ไทยพร้อมรับอาหารใจและอาหารกายหรือยัง?

ไทยพร้อมรับอาหารใจและอาหารกายหรือยัง?

ย้อนไปหลายปี ในระหว่างที่ผมเดินออกกำลังกายผ่านไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน นอกกรุงวอชิงตันของผมราว 2 กม.

ผมพบตู้ไม้ขนาดเล็กซึ่งข้างบนทำเป็นหลังคาและข้างหน้าเป็นกระจกตั้งอยู่บนเสาสูงราวหน้าอก ในเมืองไทย สิ่งนั้นย่อมเป็นศาลพระภูมิ แต่เนื่องจากตรงหน้าของตู้มีป้ายข้อความว่า Little Free Library และในตู้มีหนังสือหลายขนาดตั้งเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ผมจึงเข้าใจทันทีว่า นั่นเป็นห้องสมุดขนาดจิ๋ว หาใช่ศาลพระภูมิไม่ ภายในมีกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งพิมพ์ข้อความว่า นำหนังสือไปอ่านที่บ้านได้และจะนำมาคืนหรือเก็บไว้ก็ได้เช่นกัน หนังสือที่อยู่ในนั้นมีทั้งนวนิยายและสารคดีพร้อมทั้งยังมีหนังสือสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะอีกด้วย

การพบห้องสมุดขนาดจิ๋วนั้นจุดประกายให้ผมคิดว่า น่าจะทำในเมืองไทยบ้าง ทั้งนี้เพราะกัลยาณมิตรและผมมีโครงการสนับสนุนการอ่านที่ อ. บ้านนา จ. นครนายก ซึ่งนำเดินการโดยจิตอาสาของมูลนิธินักอ่านบ้านนาอยู่แล้ว ห้องสมุดขนาดจิ๋วจึงกลมกลืนกับงานในโครงการของเราเป็นอย่างดี จิตอาสาและกัลยาณมิตรในโครงการที่บ้านนาตอบรับแนวคิดทันที โดยมีบริษัท โอเรกอนอลูมิเนียม จำกัด รับสร้างตู้ชั้นดีให้และมูลนิธินักอ่านบ้านนารับจัดหาหนังสือ เราตั้งชื่อตู้นั้นว่า ห้องสมุดริมทาง” และนำไปตั้งไว้ตามหน้าร้านค้าขนาดเล็กริมถนนซึ่งเจ้าของร้านมีความกระตือรือร้นที่รับจะดูแล ณ วันนี้เรามีห้องสมุดริมทางแล้ว 5 หน่วย รวมทั้งหน่วยที่อยู่ในห้องรอพบแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านนา นโยบายของเราเป็นการให้ยืมไปอ่านที่บ้านได้ แต่ยังไม่มีการให้เปล่านอกจากเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เราจะขยายต่อไปเมื่อใดมีเจ้าของร้านค้าซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมสนใจให้การดูแล

ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของโครงการห้องสมุดขนาดจิ๋ว Little Free Library ซึ่งก่อตั้งโดยเอกชนในอเมริกา แนวคิดได้แพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วถึง 88 ประเทศและมีห้องสมุดชนิดนี้รวมกันกว่า 75,000 หน่วยแล้ว การแพร่ขยายเข้าไปในชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งในย่านที่มีคนยากจนส่งผลให้เกิดแนวคิดเรื่องการตั้งตู้แจกอาหารชื่อ Little Free Pantry ไว้ในย่านที่มีคนจนด้วย หน่วยแรกตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ณ หน้าโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองเล็ก ๆ ในรัฐอาร์คันซอ จากตู้อาหารขนาดเท่าตู้กับข้าวเขื่อง ๆ ของเราแต่มีหลังคาหน่วยแรกนั้น ณ วันนี้ในอเมริกามีตู้อาหารแบบเดียวกันกว่า 600 หน่วย รวมทั้งในย่านกรุงวอชิงตันและเริ่มขยายออกไปถึงหลายประเทศแล้ว นอกจากอาหารจำพวกที่เปิดรับประทานได้ง่าย ตู้เหล่านั้นยังมักมีของใช้จำเป็นอื่นๆ ใส่ไว้อีกด้วย เช่น ยาสีฟัน ยาสระผม กระดาษชำระและผ้าอนามัย รายงานบ่งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นที่ต้องการสูงไม่น้อยกว่าอาหาร

ตู้อาหารดังกล่าวแพร่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วเพราะอเมริกามีคนจนและผู้มีจิตกุศลจำนวนมาก รายงานล่าสุดของรัฐบาลอเมริกันบ่งว่า ประเทศของเขามีคนจนถึงขนาดขาดแคลนอาหารอยู่ราว 40 ล้านคนซึ่งเป็นเด็กราว 12 ล้านคน รัฐบาลมีโครงการแจกอาหารให้ แต่ไม่เพียงพอแก่ความจำเป็นของคนจน เอกชนจำนวนมากก็ทำเช่นกันรวมทั้งโครงการ “ธนาคารอาหาร” (Food Bank) ซึ่งครอบครัวของผมสนับสนุนอยู่ด้วย เรื่องความยากจนถึงขนาดขาดอาหารอย่างแพร่หลายนี้อาจมีคำถามตามมาจำนวนมาก แต่ยากที่จะพูดถึงได้ในพื้นที่จำกัด ประวัติศาสตร์บ่งว่า ความยากจนมีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาตลอด ยังไม่มีระบบเศรษฐกิจชนิดไหนที่สามารถขจัดมันได้ สิ่งที่รัฐบาลทั่วไปมักพยายามทำคือ หาทางช่วยเหลือคนจนอย่างทั่วถึงซึ่งก็ยังไม่มีรัฐบาลใดทำสำเร็จชนิดที่ไม่มีตกหล่น จิตกุศลในภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องช่วย

ในอเมริกา ตู้แจกอาหารดังกล่าวตั้งอยู่โดยไม่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่มีรายงานว่าเกิดการแย่งชิงสิ่งของในตู้ หรือตู้หาย ในเมืองไทยจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่น่าจะมีใครลองทำดู เราจะได้รู้ว่าจิตใจของคนไทยเป็นเช่นไรแน่ ในกรณีของห้องสมุดริมทาง ชาวบ้านนาเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าไม่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด หนังสือจะหายและตู้จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน