในการสร้างความร่วมมือของผู้ให้บริการรายอื่น ๆ โดยดึงผู้เล่น (ที่อาจเป็นคู่แข่ง) ให้อยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน และกำหนดหน้าที่ให้เหมือนกัน คือ การควบคุมระบบ Libra โดยการให้ Consensus เพื่อบรรลุ goal ในการสร้างระบบ Global Currency ของ Fb ซึ่งแน่นอนว่าผู้เล่นรายต่าง ๆ ยินดีเข้าร่วม และในที่สุดการรวมตัวของบิ๊กเนมเหล่านี้จะช่วยการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Libra

Libra ไม่เหมือน BitCoin

แม้ Libra และ Bitcoin จะเป็นคริปโทเช่นเดียวกัน แต่ในรายละเอียดนั้น แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ ประการแรกหากพิจารณาจากการออก BitCoin เป็นคริปโทประเภท Decentralized ซึ่ง คริปโทประเภทนี้ จะไม่สามารถระบุตัวผู้ออกได้ และการได้มาต้องผ่านกระบวนการ mining ในขณะที่ Libra เป็นคริปโทในลักษณะที่สามารถระบุตัวผู้ออกได้โดยชัดเจน หรือที่เรียกว่า Privated – Entity Issued ซึ่งมักเป็นการออกโดยองค์กรธุรกิจ

ประการที่สอง BitCoin มีมูลค่าที่ผันผวน แต่ Libra มีค่าคงที่ตามแบบ Stable Coin โดยมูลค่าของ BitCoin นั้นเกิดจากปริมาณการซื้อขายในตลาดตามหลัก demand/supply ซึ่ง “ตลาด” ที่ว่านี้จะทำการตลอด 24 ชั่วโมง นั้นแปลว่า การซื้อขายเกิดขึ้นตลอดเวลาและราคาก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ในทางกลับกัน Libra ยึดหลักของ Stable Coin หรือเหรียญที่ถูกสร้างให้มีมูลค่าคงที่ โดยให้มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นการกำหนดมูลค่าและค้ำประกันราคาไม่ให้ผันผวนตามปัจจัยตลาดอย่างในกรณีของ BitCoin ซึ่งสินทรัพย์ที่ถูกนำมาหนุนหลังในกรณีของ Libra คือ เงินจริงๆ และให้รวมถึงเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) ซึ่ง Fb ยืนยันว่า Libra จะต้องมีสินทรัพย์หนุนหลังอยู่เต็มจำนวนเสมอ เพราะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับ Libra เช่น นำ Libra มาผูกกับมูลค่าของสกุลเงินโดยกำหนดให้ 1 Libra มีมูลค่าเท่ากับ xy USD เป็นต้น (โดยมากจะกำหนดแบบ 1 ต่อ 1 ตามหลัก Fiat-Collateralized) ดังนั้น จากหลักการเช่นนี้ผู้ใช้บริการจะทราบมูลค่าที่แน่นอนของ Libra ที่ถือครองอยู่เสมอ 

จะได้ Libra มาได้อย่างไร

White Paper กำหนดให้มี “Authorized resellers” หรือ ผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ขาย Libra โดยการขายทุกครั้งจะมีการประกันมูลค่ากับ assetsที่แลกเปลี่ยนอยู่เสมอเพื่อให้ Libra เก็บมูลค่าเท่ากับจำนวน/มูลค่าของ assets ที่ทำการแลกเปลี่ยน ซึ่งในปัจจุบัน Fb ยังไม่ได้ประกาศว่าใครจะเป็น Authorized resellers ดังกล่าวบ้าง แต่การให้มีผู้จัดจำหน่ายได้นั้นก็ไม่ต่างจากหลักการสร้างสาขาของธนาคาร ที่เป็นการกระจายการให้บริการไปยังที่ต่าง ๆ เพียงแต่ในกรณีของ Libra จะมี Authorized resellers อยู่ทั่วโลก และอาจรวมถึง Fb เองด้วย

ทำไมรีบเปิดตัว Libra  สำหรับผู้เขียน การเปิดตัว Libra ล่วงหน้านั้นมีนัย (มีกำหนดใช้ปี 2020) ผู้เขียนเชื่อว่า Fb ต้องการให้เวลา Regulators ทั่วโลกตั้งตัวและพิจารณากฎหมายที่มีอยู่ว่า “จะตีความให้ Libra เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใดภายใต้กฎหมายของตน?” กล่าวคือ บางประเทศอาจมองว่า Libra เป็นสกุลเงินหรือบริการชำระเงินประเภทใหม่ที่ผู้ให้บริการต้องมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องกับภาครัฐภายใต้กฎหมาย payment ต่าง ๆ หรือในบางประเทศอาจไม่ยอมรับธุรกรรมที่ใช้ Libra เป็นสื่อกลางเลยก็เป็นได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงคิดแทน Fb ว่า หากปล่อย Libra ให้ใช้ทำธุรกรรมได้เลยในทันที ย่อมมีโอกาสในการถูกต่อต้านจากรัฐบาลในหลายประเทศ และอาจนำไปสู่จุดจบของ Libra ได้โดยง่าย

บริบทกฎหมายไทย

กฎหมายไทยไม่ได้ต่างจากกฎหมายอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ยัง “ไม่ยอมรับให้คริปโทเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” ซึ่ง พ.ร.บ. เงินตรา กำหนดให้ “เงิน” มีความหมายเพียงแค่เหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่มีหน่วยเป็น “บาท” และต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังเท่านั้น ซึ่งในประเด็นดังกล่าวกฎหมายได้กำหนดชัดว่า เงินตราที่จะชำระหนี้ได้ตามกฎหมายต้องออกโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น และเงินตราหนุนหลังต้องเป็นเงินที่ออกโดยรัฐบาลไมใช่เอกชน

อย่างไรก็ดี กฎหมายได้มีข้อยกเว้นว่า “รมว.คลังมีอำนาจกำหนดให้ใช้วัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ เพื่อแทนเงินตราได้” แต่ Libra ไม่มีสภาพเป็นวัตถุ หรือเครื่องหมาย หากแต่เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีลักษณะทางกายภาพและไม่สามารถจับต้องได้ ดั้งนั้น ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงยากต่อการตีความให้เป็นเงินตราตามกรอบของกฎหมายปัจจุบัน ดังนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า Libra มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมากกว่าเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ คำถามคือ “Authorized resellers” หรือผู้ขาย Libra จะเป็นใครได้บ้างตามกฎหมาย โดยหากตีความให้เป็น Money Changer ตามกฎหมายควบคุมแลกเปลี่ยนของ ธปท. อาจติดอุปสรรคบางประการ กล่าวคือ การประกอบธุรกิจการรับซื้อ/ขายคืนเงินตรา ปัจจุบันจำกัดอยู่เพียง “การทำธุรกรรมระหว่างเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ” โดยยังไม่รวมถึง “การซื้อ/ขายระหว่างเงินตรากับคริปโท” และหากจะตีความว่าการซื้อขาย Libra ผ่านผู้ขายดังกล่าวอาจอยู่ในรูปศูยน์ซื้อขาย นายหน้า หรือ ผู้ค้า อาจต้องตีความตามกรอบของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล และต้อง ขออนุญาตในการประกอบธุรกิจจาก ก.ล.ต.

ท้ายที่สุด ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่มีผู้เล่นที่เรียกว่า “ธนาคาร” อยู่ในโลกของ Libra ซึ่งหากธุรกรรมทางการเงินในอนาคตจะตัดผู้เล่นรายสำคัญอย่างธนาคารออกไป แล้วธนาคารกลางทั่วโลกจะเหลือใครให้กำกับ? 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ]