เปลี่ยนแปลงด้วยโมเดลใหม่

เปลี่ยนแปลงด้วยโมเดลใหม่

เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของเราจึงเป็นศิลปะที่ผู้บริหารจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

บทบาทการเป็นผู้นำองค์กรในยุคแห่งความผันผวนเช่นนี้ การลงมือทำจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่เห็นผลได้ชัดเจนที่สุด เพราะยุคที่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นรอบตัวมีความคิดใหม่ๆ ไอเดียแปลกๆ ทางธุรกิจเกิดขึ้นทุกวัน คนที่ได้แต่คิดแต่ไม่เคยลงมือทำ จึงไม่มีวันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ต่อมาคือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่าสนใจเพียงแค่ผิวเผิน ซึ่งจะทำให้เราคาดการณ์ผิดพลาดและขาดวิสัยทัศน์ที่จะนำองค์กรได้ ตามด้วยข้อที่สามคือ เมื่อเรามีแนวทางที่ชัดเจนแล้วก็ต้องสร้างความเชื่อให้คนในองค์กรมองเห็นร่วมกันด้วย

เพราะบางครั้งการมีความรู้ความเชี่ยวชาญเต็มเปี่ยมและมีวิสัยทัศน์ชั้นเลิศที่น่าจะนำพาให้องค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้แน่นอน แต่หากไม่สามารถสร้างความเชื่อให้คนในองค์กรมองเห็นเป้าหมายร่วมกันได้ ก็ไม่มีทางรวมพลังบุคลากรทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้

หากเรานำคนได้เพียง 5% เพื่อมุ่งไปข้างหน้า แต่คนที่เหลืออีก 95% ต้องการไปในทิศทางตรงกันข้าม ผลที่ได้ก็คือองค์กรย่อมเดินไปในทิศทางที่คนส่วนใหญ่ต้องการไปเท่านั้น ไม่มีทางที่เราจะใช้คนเพียง 5% ขับเคลื่อนองค์กรไปตามแนวทางที่ถูกที่ควรได้เลย

ข้อที่ 4 คือมองการบริหารเป็นศิลปะที่เราสามารถปรุงแต่งองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แตกต่างและหลากหลาย อย่ายึดติดกับรูปแบบการบริหารแบบเดิมแต่เพียงอย่างเดียว เช่นการลดต้นทุน การลดราคา ซึ่งอาจจำเป็นอยู่บ้าง แต่ธุรกิจทุกวันนี้ต้องใส่ใจกับการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของเราด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือร้านอาหารชั้นนำทั้งหลายที่เป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนอกจากมีราคาสูงมากแล้วยังต้องรอคิวยาวนานนับเดือนเนื่องจากมีลูกค้าเต็มตลอดทุกวัน ทั้ง ๆ ที่วัตถุดิบในการปรุงอาหาร ก็อาจไม่ต่างจากร้านอาหารชั้นดีทั่วไปมากนัก

นอกจากความอร่อยจากวัตถุดิบชั้นเลิศแล้ว ราคาที่สูงลิ่วจึงไม่ได้สะท้อนแค่ต้นทุนที่แท้จริงเท่านั้น แต่อาจเป็นศิลปะในการปรุงแต่งทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกันกลายเป็นประสบการณ์สุดพิเศษที่ลูกค้าได้รับ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็ไม่ได้สนใจด้วยว่าจะมีโปรโมชั่นอย่างไร ส่วนลดเท่าไร

การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการของเราจึงเป็นศิลปะที่ผู้บริหารจำเป็นต้องทำความเข้าใจ อย่าไปแข่งกันในตลาดที่ดุเดือดด้วยการลดต้นทุนและลดราคาแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการลดราคาถึงจะปรับลดจนไม่มีกำไรแต่หากไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าก็ไม่สามารถดึงดูดใจเขาได้เลย

ตรงกันข้ามกับการเพิ่มราคา ด้วยมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น แต่เป็นสิ่งที่เขาเสาะหามานานลูกค้าก็พร้อมที่จะจ่ายแพงขึ้นหากราคาสมเหตุสมผล การทำทุกอย่างเหมือนกับคู่แข่งแต่ราคาถูกกว่าจึงอาจไม่ใช่ทางออกเหมือนในอดีต การมีความแตกต่างเป็นมูลค่าเพิ่มที่ทำให้เหนือคู่แข่งจึงเป็นทางออกสำคัญสำหรับคนทำธุรกิจในทุกวันนี้ ซึ่งผู้บริหารต้องมองให้ออก

ข้อสุดท้ายคือโมเดลของธุรกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปอย่างมหาศาล โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผ่านแต่ละยุคแต่ละช่วงมาทีละน้อย ๆ จนเราอาจไม่สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง แต่โลกธุรกิจทุกวันนี้มีโมเดล ในการหารายได้และโมเดลในการทำกำไรที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ย้อนไปช่วงที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรา ระหว่างที่ทุกคนขายฮาร์ดแวร์กัน เป็นเทน้ำเทท่า ผมกลับมองเห็นโมเดลในการทำธุรกิจในยุคนั้นว่า “ซอฟต์แวร์” จะกลายเป็นตัวสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ เพราะคอมพิวเตอร์ล้วนต้องใช้ซอฟต์แวร์ การมีซอฟต์แวร์ภาษาไทยติดตั้งให้ผู้ใช้ได้นำไปใช้งานได้ทันทีจึงทำให้ประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น

ต่อมาก็เป็นยุคของอินเทอร์เน็ตและ “ข้อมูล” ซึ่งภาครัฐมีข้อมูลอยู่มากมายแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบให้ประชาชนเข้าถึง จึงเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมาในการให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการข้อมูลแก่สาธารณะซึ่งยังคงมีโมเดลเช่นนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การบริหารธุรกิจในทุกวันนี้ความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยีอาจมีให้เห็นไม่มากนัก แต่มุมมองความคิดและวิสัยทัศน์ในการบริหารต่างหากที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะจับใจลูกค้าได้มากกว่ากัน