เตรียมพร้อมรับมือดอกเบี้ยขาลง

เตรียมพร้อมรับมือดอกเบี้ยขาลง

ช่วงนี้ในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน หัวข้อที่พูดถึงกันมากยังหนีไม่พ้นเรื่องสงครามการค้า และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ถ้าสหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการเจรจาน่าจะกินเวลาอีกหลายเดือน และมีแนวโน้มยืดเยื้อ เพราะท่าทีของทั้งคู่ยังไม่มีใครยอมกัน

ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่หนักไปทางบังคับให้จีนต้องปฎิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ เช่น เปิดทางให้ต่างชาติลงทุนได้สะดวกขึ้น ยกเลิกการบังคับให้ธุรกิจต่างชาติถ่ายทอดเทคโนโลยีให้หุ้นส่วนในจีน ยกเลิกการสนับสนุนเงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการแทรกแซงค่าเงิน เป็นต้น รวมทั้งการกดดันทางอ้อมเพื่อชะลอพัฒนาการด้านเทคโนโลยีของจีน ย่อมทำให้จีนไม่ยอมตกลงง่ายๆ ในขณะเดียวกัน การประกาศตอบโต้อย่างแข็งกร้าวของจีน ก็อาจบีบให้สหรัฐฯ สร้างเงื่อนไขใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เพื่อกดดันให้จีนรีบยอมรับข้อตกลง

ในกรณีเลวร้ายที่สุด ถ้าตกลงกันไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีอย่างเต็มพิกัด บวกกับใช้มาตรการด้านอื่นเพื่อตอบโต้กัน ความเสียหายต่อเศรษฐกิจของทั้งคู่จะสูงมาก และจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เพราะสหรัฐฯ และจีนคือประเทศที่ใหญ่ที่สุดสองอันดับแรกของโลก มีมูลค่า GDP รวมกัน 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ 40% ของเศรษฐกิจโลก ประเทศใน Emerging Markets จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากการส่งออกในสัดส่วนที่สูง

ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบทางอ้อมจะเกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะตลาดการเงินจะปั่นป่วนหนัก ราคาหุ้นทั่วโลกจะกลับสู่ขาลง ซึ่งจะซ้ำเติมให้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจหดตัวลงอีก ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ และนำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตใหม่หมด

ผมเชื่อว่าในที่สุด สหรัฐฯ และจีนจะตกลงกันได้ เพราะมีแต่เสียกับเสียถ้าดันทุรังกันต่อไป และน่าจะบรรลุข้อตกลงได้ไม่เกินปลายปีนี้ โดยสหรัฐฯ น่าจะเป็นฝ่ายยอมผ่อนปรนเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ให้เวลาจีนมากขึ้นในการปรับตัว เพื่อเร่งให้จบการเจรจาก่อนเข้าสู่ฤดูการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในต้นปีหน้า จีนน่าจะได้เปรียบสหรัฐฯ อยู่เล็กน้อยตรงที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเลือกตั้ง และถ้าดูจากคะแนนนิยมของทรัมป์ที่เริ่มลดลง แรงกดดันน่าจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ ที่ต้องรีบปิดดีล

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้การค้าโลกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยิ่งน่าเป็นห่วง ถ้าดูจากดัชนีชี้นำอย่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ในเกือบทุกประเทศ ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มกลับมาติดลบอีกครั้งในเยอรมัน และญี่ปุ่น แม้กระทั่งสหรัฐฯ เองที่ภาวะเศรษฐกิจยังดูดี แต่ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ก็ยังลดลงถึง 0.50% ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา และเกือบ 1% นับจากต้นปี สะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนต่อทิศทางในอนาคต

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจ แปลง่ายๆ ก็คือ Fed เริ่มเป็นห่วงผลกระทบจากสงครามการค้า และเตรียมลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นักเศรษฐศาสตร์เริ่มคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ บางสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารดอชย์แบงก์ ประเมินว่า Fed จะลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) ในช่วงที่เหลือของปี

ประธานธนาคารกลางยุโรปก็ออกมาส่งสัญญาณคล้ายๆ กันว่าพร้อมลดดอกเบี้ยถ้าจำเป็น ธนาคารกลางจีน ก็เคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าพร้อมใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า ธนาคารดอยช์แบงก์ ประเมินว่าจีนจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วน ECB จะลดดอกเบี้ยหนึ่งครั้งในเดือนกันยายน และยังคาดว่าธนาคารกลางของอีก 9 ประเทศในเอเชีย (รวมทั้งไทย) จะลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน โดยลดลงเฉลี่ย 0.25-0.50%

การลดดอกเบี้ยพร้อมๆ กัน เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้วช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกใหม่ๆ ผลที่ตามมา นอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ก็คือการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินเกือบทุกประเภท การลดดอกเบี้ยพร้อมๆ กันในรอบนี้ แน่นอนว่าจะช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากเกินไป ตลาดหุ้นก็น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วย แต่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสงครามการค้าว่าจะจบลงอย่างไร