ยกระดับด้วยแนวคิดใหม่&เทคโนโลยีทันสมัย

ยกระดับด้วยแนวคิดใหม่&เทคโนโลยีทันสมัย

การยกระดับประเทศให้มีความสามารถที่สูงขึ้น พ้นกับดักรายได้ปานกลาง ต้องใช้โมเดลการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับกับบริบทและแนวโน้มใหม่ของโลกใหม่

เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา International Institute for Management Development หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยในชื่อย่อว่า IMD ได้รายงานผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันล่าสุด (ปี 2019) ซึ่งรายงานเป็นประจำทุกปี สิงคโปร์กลับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 1 จากปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 3 ถือว่ามาทวงแชมป์คืนหลังจากที่เคยอยู่ในอันดับ 1 มาเมื่อหลายปีก่อนขยับสลับตำแหน่งกับสหรัฐบ่อยครั้ง โดยในปีล่าสุดไทยขยับขึ้นมา 5 อันดับจาก อันดับที่ 30 ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 25 ขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ตกลงมา 5 อันดับจาก 25 มาอยู่ที่ 30 กลับกันกับไทย มาเลเซียรักษาอันดับเดิมไว้ที่ 22 และเกาหลีในปีนี้อยู่ที่อันดับ 28 จากเดิมอันดับที่ 27

 

เมื่อพิจารณาลงไปในเกณฑ์หลักที่ใช้ในการจัดอันดับซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ (Economic performance) จะเห็นได้ว่าทำได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจในประเทศ (ขึ้นจากอันดับ 34 เป็น 30) การจ้างงาน (ขึ้นจากอันดับ 37 เป็น 21) หลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่น่าใช่ ใครๆก็บ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทำมาค้าขายยาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย จะเห็นได้จากปัจจัยระดับราคา (ขึ้นจากอันดับ 23 เป็น 29) แต่นี่คือผลการจัดอันดับโดยวิธีการเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆทั่วโลก แสดงว่ามีอีกมากมายหลายสิบประเทศที่แย่กว่าเรา

 

กลุ่มที่สองคือ ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) ดีขึ้นเล็กน้อย แต่ที่น่าจะเห็นผลชัดเจนคือการแก้ไขกฏหมาย หรือระเบียบต่างๆที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ลดข้อจำกัดความยุ่งยากลงไปได้พอสมควร (ขึ้นจากอันดับ 36 เป็น 32) การควบคุมนโยบายด้านการเงินการคลังยังทำได้ดี แต่ที่มีปัญหาคือกรอบการบริหารด้านสังคม (ตกจากอันดับ 45 เป็น 48) น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยหรือที่เรียกว่ารากหญ้า ซึ่งมีจำนวนมากในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

 

ส่วนกลุ่มที่สาม โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แม้ดูเหมือนดีขึ้น อาทิ สาธารณูปโภคพื้นฐาน (ขึ้นจากอันดับ 31 เป็น 27) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ (ขึ้นจากอันดับ 42 เป็น 38)  และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ขึ้นจากอันดับ 58 เป็น 55) แต่ก็ยังอยู่ในอันดับที่ต่ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาคงที่ที่อันดับ 56 ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะความรู้ความสามารถของคนไทยจะสะท้อนไปสู่ปัจจัยอื่นๆในอนาคต

 

กลุ่มสุดท้ายยิ่งน่าเป็นห่วง ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business efficiency) ที่เคยทำได้ดี เรียกว่าตกเกือบทุกตัว อาทิ ผลิตภาพและประสิทธิภาพ (ตกจากอันดับ 40 เป็น 43) การบริหารจัดการ (ตกจากอันดับ 24 เป็น 27) และทัศนคติและค่านิยมของผู้ประกอบการ (ตกจากอันดับ 17 เป็น 26) จากประสบการณ์ที่เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำกับมากมายหลายองค์กรในช่วงที่ผ่านมา และฝึกอบรมให้กับบุคลากรในทุกระดับ พบว่าความตื่นตัวในการยกระดับองค์กรและระบบการผลิตด้วยแนวคิดใหม่และเทคโนโลยีทันสมัย ยังเป็นไปแบบช้ามากๆ ทั้งๆที่ต้องรีบยกเครื่องขนานใหญ่แล้ว

การยกระดับประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับความสามารถการแข่งขันให้สูงขึ้น เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยควรตั้งเป้าไว้ในระดับ Top Twenty ของโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้โมเดลการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับกับบริบทและแนวโน้มใหม่ของโลกใหม่ โดยมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน และไม่สร้างผลกระทบที่เป็นลบสู่ภายนอก ที่เรียกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Growth – SDG) ไม่ให้ความสำคัญเฉพาะตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ต้องกำหนดนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายใหม่ในมิติอื่นๆด้วย อาทิ

Green growth – เพื่อลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดมลพิษ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทุกคนมีจิตสำนึกในการช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก มาเป็นวัสดุจากธรรมชาติหรือที่สามารถใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายๆครั้ง

Inclusive growth – เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำ จนทำให้เกิดช่องว่าง (gap) ที่นับวันจะห่างกันออกไปไกลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ การเข้าถึงข้อมูล และความช่วยเหลือต่างๆที่รัฐมีให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ต้องกระจายอย่างทั่วถึง และมุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพให้ชุมชนพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ใช่รอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

Productivity growth – เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้า และการบริการ ด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการจัดการด้วยแนวคิดใหม่ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยอยู่บนฐานของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่รวดเร็ว ไร้สาย และอัจฉริยะ

แนวทางการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวในภาคธุรกิจที่รัฐควรเข้าไปดำเนินการ อาทิ (1) การสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตแบบเดิมที่พึงพาแรงงานเพื่อนบ้าน ไปยังประเทศอื่นที่มีแรงงานจำนวนมาก ในอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าไทย (2) ส่งเสริมการยกระดับการผลิตจากแรงงานเข้มข้น มาเป็นระบบการผลิตใหม่ที่ทันสมัย สอดรับกับแรงงานไทยที่มีน้อยลง แต่มีความรู้สูงขึ้น (3) สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก กระตุ้นความสนใจให้เห็นถึงความสำคัญในการยกระดับการผลิต และการบริหารจัดการใหม่ที่ทันสมัย (4) พัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากร ที่สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม ด้วยการ Re-skill และ Up-skill (5) จัดให้มีการประเมินระดับความสามารถของบุคลากร และสมรรถนะขององค์กร โดยมีมาตรฐานสากลและการทดสอบรับรองที่ได้รับการยอมรับ ทำให้มีข้อมูลในการวางแผนในภาพใหญ่ต่อไป

 

ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ความสามารถการแข่งขันของประเทศสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยดึงดูดนักลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว สอดรับกับนโยบายผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ไฮเทคที่เป็น New S-Curve ได้เป็นอย่างดี