การเงินที่ยั่งยืน: ก้าวแรกสู่ความแข็งแกร่ง

การเงินที่ยั่งยืน: ก้าวแรกสู่ความแข็งแกร่ง

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับบทความนี้ สมาคมธนาคารไทยเพิ่งประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่อง “Sustainable Banking Guidelines” ครั้งล่าสุด

ซึ่งเป็นแนวทางที่จะใช้เป็นเสมือนกรอบการปฏิบัติสำหรับการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยในที่ประชุมมีการระดมสมองและร่วมกันวิเคราะห์อย่างเข้มข้นถึงรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติในด้านต่างๆ ซึ่งผมมองว่าไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร นี่คือก้าวแรกของบริบทที่สำคัญและมีความหมายสำหรับประเทศไทย ในยุคที่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นไม่อาจเล็งเห็นเพียงแค่ผลกำไรโดยมองข้ามปัจจัยทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาล

ขณะที่อุตสาหกรรมการธนาคารในประเทศไทยกำลังเริ่มปักหมุดเพื่อวางรากฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน พัฒนาการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในต่างประเทศมีความน่าสนใจและก้าวหน้าไปมาก ในฉบับนี้ผมจึงขอหยิบยกบางประเด็นจากรายงาน Sustainable Finance Progress Report ที่ได้รับการเผยแพร่โดย UN Environment ในเดือนมีนาคมมาแบ่งปันกัน โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความคืบหน้าด้านการเงินที่ยั่งยืนในระดับโลกตลอด 1 ปีที่ผ่านมาดังนี้

หากประชาคมโลกต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ให้ได้ตามที่ตั้งไว้ภายในปี 2573 หรือใน 11 ปีข้างหน้า เราจะต้องใช้เงินเพื่อลงทุนในจำนวนมากถึง 5-7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 160-224 ล้านล้านบาท) แต่ในปัจจุบันเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายนี้มีจำนวนน้อยกว่านี้มากนัก ทั้งนี้ลำพังเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่มีข้อจำกัดด้านงบดุลอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นเงินทุนจากภาคเอกชนจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะนำสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ รายงานดังกล่าวยังตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้เงินลงทุนภายใต้แนวคิดด้านการเงินที่ยั่งยืนจะยังมีไม่เพียงพอเท่าที่ควรแต่แนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืนกำลังกลายเป็นกระแสหลัก (Mainstream) มากขึ้นทุกขณะทั้งในภาครัฐและเอกชน ตัวเลขดังต่อไปนี้น่าจะช่วยให้เรามองเห็นภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในช่วงกลางปี 2560 ถึงกลางปี 2561

 ในตลาดแรก (Primary Market)

 - สินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับการอนุมัติระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 17 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีปริมาณเป็น 2 เท่าของที่ออกในปี 2560 ทั้งปี หรือ 4 เท่าของช่วงเดียวกันในปี 2560

 - เครือข่ายการลงทุนที่มุ่งสร้างผลกระทบทั่วโลก (Global Impact Investing Network: GIIN) ได้จัดทำรายงานผลสำรวจนักลงทุนที่มุ่งสร้างผลกระทบประจำปี 2561 ผ่านทั้งทางหุ้นและตราสารหนี้ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 โดยมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27

- พันธบัตรสีเชียวที่ออกในช่วง 11 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่พันธบัตรสีเขียวรุ่นแรกของโลกจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2561 มีปริมาณรวมกันเกินกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

ในตลาดรอง (Secondary Market)

- กองทุนเพื่อความยั่งยืนในยุโรปมีเงินไหลเข้าสุทธิเพื่อมาลงทุนทั้งสิ้น 32.1 พันล้านยูโร ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 28.8 พันล้านยูโรในช่วง 6 เดือนก่อนหน้า ขณะที่กองทุนเพื่อความยั่งยืนในสหรัฐอเมริกามีเงินทุนไหลเข้าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 924 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 ซึ่งมากขึ้นเกือบสองเท่าของตัวเลขเฉลี่ยต่อเดือนในปี 2560 ที่ 532 ล้านเหรียญสหรัฐ

 - จากการสำรวจแนวโน้มการลงคะแนนในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 4,090 แห่งที่จัดขึ้นในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายนปี 2561 พบสัดส่วนข้อเสนอของผู้ถือหุ้นสถาบันที่สนับสนุนเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2560 มาเป็นร้อยละ 29 ในปี 2561 (เทียบกับร้อยละ 19 ในปี 2557)

- จำนวนสัญญาที่ลงนามเกี่ยวกับการลงทุนภายใต้หลักการความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 1,714 สัญญาในเดือนเมษายนปี 2560 มาเป็น 1,961 สัญญาในเดือนเดียวกันปี 2561

นอกจากนี้ มีแรงหนุนจากนโยบายภาครัฐที่เห็นได้ชัดว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก มีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น และมีพัฒนาการที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทกว้างๆ คือ การจัดอันดับและประเภทสินทรัพย์หรือกิจกรรมด้านความยั่งยืน (Taxonomy and Labelling) เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างเกินจริงในด้านกิจกรรม    สีเขียว (Greenwashing) การให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดเงินทุนเอกชน การเปิดเผยข้อมูลที่ช่วยแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูล และการช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ เครื่องไม้เครื่องมือและขีดความสามารถ

ทั้งหมดนี้ช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเงินเพื่อความยั่งยืนในระดับโลก อันจะช่วยให้เรามีมุมมองที่สามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับพัฒนาการในประเทศไทยต่อไปครับ