คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (4)

คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return (4)

การแพร่กระจายของโซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ดีสรัปชั่น (Disruption) หรือพลิกโฉมธุรกิจหลายวงการ

รวมถึงมีผลต่อการท่องเที่ยวไทยด้วย ที่สำคัญขยายตัวรวดเร็วและก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบด้วยอานุภาพที่รุนแรงไม่แพ้กัน  เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีนักท่องเที่ยวจีนได้รับรู้เรื่องราวความประทับใจที่ได้มาเที่ยวเมืองไทยผ่านโซเชียลมีเดียและเกิดการแชร์เรื่องราว จนชาวจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากหันมานิยมมาเที่ยวเมืองไทย โดยเฉพาะเชียงใหม่ และภูเก็ตแบบก้าวกระโดด ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ้มกันไปถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ผลจากโซเชียลมีเดียเทคโนโลยีเดียวกันนี้เองที่ขยายข่าวร้ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวให้กลายเป็นข่าวใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นอดีตข่าวร้ายนี้อาจมีเพียงนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รู้กันอยู่ไม่กี่คนหรือบอกต่อกันวงแคบๆ เท่านั้น หากแต่ในยุคนี้โซเซียลมีเดียกลับทำให้มีผลกระทบมากขึ้นเป็นทวีคูณ เกิดการปลุกกระแสแบนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างน่าใจหายภายในเวลาชั่วข้ามคืนเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยก็ประสบกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ดังกรณีชาวจีนไม่พอใจกระแสข่าวเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และได้แพร่กระจายข่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางรัฐบาลไทย รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วนแสดงความเห็นว่าเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตเป็นการกระทำของคนจีนด้วยกันเองโดยชี้ว่าเป็นบริษัทผิดกฎหมายของทัวร์ศูนย์เหรียญ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวจีนเกิดกระแสความผิดหวังและระบุว่าจะไม่เดินทางมาไทย บางรายถึงขั้นเรียกร้องบอยคอตการท่องเที่ยวไทย อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชาวโซเชียลมีเดียจีนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คือ กรณีคลิปเหตุการณ์ที่มีบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองตบหน้านักท่องเที่ยวชาวจีน โดยคลิปดังกล่าวถูกถ่ายโดยชาวจีน แล้วโพสต์ในโลกออนไลน์ซึ่งทำให้มีการแชร์จำนวนมากจนเกิดกระแสความไม่พอใจ

 ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญความท้าทายจากโซเชียลมีเดีย หลายประเทศก็กำลังเผชิญกับเรื่องนี้เช่นกัน ดังกรณีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนถูกตำรวจสวีเดนผลักดันนำตัวออกจากโรงแรม ซึ่งรัฐบาลจีนได้ประณามต่อการกระทำนี้อย่างหนัก ที่สำคัญรายการทีวีแนวเสียดสีรายการหนึ่งของสวีเดนยังมีการนำเสนอภาพเชิงขบขันล้อเลียนว่า ชาวจีนรับประทานสุนัขและอุจจาระในที่สาธารณะ ปฏิกิริยาของชาวจีนในสื่อสังคมออนไลน์แสดงความโกรธเคืองและให้ความเห็น ติดแฮชแท็กแสดงความไม่พอใจต่อรายการโทรทัศน์ดังกล่าวของสวีเดนสูงมากถึง 34 ล้านครั้ง รวมถึงมีคนจีนจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่าจะเลิกไปเที่ยวสวีเดน จะเลิกซื้อสินค้าแบรนด์ดังของสวีเดน เช่น IKEA H&M เป็นต้น

โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากดังตัวอย่างที่กล่าวมา เป็นสื่อยุคใหม่เพราะเป็นสื่อที่ผู้บริโภคเป็นผู้สร้างขึ้นเอง (Consumer Generated Media) ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สามารถผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง (User Generated Content) ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภค หรือนักท่องเที่ยวมีบทบาทในการให้ความเห็นบวกหรือลบต่อสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก เช่น Trip Advisor ดังนั้นการโฆษณาลักษณะเดิมๆ การโฆษณาเกินจริง การทำอะไรแบบผักชีโรยหน้า ไม่ดีจริงจะอยู่ยาก เพราะผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ตรง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวลงโซเชียลมีเดียได้เอง ทำให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลอย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญโดยภาพรวมในแง่การท่องเที่ยว การจัดการข่าวสาร ข้อมูล การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่สำคัญ

ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลป่วนโลก (Digital Disruption) กำลังพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจในวงการต่างๆ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วย  และในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสั่นสะเทือนธุรกิจต่างๆ รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบหุ่นยนต์ เอไอ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) บิ๊กเดต้า เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality : AR) เทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ โซเชียลมีเดีย ตามที่เราได้เล่ามาในบทความ “คิดอนาคตท่องเที่ยวไทย High Risk-High Return” ทั้ง 4 ตอนนี้

แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะป่วนโลก แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสมหาศาลให้กับภาคการท่องเที่ยวด้วย  เพราะช่วยขยายตลาดได้อย่างก้าวกระโดด นั่นหมายความว่าโอกาสจากการสร้างรายได้ นำเม็ดเงินเข้าประเทศมีมหาศาล ทุกวันนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวประมาณ 38 ล้านคน แต่เรายังไม่ได้จับกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงมากนัก ก็สามารถสร้างให้เกิดรายได้ติดอันดับ 4 ของโลกและรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 20% ของจีดีพี เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถดึงให้นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มรายได้สูง ที่พร้อมจับจ่ายใช้สอยต่อหัวสูงๆ หรือดึงดูดชาวจีนมาเที่ยวเมืองไทยเพียงแค่ 10% ของประชากรชาวจีนก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140 ล้านคนและรายได้การท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าเลยทีเดียว นอกจากนั้น เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมาพร้อมๆ กับช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

แม้ว่าเทคโนโลยีช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทยด้วยจำนวนมากได้ภายในเวลารวดเร็ว ก็อาจเกิดเป็นดาบสองคมก็ได้ เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะเกิดปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวล้นทะลักจนเกินระดับที่ทรัพยากรธรรมชาติจะรองรับไหว อาจเกิดการสูญเสีย เสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางทะเลที่ต้องการเวลาในการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ หรือเกิดปัญหาขยะ น้ำเสีย มลพิษต่างๆ ตามมา

เหรียญอีกด้านที่มาควบคู่กับโอกาส นั่นก็คือ ความเสี่ยง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นความเสี่ยงที่หากละเลยจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง รวดเร็ว ชนิดที่ว่าอาจทำให้ธุรกิจล้มละลายภายในเวลาไม่กี่วันกี่เดือนก็ได้ แม้ว่าผู้ประกอบการจะทำกำไรจากธุรกิจนั้นมาตลอดชีวิตก็ตาม  เราพร้อมที่จะบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาสเหล่านี้แล้วหรือยัง?

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation