ศึกหัวเว่ย

ศึกหัวเว่ย

สงครามการค้าจีนอเมริกาแม้ดูยิ่งใหญ่น่ากลัว แต่มันทำให้เจ็บหนักทั้ง 2 ฝ่าย จึงไม่อาจใช้ต่อเนื่องยาวนานและไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีที่สุด

อย่างมากก็แค่ฉุดดึงจีนให้ช้าลงหรือถอยหลังบ้าง ปัจจัยที่ตัดสินชัยชนะระยะยาวคือเทคโนโลยี ฝ่ายที่พัฒนาก้าวหน้ามากกว่าย่อมได้เปรียบและมีชัยในที่สุด สงครามเทคโนโลยีย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ใน “หัวเว่ย” เมื่อ 8/2/2562 (http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/646543) ผู้เขียนทำนายว่า “...หัวเว่ยต้องเผชิญมรสุมใหญ่ในปีนี้...  เกิดอะไรขึ้น ? มาตรการภาษีของทรัมป์บังคับใช้ 10 พฤษภาคม เพียง 5 วันจากนั้น เขาประกาศว่าหัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงและห้ามบริษัทอเมริกาทำธุรกรรมด้วย ผู้ผลิตชิปเช่น Intel, Qualcomm ระงับการส่งผลิตภัณฑ์ให้ บริษัทต่างชาติเช่น พานาโซนิคของญี่ปุ่น เออาร์เอ็ม (ออกแบบชิป) ของอังกฤษ ถูกแรงกดดันจนต้องตัดสัมพันธ์เช่นกัน วันที่ 19 กูเกิลสั่งห้ามอัพเดตแอนดรอยด์บนสมาร์ทโฟนอีก ปิดกั้นทั้งชิปและโอเอส หมากตานี้ร้ายแรงมาก แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อฝ่ายตน รัฐบาลอเมริกาจึงยืดเวลาออกไป 90 วัน

ถ้าเป็นบริษัทอื่น คงต้องยกธงขาวยอมแพ้ เหมือนเช่นยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของจีน ZTE ที่ยอมจ่ายเพิ่ม 1,000 ล้านดอลลาร์กลางปี 2561 จากที่จ่ายแล้ว 1,200 ล้านในปีก่อนหน้า แต่หัวเว่ยไม่ยอม เหรินเจิ้งเฟย-ซีอีโอประกาศว่า นี่เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าและเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว เขายืนยันว่ามาตรการคว่ำบาตรไม่ส่งผลกระทบต่อแผนขยายเครือข่าย 5G และบรรดาคู่แข่งไม่สามารถไล่ตามทันอย่างน้อยก็ 2 – 3 ปี ผู้นำในวอชิงตันประเมินหัวเว่ยต่ำเกินไป

ศึกหัวเว่ย

หัวเว่ยก่อตั้ง HiSilicon ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนและเซิร์ฟเวอร์ของตน ทั้งยังพัฒนาโอเอส หงเหมินในปี 2555 มันแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและทัศนคติที่ไม่ประมาทต่อทุกสถานการณ์ แม้พึ่งตัวเองได้ แต่หัวเว่ยก็ยังซื้อชิปและใช้โอเอสของอเมริกาต่อไป ยิ่งขยายตัวเติบโต ยิ่งยกระดับเป็นลูกค้ารายใหญ่ ทำให้ผู้ขายต้องพึ่งพาผู้ซื้อเช่นกัน นี่คือแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมและลึกซึ้ง ถึงวันนี้ถ้าปิดกั้นไม่ขายให้ ผู้ขายก็ต้องเจ็บหนักด้วย

แต่ข่าวร้ายยังไม่หมด วันที่ 7 มิถุนายน เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม และวอทส์แอพ ประกาศตัดสัมพันธ์กับหัวเว่ย เหรินเจิ้งเฟยไม่คิดว่าอเมริกาจะโจมตีซัพพลายเชนกว้างขวางขนาดนี้ เขายอมรับว่า มาตรการทั้งหมดจะทำให้ยอดขายคงตัวที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยสูญเสียยอดขายถึง 3 หมื่นล้านใน 2 ปีนี้ ขณะที่ยอดขายมือถือนอกจีนอาจตกมากถึง 60 % อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยจะไม่เลิกจ้าง ไม่ขายทรัพย์สิน ที่สำคัญคือไม่ปรับลดงบวิจัยและพัฒนา เหรินกล่าวว่า หัวเว่ยจะเกิดใหม่ภายในปี 2564

เหรินเจิ้งเฟยเกิด 25 ตุลาคม 2487 (ค.ศ. 1944) ไม่ทราบเวลา เขาก่อตั้งหัวเว่ยปี 2530 เหรินไม่ยอมร่วมทุนกับต่างชาติ แต่เลือกที่จะวิจัยและพัฒนาสินค้าเอง เป้าหมายคือพึ่งพาตัวเองทางเทคโนโลยีและแข่งขันได้กับทุกชาติทั่วโลก Stellium ของอาทิตย์อังคารพุธในตุลย์ 120 เสาร์เมถุน ชี้ถึงความเป็นเลิศด้านคำนวณและทักษะเชิงวิศวกรรม มฤตยูพฤษภ 90 พฤหัสสิงห์และ 60 พลูโตกรกฎ บอกถึงความคิดสร้างสรรค์และการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ อังคาร 90 พลูโตแสดงถึงจิตวิญญาณของนักสู้

ด้วยความสำเร็จที่ผ่านมาของหัวเว่ย คำประกาศของเหรินจึงมีน้ำหนักมาก คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาพูดได้ทำได้ นี่เป็นเหตุให้กูเกิลออกมาเตือนรัฐบาลว่า ถ้าไม่อนุญาตให้อัพเดตซอฟท์แวร์ เชื่อว่าหัวเว่ยจะพัฒนาโอเอสของตัวเองได้เร็วกว่าเดิม มันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอเมริกาและกูเกิลในที่สุด  ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาผู้ผลิตชิปก็ล็อบบี้รัฐบาลในทางลับเพื่อให้ยุติการคว่ำบาตร เพราะพวกเขาเสียหายหนักจากมาตรการนี้เช่นกัน ยุทธศาสตร์ของหัวเว่ยพิสูจน์ให้เห็นถึงความยอดเยี่ยมในช่วงเวลานี้เอง

คนมักมองว่าจีนล้าหลังทางเทคโนโลยี นั่นเป็นภาพในอดีต จีนปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ที่สำคัญคือจีนมีการลงทุนมหาศาลในบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มันสมองของชาวจีนก็ไม่ด้อยกว่าชาติใด ในยุคสงครามเย็นที่ถูกอเมริกาคุกคาม จีนสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์และไฮโดรเจนได้ด้วยตัวเอง ภายใต้การนำของดร.เฉียนเฉือเซิน (เกิดที่หางโจวในปลายราชวงศ์ชิง) โดยใช้เวลาแค่ 5 ปี เขายังพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปตระกูล “ตงเฟิง” และดาวเทียมดวงแรกอีกด้วย

มาตรวัดความก้าวหน้าที่ดีที่สุดอยู่ในเทคโนโลยีด้านอวกาศ วันที่ 3 มกราคม 2562 ยานอวกาศฉางเอ๋อ 4 ได้ลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์ และส่งยานสำรวจหุ่นยนต์อี้ว์ทู 2 แล่นสำรวจพื้นผิวในวันที่ 11 นี่ไม่ใช่แค่ความสำเร็จครั้งใหญ่ของจีน แต่เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติเลยทีเดียว วันที่ 5 มิถุนายน จีนยังประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดสู่อวกาศจากฐานยิงกลางทะเลอีกด้วย ความกังวลของอเมริกาต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน ย่อมไม่ใช่เรื่องไร้สาระหรือเกินกว่าเหตุแต่อย่างใด

ในโหราศาสตร์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ดูที่มฤตยู มฤตยูในดวงเมืองจีนอยู่ที่ 11:49 องศาเมถุน เมถุนเป็นราศีแห่งการซื้อขายแลกเปลี่ยน เส้นทางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีนจึงเริ่มต้นที่การพึ่งพาชาติอื่น ผ่านการร่วมทุน ซื้อโนว์ฮาว หรือลอกเลียน จนที่สุดก็ตกผลึกและนำไปสู่การพัฒนาด้วยตัวเอง จุดนี้ต่างจากมฤตยูพฤษภในดวงเมืองอเมริกาและเหรินเจิ้งเฟย พฤษภคือราศีแห่งการให้คุณค่า (Sense of Value) จึงเน้นที่การค้นคว้าวิจัยและสร้างสรรค์เองตั้งแต่ต้น

เสาร์ธนูเล็งมฤตยูเดิม เทคโนโลยีของจีนเผชิญปัญหาอุปสรรค เมถุนหมายถึงการสื่อสาร หัวเว่ยจึงโดนโจมตีหนัก เสาร์ยกเข้ามังกรตั้งแต่ 24 มกราคม 2563 แรงกดดันจะลดลง หรือได้รับการยอมรับมากขึ้น มฤตยูเมษโยคหลังและเข้ามุม 60 หัวเว่ยและจีนจะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นไปอีกขั้น

สงครามเพิ่งเริ่มต้น !