พฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่

พฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่

การสร้างเทคโนโลยีใหม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เป็นเรื่องที่อาจทำให้สำเร็จได้ไม่ยากนัก

แต่การทำให้เทคโนโลยีใหม่ที่สร้างขึ้นได้รับการยอมรับและนำไปใช้จากผู้คนทั่วไปมักจะเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาถึงความสำเร็จได้

ในชีวิตจริง จะเห็นได้ว่าเมื่อค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ผู้ค้นพบมักจะเกิดความคาดหวังที่สูงว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะต้องได้รับการยอมรับจากตลาด และผู้ค้นพบจะต้องได้รับผลตอบแทนจากเทคโนโลยีอย่างงดงาม 

หรือพูดในภาษาชาวบ้านว่า “งานนี้ต้องรวยแน่ๆ”

แต่ข้อเท็จจริงมักจะปรากฎว่า เทคโนโลยีที่จะได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง มักจะมีไม่มากนัก และมักจะทิ้งช่วงเวลาไประยะหนึ่งจนกระทั่งเกิดมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเข้ามาแทนที่

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในส่วนประกอบของรถยนต์

เริ่มตั้งแต่การผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1886 ซึ่งเป็นการผลิตแบบทีละคัน จนในปี 1908 หรือประมาณ 20 ปีต่อมา เฮนรี่ ฟอร์ด จึงพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ในสายการผลิตแบบต่อเนื่อง ในปี 1911 มีการใช้เทคโนโลยีสตาร์ทเครื่องด้วยไฟฟ้าแทนการใช้มือหมุนเครื่องยนต์ มีวิทยุติดในรถยนต์เป็นครั้งแรกในปี 1930 เริ่มมีการใช้ระบบกันกระเทือนโดยใช้แหนบสปริงในปี 1934 เริ่มมีระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ในปี 1951

ปี 1959 เริ่มมีเข็มขัดนิรภัยติดตั้งในรถยนต์ ปี 1960 เริ่มมีกระจกหน้าต่างไฟฟ้า ปี 1969 ใบปัดน้ำฝนสามารถปัดได้หลายระดับ ปี 1971 มีระบบเบรค ABS ปี 1973 มีระบบกรองท่อไอเสีย ปี 1988 เริ่มติดตั้งถุงลมนิรภัย ปี 2000 เริ่มใช้ระบบไฮบริดขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าควบคู่ไปกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมัน ปี 2003 มีการพัฒนากล้องมองหลังขณะถอยจอดและระบบนำรถเข้าจอดโดยอัตโนมัติ ปี 2014 รถยนต์เทสล่า สามารถบังคับพวงมาลัยได้เองทั้งในขณะวิ่งในเลนเดิมและมีการเปลี่ยนเลน และในปัจจุบัน รถยนต์ไร้คนขับเริ่มได้รับการทดสอบและมีการยอมรับมากขึ้น

เทคโนโลยีบางอย่างคิดค้นได้ก่อน แต่ยังไม่ได้รับความนิยม จนมาได้รับความนิยมในภายหลัง

การที่เทคโนโลยีอุบัติใหม่จะได้รับการยอมรับจากตลาดหรือผู้บริโภค จำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญหลายด้านมารวมตัวกันอย่างพอดี

ปัจจัยหลักเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคเกิดความสนใจที่จะลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ประกอบด้วย 1) คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่จะดีกว่าเทคโนโลยีเดิม 2) คาดหวังว่าเทคโนโลยีใหม่จะใช้งานได้ง่ายกว่าเทคโนโลยีเดิม 3) ถูกอิทธิพลทางสังคมครอบงำ จนต้องทำตามกระแสสังคมในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ และ 4) เห็นว่ามีปัจจัยแวดล้อมครบถ้วนที่จะอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีใหม่

3 ปัจจัยแรก คือความคาดหวังต่อสมรรถนะ ความคาดหวังต่อความง่ายในการใช้งาน และอิทธิพลของสังคม จะนำไปสู่การจูงใจให้เกิดการอยากลองใช้ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจทดลองใช้ในที่สุด ส่วนปัจจัยที่ 4 จะมีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการตัดสินใจใช้งานในทันที

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมที่ขึ้นอยู่ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น เพศชายจะมีแนวโน้มในการสนใจทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่มากกว่าเพศหญิง ช่วงอายุ ประสบการณ์ และความสมัครใจที่จะเป็นผู้ทดลองใช้ก่อนคนอื่น เป็นต้น

ทฤษฏีพฤติกรรมการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว ทำให้นักประดิษฐ์คิดค้น นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร หรือนักวิจัยที่มุ่งหวังจะสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ขึ้น ได้รับทราบและมองเห็นแนวทางที่จะทำให้เทคโนโลยที่คิดค้นขึ้นมาประสบความสำเร็จ

โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคาดหวังของผู้คิดค้นแต่อย่างใด

ทฤษฏีนี้ อาจนำไปประยุกต์ใช้สำหรับบรรดาสตาร์อัพ ที่พยายามแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะนำเสนอให้ผู้บริโภคได้เช่นกัน และอาจนำไปสู่การเพิ่มอัตราส่วนของสตาร์อัพที่ประสบความสำเร็จในตลาดได้มากขึ้น