“เปลี่ยนวัฒนธรรม” อุปสรรคก้าวข้ามสู่สังคมดิจิทัล

“เปลี่ยนวัฒนธรรม” อุปสรรคก้าวข้ามสู่สังคมดิจิทัล

การเปลี่ยนแปลงแต่ละประเทศมักมีความต่าง โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมและสังคม

ผมสังเกตเห็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง พยายามนำเครื่องชำระสินค้าอัตโนมัติ มาให้ลูกค้าสแกนสินค้าและชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์ เพย์เม้นท์ (QR Payment) หรือบัตรเครดิต แต่คนส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะใช้แม้มีส่วนลดก็ตาม ทำนองเดียวกัน ผมเห็นความพยายามหลายหน่วยงานที่ผลักดันให้บ้านเราเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ใช้พร้อมเพย์เป็นช่องทางหลักการชำระเงิน แต่สุดท้ายพบว่า ร้านค้าและผู้คนส่วนใหญ่ยังเลือกใช้เงินสดแบบเดิม และมองว่าระบบพร้อมเพย์ บัตรเครดิต หรือการชำระเงินผ่านมือถือเป็นเพียงช่องทางเลือก

หลายหน่วยงานโดยเฉพาะบุคคลด้านไอที กำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ด้วยความคิดว่าเทคโนโลยีจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงธุรกิจ (Business disruption) และเข้าใจว่าธุรกิจจะปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วเสมือนการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด และผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็จะก้าวตาม แต่แท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงแต่ละประเทศมักมีความต่าง โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมและสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดก็ว่าได้

การเปลี่ยนวัฒนธรรมและพฤติกรรมสังคม หากขาดความเข้าใจสภาพสังคมที่แท้จริงก็ยากจะก้าวสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพราะคิดเพียงว่าเทคโนโลยีสร้างระบบออโตเมชั่นเพื่อทำงานแทนคน หรือคิดว่าสร้างความสะดวกสบายขึ้น

ประเทศไทยมีบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาสิบกว่าปี มีข้อมูลดิจิทัลที่จะอยู่ในบัตรจำนวนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้เรายังต้องสำเนาบัตร กรอกเอกสารพื้นฐานมากมาย แม้เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งสำคัญคือ กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเป็นสิทธิส่วนบุคคล ยังมีวัฒนธรรมการรักษาความลับ การปกปิดข้อมูล ดังนั้นการอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ข้อมูลในบัตรเพื่อทำธุรกรรมได้โดยง่าย จึงยังมีความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ปัจจุบันในหลายหน่วยงานยังเน้นใช้กระดาษ ส่งเอกสาร เพราะเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ต้องการเห็นเอกสาร จับต้องได้ ดังนั้นการลดใช้เอกสาร การให้ใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์จึงเกิดขึ้นยากเพราะเป็นวัฒนธรรมการทำงานของผู้ใหญ่ที่ต้องการเห็นเอกสารและเป็นผู้อนุมัติจากการลงนาม

บ้านเราคุยกันเรื่องบิ๊ก ดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ แต่แทบไม่เห็นการแชร์ข้อมูลธุรกรรม หรือให้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้ โดยมักจะพบคำบอกว่า “ข้อมูลเป็นความลับ” นั่นคือ วัฒนธรรมที่หวงข้อมูล คิดว่าการเก็บข้อมูลไว้กับตัวมากที่สุดคือการสร้างความสำคัญกับตัวเอง และข้อมูลคืออำนาจ

แม้เครื่องมือดิจิทัลที่สามารถทำงานร่วมกันแบบออนไลน์มีมานานแล้วและใช้แพร่หลายในประเทศ แต่ทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆ ยังเน้นการประชุมแบบเห็นหน้า เดินทางมาร่วมประชุม ไม่มีการทำคอนเฟอเรนซ์ คอลล์  มีการส่งเอกสารไปส่งมา โดยไม่มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลใดๆ ทั้งนี้ เพราะการประชุม คือ วัฒนธรรมของบ้านเรา และเราคิดว่าการเซ็นชื่อเข้าประชุมและส่งเอกสารคือการทำงาน

แม้จะผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสด แต่ผู้คนจำนวนมากยังยินดีใช้เงินสด ไปทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร เพราะคิดว่าเงินสดแสดงฐานะ และเชื่อถือการทำธุรกรรมต่อหน้าแบบเดิมๆ มากกว่าการใช้ออนไลน์ และบางคนไม่ต้องการให้ถูกตรวจสอบผ่านระบบดิิจิทัล

ที่กล่าวมาข้างต้นคือ วัฒนธรรมของสังคมไทย ตรงข้ามกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ที่ต้องเน้นความโปร่งใส การทำงานร่วมกัน การใช้ข้อมูล ความคล่องตัว สิ่งเหล่านี้อาจขัดกับวัฒนธรรมของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสที่ยังไม่อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลกันมากนัก

นอกจากวัฒนธรรมทางสังคมแล้ว ยังมีเรื่องทักษะเชิงดิจิทัลที่ยังต้องมี รวมถึงช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ดังนั้นหากประเทศไทยต้องการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้โดยเร็ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางสังคม และการทำงานในบางเรื่องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำทางต่อไป