เศรษฐกิจโลกและไทย ต้องการยากระตุ้น

เศรษฐกิจโลกและไทย ต้องการยากระตุ้น

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ 'ภาวะถดถอย' หรือ 'Recession' ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และซ้ำเติมด้วยประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน เป็นปัจจัยผลักดันให้ภาครัฐฯและธนาคารกลางประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศตนเองพ้นการเข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประเทศไทยเองเราเชื่อว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเสร็จโจทย์แรกของรัฐบาลใหม่คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อประคองไม่ให้อัตราการเติบโตของ GDP ชะลอตัวลงไปมากกว่านี้   

ความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ (เราเคยเขียนประเด็นนี้ลงในบทความ มาตั้งแต่ปลายปี 2561) โดยล่าสุด Yield curve ของพันธบัตรสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Inverted yield curve หลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (อายุ 10 ปี) ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (3 เดือน) ของสหรัฐฯแล้ว และ Fed สาขานิวยอร์กได้ทำการพยากรณ์ ความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯอีก 12 เดือนข้างหน้า

จากข้อมูล Yield curve ดังกล่าว ล่าสุดสูงถึง 29.6% สูงสุดตั้งแต่วิกฤตปี 2551 เป็นต้นมา (ข้อมูลวันที่ 4 มิ.ย.) และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด เดือน พ.ค. เริ่มส่งสัญญาณอ่อนแอ โดยตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำกว่า Consensus คาดมาก และเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ประกอบกับทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด เริ่มทยอยออกมาส่งสัญญาณว่ามีโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้ตลาดการเงินเริ่มคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ก.ย. นี้ (อ้างอิงจาก สัญญาเฟดฟันด์ฟิวเจอร์) และตลาดปริวรรตเงินตรา เริ่มสะท้อนมุมมองดังกล่าวโดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ขณะที่ค่าเงินประเทศอื่นๆ (รวมถึงค่าเงินบาทไทย) แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เราเห็นการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ สำหรับเศรษฐกิจจีน ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าทางการจีนจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้เช่นกัน

กลับมาที่ประเทศไทย รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งกำลังจัดตั้ง และคาดว่ารัฐบาลใหม่จะเร่งเข็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ออกมา เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยที่ถูกปัจจัยลบจากต่างประเทศรุมเร้าในขณะนี้ และทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่มีการส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยนโยบายออกมา โดยเราประเมินว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่สำหรับระยะสั้น น่าจะเป็นการเข้าช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร (น่าจะออกมาในรูปแบบเงินประกันรายได้ฯ ตามนโยบายพรรคร่วมฯ), มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์, มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว, มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย, และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น และมาตรการระยะยาว เช่น เร่งเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบายต่างๆเป็นไปได้เร็ว น่าจะพอช่วยประคับประอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 3Q62 ไปได้    

ช่วงท้ายบทความ ขอกลับมาเข้าสู่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ หรือ Fund flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง คาดเป็นผลจากความคาดหวังทั้งจากเรื่อง การลดดอกเบี้ยของเฟด การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยเอง ทำให้ SET index ยังประคับประคองตัวให้อยู่ในกรอบ Sideway ได้ แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงเรื่องการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้ จาก i) ราคาน้ำมันปรับลงแรง และน่าจะลงต่อเนื่องใน 2H62 ทำให้ความหวังเรื่องกำไรจากสต๊อกน้ำมันในหุ้นกลุ่มพลังงานลดลง และอาจพลิกกลับเป็นขาดทุนได้เช่นกัน ii) เศรษฐกิจไทยใน 1H62 ที่ยังเติบโตในอัตราชะลอตัว iii) ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป (ผลจากการคาดการณ์เฟดจะลดดอกเบี้ย และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียเริ่มส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยลงแล้ว) ส่งผลลบต่อกำไรของหุ้นกลุ่มส่งออก และ iv) ประเด็นสงครามการค้าระหว้างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังไม่มีข้อสรุป

ในภาพรวมหากประเมินจากที่เราได้วิเคราะห์ไปข้างต้น เราประเมิน SET index ยังจะสามารถทรงตัว Sideway ได้ โดยได้แรงหนุนจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แต่หุ้นกลุ่มพลังงานน่าจะเป็นกลุ่มที่ควรชะลอการลงทุนในระยะสั้นไปก่อน (เสี่ยงเรื่องการถูกปรับลดประมาณการฯ) และผลจากการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ทำให้นักลงทุนไทยได้มีการขายหุ้น (ที่ติดมานาน) มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าตลาดฯ ทำให้คาดว่าน่าจะมีการหมุนวนจากหุ้นขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน) มายังหุ้นขนาดกลาง-เล็ก มากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐฯ เช่น หุ้นกลุ่มอสังหาฯ, หุ้นกลุ่มค้าปลีก, หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว, และ หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ เป็นต้น