สิ่งที่ภาคธุรกิจรอจากรัฐบาลใหม่

สิ่งที่ภาคธุรกิจรอจากรัฐบาลใหม่

รัฐบาลใหม่ ประยุทธ์สมัยสอง ที่จะเข้ามาบริหารประเทศคงไม่มีเวลาทดลองงาน เพราะปัญหาต่างๆ ที่รอให้รัฐบาลแก้ไขมีมากเหลือเกิน

ที่สำคัญ แม้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาในช่วงห้าปีที่ผ่านมาจะมีมาก แต่ต้องยอมรับว่าแนวนโยบายแบบเดิมที่ทำมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ของประเทศได้ การแก้ไขต้องการความคิดใหม่ทางนโยบายที่ชัดเจนว่าจะพัฒนาประเทศไทยจากนี้ไปอย่างไร จะนำพาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศดีขึ้น เพราะถ้าแนวคิดและวิธีการทำงานยังไม่เปลี่ยน เศรษฐกิจของประเทศก็อาจไม่เปลี่ยนมากในช่วงห้าปีข้างหน้า ทำให้คนไทยและประเทศจะเสียโอกาส นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ความท้าทายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์สมัยสอง ยากกว่ารัฐบาลประยุทธ์สมัยหนึ่งมากเพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไปและปัญหาหลายปัญหารุนแรงและชัดเจนมากขึ้น

หนึ่ง ในส่วนของเศรษฐกิจโลก ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเป็นขาลง สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งกลายเป็นปัญหาการเมืองไปแล้ว มีผลทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงและมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสิบสองเดือนข้างหน้า หมายถึงอัตราการขยายตัวจะติดลบ ซึ่งจะมีผลมากต่อเศรษฐกิจไทยในแง่การส่งออกและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย เงินทุนต่างประเทศก็จะไหลกลับไปสู่ที่ปลอดภัย ซึ่งก็คือตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทย สร้างแรงกดดันต่อสภาพคล่องค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ เป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยากต่อการเติบโตและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

สอง ในความรู้สึกของประชาชน สะท้อนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชัดเจนว่าปัญหาที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนมากที่สุดขณะนี้ คือ ปัญหารายได้ต่ำ เงินในกระเป๋าไม่พอใช้จ่าย กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นในสังคมไทย ที่สะท้อนความไม่สมดุลย์ของการเติบโตของเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่ไม่ได้ทำให้ผลของการขยายตัวของเศรษฐกิจกระจายไปสู่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคม และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รุนแรง แม้รัฐบาลประกาศว่าจะมุ่งแก้ไข แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ ผลคือ คอร์รัปชั่นกำลังกระทบชีวิตประจำวันของประชาชน สร้างต้นทุนเพิ่มเติมให้กับธุรกิจและสร้างความไม่เสมอภาคในสังคม ทำให้ประชาชนทั้งประเทศไม่มีความสุข

สาม ในสายตาของนักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ ความห่วงใยขณะนี้อยู่ที่อนาคตและทิศทางของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว จากที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดถอยลงในช่วงที่ผ่านมาเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศักยภาพของเศรษฐกิจ นวัตกรรมและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยลง และประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและระบบข้าราชการ ซึ่งทั้งหมดกระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สาเหตุหลักของเรื่องนี้มาจากที่ประเทศไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบราชการอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการความก้าวหน้าตลอด ทำให้ประสิทธิภาพและความสามารถของระบบเศรษฐกิจที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ มีน้อยลง กระทบแรงจูงใจในการทำธุรกิจและการลงทุนของภาคเอกชน

สิ่งเหล่านี้กระทบโอกาสและศักยภาพของภาคธุรกิจที่จะเติบโต เห็นได้จากเศรษฐกิจของเราที่โตในอัตราที่ต่ำเทียบกับประเทศในภูมิภาค ภาคเอกชนลงทุนน้อยลง เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศลดลง กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในการทำธุรกิจมีมากขึ้น นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย การตัดสินใจของภาครัฐขาดความโปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ การแข่งขันในระบบธุรกิจมีน้อยลงจากอิทธิพลของบริษัทใหญ่ที่ใกล้ชิดรัฐบาล ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีน้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงจูงใจและพลังของภาคธุรกิจทั้งระบบที่น่าจะเป็นส่วนร่วมกับรัฐบาลในการพัฒนาประเทศได้ขาดหายไป กลายเป็นการบริหารเศรษฐกิจที่ทิ้งห่างจากภาคธุรกิจส่วนใหญ่และประชาชนอย่างน่าเสียดาย

ที่นักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ และภาคเอกชนติดตามอยู่ขณะนี้ คือ รัฐบาลใหม่จะบริหารเศรษฐกิจแบบรัฐบาลเก่า หรือจะตีออกจากรูปแบบเดิมที่จะลดช่องว่างระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชนให้มีน้อยลง เป็นการบริหารเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจ นักลงทุน และประชาชนจะสามารถหวังได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของประเทศ ที่จะเป็นสัญญาณให้ภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ และประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในทิศทางและความสามารถของรัฐบาลที่จะนำประเทศไปสู่การแก้ไขปัญหาและบรรลุศักยภาพที่ประเทศมี พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศดีขึ้น

เพื่อให้ความมั่นใจนี้เกิดขึ้น การประกาศนโยบายของรัฐบาลประยุทธ์สมัยสองจะต้องทำให้ภาคธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ และประชาชนมีความเชื่อมั่นและเข้าใจเจตนารมย์ของรัฐบาลชัดเจนในสามเรื่อง

หนึ่ง รัฐบาลมีแนวคิดชัดเจน(Clear thinking) เกี่ยวกับทิศทางที่จะพัฒนาประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อสื่อแนวคิดในสิ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญที่จะทำ ที่จะผลักดันประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนเห็นด้วยและเข้ามาสนับสนุน เป็นยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่ชัดเจนสำหรับช่วงห้าปีข้างหน้า สิ่งที่ภาคธุรกิจอยากเห็น คือทิศทางที่ประเทศและเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจที่จะกำหนดบทบาทของตนเองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุน​

สอง รัฐบาลต้องแสดงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจและระบบราชการอย่างจริงจัง เพราะอันนี้เป็นจุดเป็นจุดตายของอนาคตประเทศ ที่ผ่านมา เป็นที่เข้าใจว่า รัฐบาลยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการปฏิรูป จึงไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ผลักภาระไปข้างหน้าในรูปของแผน 20 ปี ซึ่งไม่ใช่การปฏิรูปและน่าเสียดาย เพราะเมื่อประเทศไม่มีการปฏิรูป ปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีก็รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ(Productivity) ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น ความโปร่งใสและประสิทธิภาพของระบบราชการ ที่ต้องตระหนักคือ การไม่ปฏิรูป คือการบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของคนไทยในอนาคต

สาม รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจว่า จะบริหารประเทศโดยให้ความสำคัญกับกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจไม่ใช้การแทรกแซงหรือใช้อำนาจรัฐให้ประโยชน์หรือสร้างความได้เปรียบเพื่อกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง รัฐบาลต้องรักษาการแข่งขันตามกลไกตลาดที่เป็นธรรม( Level Playing Field) ต้องรักษากฎหมาย และใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันต่อทุกฝ่าย( Rule of Law)เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบเติบโตและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ อย่าลืมว่าเศรษฐกิจประเทศอยู่ได้ด้วยภาคเอกชน ถ้าการแข่งขันในภาคเอกชนเสรีและเป็นธรรม พลังของภาคเอกชนก็จะพรั่งพรูออกมา เศรษฐกิจของประเทศก็จะเติบโต

นี่คือสิ่งที่ภาคธุรกิจกำลังรอจากรัฐบาลใหม่ ที่จะสร้างความแตกต่าง นำประเทศออกจากวังวนเดิมไปสู่ศักยภาพและอนาคตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้และอยากเอาใจช่วย