ทุนนิยมที่มีคุณธรรม (Virtus Capitalism)

ทุนนิยมที่มีคุณธรรม (Virtus Capitalism)

ทุนนิยมเป็นกระแสหลักของเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นแนวทางที่สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ทุนนิยมก็ถูกวิจารณ์ว่า

 เป็นตัวการสร้างผลกระทบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ความเหลื่อมล้ำ วิกฤติเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเอารัดเอาเปรียบแรงงานและผู้บริโภค การใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ

ความพยายามเสนอแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เพื่อแทนที่ทุนนิยม มีมาอย่างต่อเนื่องตลอดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสมัยใหม่ เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม เป็นต้น ซึ่งให้น้ำหนักกับบทบาทรัฐและเป้าหมายความเท่าเทียม แต่ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดเหล่านี้กลับขาดประสิทธิภาพและทำลายแรงจูงใจในการผลิต ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว

ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับ “ระบบที่ดี” ในบางแง่มุม ตามนิยามของผม เพราะเป็นระบบที่ทำให้คนชั่ว ทำดีโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ ผู้เล่นต่างแสวงหาประโยชน์ส่วนตน แต่กลับทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีประสิทธิภาพ เพราะการให้สิทธิในทรัพย์สิน (property right) สร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นลงทุนลงแรงเพื่อให้ได้รับผลตอบแทน การแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนาการผลิต คุณภาพสินค้าและบริการ

แต่ข้อด้อยที่สำคัญของทุนนิยม คือ ทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันของความสามารถ ข้อมูล การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ข้อจำกัดของผู้เล่นรายย่อย ความได้เปรียบของผู้เล่นรายใหญ่ยังเข้าไปมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลกติกาในระบบเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องและเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง

ระบบเศรษฐกิจที่ดีในความคิดของผม ไม่ใช่การล้มเลิกระบบทุนนิยม แต่รักษาจุดดีของระบบทุนนิยม แก้ไขจุดด้อยดังกล่าวข้างต้น ผมจึงได้เสนอแนวคิด ทุนนิยมที่มีคุณธรรม หรือ Virtus Capitalism ซึ่งเป็นแนวคิดเศรษฐกิจที่ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างแรงจูงใจของผู้เล่น ผสมผสานกับระบบสังคมนิยม ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์มากขึ้น

ทั้งนี้ ผมจะใช้กรอบแนวคิด “ไตรอารยสภาพ” คือ คน ระบบ บริบท ในการนำเสนอแนวทางการสร้างทุนนิยมที่มีคุณธรรม

คนคุณธรรม

ระบบทุนนิยมตั้งอยู่บนข้อสมมติสำคัญ คือ มนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นข้อสมมติที่ถูกโจมตีอย่างมากจากกลุ่มที่ต่อต้านทุนนิยม แต่ในความเห็นของผม ข้อสมมตินี้เป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด 

ผมเชื่อว่า ในแต่ละปัจเจกบุคคล มีทั้งความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพียงแต่ว่าจะมีอะไรมากกว่ากันเท่านั้น ผมได้กำหนดนิยามไว้ว่า “คนดี คือ คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว” แสดงว่า คนดีส่วนหนึ่งก็เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอยู่ด้วย เพียงแต่น้อยกว่าการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

ดังนั้นหากเราสามารถส่งเสริมคนดีให้เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เขาจะมีแรงจูงใจและมีทรัพยากรในการทำงานเพื่อส่วนรวมมากขึ้น เพราะตัวเองก็ได้รับประโยชน์ควบคู่ไปกับการทำเพื่อส่วนรวมด้วย

การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ควรจำกัดขอบเขตเพียงผู้ประกอบการธุรกิจ หรือผู้ประกอบการนวัตกรรมเชิงธุรกิจ แต่ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจที่มีจิตสำนึกสาธารณะ ผู้ประกอบการเพื่อสังคม และผู้ประกอบการนวัตกรรมทางสังคมด้วย

ระบบคุณธรรม

ผมมีตัวอย่างแนวคิดในการพัฒนาระบบทุนนิยมที่มีคุณธรรม อาทิ

- การพัฒนาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ ใช้ทดแทนหรือคู่ขนานกับ GDP ซึ่งจะทำให้การบริหารเศรษฐกิจไม่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างครบถ้วน เช่น การพัฒนาดัชนีวัดความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) เป็นต้น

- การปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจเพื่อการสร้างชาติ โดยการส่งเสริมให้มีสัดส่วนของธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติมากขึ้น ตามแนวคิด Dr. Dan’s Corporate Mission Spectrum ที่อธิบายถึงธุรกิจที่มีส่วนในการสร้างชาติ 4 ระดับจากน้อยไปหามาก ได้แก่ ธุรกิจที่สร้างกำไรเป็นหลัก ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ธุรกิจที่สร้างคุณค่าต่อสังคม(CSV) และธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ(CNB) ดังตัวอย่างแนวคิดของผมที่ว่า ประเทศไทยควรมีการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างน้อยสามแสนแห่งทั่วประเทศ เป็นต้น

- การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือการใช้กลยุทธ์ธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ทำให้ผู้เล่นรายย่อยสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น

- การเปิดโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต เช่น การสร้างหลักประกันการเข้าถึงทุนมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับทุกคน ด้วยระบบ Universal Basic Competency การกระจายทรัพยากรทางการเงินไปสู่กิจกรรมที่มีคุณค่า ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในกิจกรรมที่สร้างมูลค่าสูงเท่านั้น

- การพัฒนากลไกตลาดสำหรับบริการสังคม ทำให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง มากกว่าการที่รัฐจัดบริการสังคมเอง เช่น การพัฒนาตลาดทุนสำหรับธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ การออกพันธบัตรเพื่อการสร้างชาติ เป็นต้น ทำให้เกิดตลาดที่มีการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางสังคม

- การทำให้สินค้าเอกชนเป็นสินค้าสาธารณะ โดยการส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตสินค้า เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากสินค้านั้นได้ ลดการผูกขาดอันเนื่องจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือการที่รัฐซื้อสิทธิบัตรนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อให้ภาคเอกชนหลายรายทำการผลิต จะทำให้ราคานวัตกรรมถูกลง

- การทำให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ (peopleization) เช่น การเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามาเป็นเจ้าของวิสาหกิจที่ผลิตสินค้าสาธารณะ หรือ mutual business โดยอาจร่วมลงทุนเป็นเงิน แรงงาน หรือสินทรัพย์อื่น ซึ่งผมคิดขึ้นและเรียกว่า “การถือหุ้นโดยทุกคน” (Universal Share Holdings)

บริบทคุณธรรม

การพัฒนาทุนนิยมที่มีคุณธรรม จำเป็นต้องมีการพัฒนาบริบทที่เอื้อด้วย โดยเฉพาะบริบทการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมืองที่เปิดโอกาสให้คนดีเข้าสู่อำนาจ โดยไม่ต้องใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้ง

รวมทั้งการพัฒนาบริบททางสังคม โดยการส่งเสริมค่านิยมหรือสร้างแรงจูงใจทางสังคม ทำให้คนรวยยินดีบริจาคมากขึ้น ตามแนวคิดของผมเกี่ยวกับกฎ 3 ข้อสำหรับคนร่ำรวย ได้แก่ “หาเงินให้มากที่สุด ใช้ให้น้อยที่สุด บริจาคให้มากที่สุด

ในการสร้างชาติ ทุนนิยมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ไม่สามารถใช้เพียงลำพัง แต่ต้องใช้ผสมผสานกับเครื่องมืออื่นอย่างชาญฉลาด จึงจะสร้างชาติได้สำเร็จ