นักลงทุนกับวิญญูชน

นักลงทุนกับวิญญูชน

ปรากฏการณ์รวยกระจุก จนกระจาย กลุ่มทุนขนาดใหญ่โตเอาโตเอา

ผมเขียนบทความนี้ขณะเดินทางมาจังหวัดลำปางเพื่อจัดการธุระปะปังบางอย่าง และในฐานะ 'วีไอ' ไม่ว่าจะไปเยือนจังหวัดไหนๆ ผมมักถือโอกาสสำรวจตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจและปากท้องของชาวบ้านด้วยความสนใจใคร่รู้อยู่เสมอ

ในช่วงเช้าของวันที่เขียนบทความอยู่นี้ ผมได้ไปเที่ยวที่วัดพระธาตุลำปางหลวง สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง โดยเพื่อนที่ไปด้วยกันได้สอบถามจากพ่อค้าแม่ขายที่ขายของอยู่หน้าวัดว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร ขายดีหรือไม่

ปรากฏว่า ทุกร้านที่เข้าไปทักทายต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 'ขายของไม่ค่อยจะได้' เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งก็ซบเซาอยู่แล้ว ปีนี้กลับแย่ยิ่งกว่าเดิม

พี่แม่ค้าคนหนึ่งเล่าว่า นอกจากนักท่องเที่ยวจะน้อยลงแล้ว คนที่มาเที่ยวยังไม่ค่อยใช้จ่าย จนแม่ค้าหลายรายอยู่ไม่ไหว ตัดสินใจเลิกกิจการ หันไปขายแรงงานที่แอฟริกากันมากต่อมาก

'ต้นทุนหลักพัน ขายได้วันละหลักร้อย ใครจะไปทนไหว' เธอบ่นให้เพื่อนของผมฟัง

ที่น่าสังเกตก็คือ ขนาดบริเวณหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็น 'แลนด์มาร์ก' ของจังหวัด ที่ปกติจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมเป็นอันดับต้นๆ ยังขายของได้น้อยขนาดนี้ แล้วจุดอื่นๆ จะไม่ยิ่งแย่กว่านี้หรือ?

ย้อนไปดูตัวเลข GDP ของประเทศที่เติบโตขึ้นราว 3-4 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ ชาวบ้านชาวช่องเดือดร้อนกันขนาดนี้ ตัวเลขมันโตขึ้นมาได้อย่างไร?

สาเหตุก็เป็นเพราะปรากฏการณ์ 'รวยกระจุก จนกระจาย' กลุ่มทุนขนาดใหญ่โตเอาๆ ขณะที่คนเดินดินกินข้าวแกงต่างเดือดร้อนจากความฝืดเคือง ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นหนี้เป็นสิน แม้ดัชนีเศรษฐกิจจะออกมาดี แต่พวกเขากลับไม่ได้รับประโยชน์โพดผลนั้นเลย

คำถามก็คือ 'เราควรทำอย่างไรในสภาวะเช่นนี้' หากจะให้ตอบโดยสวมหมวกของ 'นักลงทุน' ผมก็จะบอกว่า จงหาจังหวะที่หุ้นของบริษัท 'ทุนผูกขาด' เหล่านั้นปรับลดลงมาแล้วเข้าซื้อมัน ในเมื่อต้านไม่ได้ก็โดดเข้าไปเป็นพวกเดียวกับเขา ขอแบ่งผลประโยชน์ด้วยเสียเลย

แต่หากถอดหมวก 'นักลงทุน' แล้วสวมหมวก 'วิญญูชน' แทนที่เข้าไป เราอาจเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เป็นอยู่นี้มันถูกต้องแล้วแน่หรือ และมันจะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร มีทางที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่

แม้จะเป็นนักลงทุน แต่หากรู้จักสร้างสมดุล คือไม่เพียงคิดแสวงหากำไร ทว่ามีความรู้ผิดรู้ชอบ รู้จักฉุกคิด มุ่งหวังที่จะเห็นความเท่าเทียมยุติธรรมในสังคม นั่นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลงประเทศ ... ที่วันนี้ยังไม่เห็นแม้เพียงแสงรำไร