ฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย

ฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย

ภายหลังจากที่ประชุมรัฐสภาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เสร็จสิ้น

ขณะนี้ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้วนั้น ก็ทำให้มีความชัดเจนขึ้นในระดับหนึ่งว่าทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองไทยต่อจากนี้จะมีแนวทางเช่นใด

ในกรณีของต่างประเทศนั้น การพยากรณ์อนาคตของเศรษฐกิจที่อิงกับการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วในระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะอาศัยหลักคิดของทฤษฎีวัฏจักรเศรษฐกิจการเมืองที่ระบุว่า เศรษฐกิจจะมีทั้งขาขึ้นและขาลงเป็นวัฎจักรราวรอบละ 4 ปีตามช่วงเวลาการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และหันกลับไปใช้มาตรการรัดเข็มขัดมากขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์อนาคตของเศรษฐกิจการเมืองไทยนั้น น่าจะมีความสลับซับซ้อนยุ่งยากมากกว่า เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็กและต้องพึ่งพาภาคส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นเศรษฐกิจการเมืองไทยจึงมีความอ่อนไหวต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลกซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังอยู่เหนือการควบคุมด้วย

ในกรณีของเศรษฐกิจไทยนั้น เราน่าจะมีความชัดเจนในระดับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องแนวนโยบายหลักของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมารับไม้ต่อในไม่ช้านี้ว่า คงหนีไม่พ้นต้องสานต่อนโยบายการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลชุดก่อนนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่า แผนดังกล่าวนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ร่วมระหว่างผู้นำทางการเมืองในปัจจุบันและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่มีเป้าหมายต้องการจะก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ส่วนวิธีการที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนั้นได้หรือไม่ ก็น่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

ประการแรกคือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกกับพื้นที่รอบๆ และศูนย์กลางเมืองหลักที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะมีการลงทุนบางส่วนโดยภาครัฐบาลและบางส่วนโดยภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่มองเห็นโอกาส (และอาจคาดหวังด้วยว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต ภาครัฐก็คงมีมาตรการเยียวยาดังเช่นกรณีของทีวีดิจิทัลก็เป็นได้) ในขณะที่ภาครัฐเองก็ได้ประโยชน์เพราะจะช่วยลดภาระเรื่องการก่อหนี้สาธารณะที่สูงเกินไปหากต้องลงทุนเองด้วย ประการที่สองคือ การลงทุนต่อยอดและเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอนาคตของประเทศ จะขึ้นอยู่กับความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่จะได้รับข้อเสนอที่จูงใจให้เข้ามาลงทุน และประการที่สามคือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนี้คาดว่าจะได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกด้วยเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผลกระทบจากความไม่แน่นนอนของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐว่าจะมีความยืดเยื้อและรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุนของผู้ประกอบการเอกชนในระบบ Global Supply Chain ที่จะย้ายออกจากจีนว่าจะไปลงทุนที่ประเทศไหนในเอเชียต่อไปและอย่างไร และจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความผันผวนตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างไรด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการส่งออก และแผนการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนไทยไม่น้อย อีกทั้งยังจะสร้างปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มมากขึ้นด้วย จากปัจจัยภายในและภายนอกดังกล่าวข้างต้น จึงอาจสรุปได้ว่า ฉากทัศน์อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยที่เป็นไปได้ น่าจะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบคือ

แบบที่หนึ่งคือ ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ลดลงได้ แบบที่สองคือ ไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่กลับมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น และแบบที่สามคือ ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางและไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

ซึ่งความเป็นไปได้ของแต่ละฉากทัศน์ข้างต้นนี้ นอกจากจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกดังที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังจะขึ้นอยู่กับวิธีการบริหารจัดการของภาครัฐในการเลือกใช้เครื่องมือนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเป้าหมายเรื่องความเป็นธรรมในการกระจายรายได้เป็นสำคัญด้วย ยกตัวอย่างเช่น รัฐจะตัดสินใจเลือกแนวทางอะไร อย่างไร และใช้เวลานานเท่าไหร่ ระหว่างการให้สิทธิพิเศษทางภาษีและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จูงใจทางด้านการลงทุน ให้กับภาคธุรกิจเอกชนและโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องแลกมาด้วยการมีภาระหนี้สาธารณะของภาครัฐที่เพิ่มสูงมากขึ้น และจะกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อไปแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดจนถึงข้อจำกัดในเรื่องความสามารถในการให้บริการด้านสวัสดิการสังคมที่เพียงพอมากขึ้นด้วย ซึ่งทางเลือกแต่ละแบบของรัฐจะมีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ที่แตกต่างกันไป คำถามที่ตามมาก็คือว่า แล้วระบบการเมืองไทยที่จะมีการพัฒนาต่อจากนี้ไปจะสามารถสร้างระบบการชดเชยให้เป็นกับฝ่ายผู้ที่เสียประโยชน์ในสังคมได้อย่างเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งประเด็นเรื่องนี้ ก็จะมีสำคัญค่อนข้างมากที่จะย้อนกลับไปกำหนดโอกาสความสำเร็จของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน