Sad but True

ทำไมคนหลายมองเรื่องความเป็นผู้นำเป็นเรื่องไกลตัว มิหนำซ้ำยังมองเป็นภาระที่องค์กรต้องส่งพวกเขาไปเรียนมากกว่าขวนขวายพัฒนาด้วยตัวเอง

ดิฉันอยู่บนสายอาชีพการพัฒนาคนและผู้นำองค์กรมาเกือบ 20 ปี ได้มีโอกาสทั้งเป็นส่วนหนึ่ง และได้ฟังเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับผู้นำกับองค์กรนับครั้งไม่ถ้วน จนเกิดความสงสัยว่า คนเหล่านี้หากไม่ได้มีโอกาสทำงานในองค์กร พวกเขาจะสนใจการพัฒนาความเป็นผู้นำในตัวเองหรือไม่

เมื่อเดือนที่แล้ว ดิฉันได้ลองทำ Mini Survey กับคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ทำงานในองค์กร และคนที่ทำงานในองค์กรแล้ว แต่ยังไม่ได้อยู่ในสถานะผู้นำ ข้อมูลที่ได้ทำเอาดิฉันอึ้งไปไม่น้อย!

“ช่วงนี้ยุ่ง ไว้มีลูกน้องค่อยพัฒนา”

“อยากพัฒนานะ แต่บริษัทไม่ส่งไปเรียนสักที”

“อยากเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าเป็นผู้นำองค์กร”

“ไปบอกหัวหน้าดีกว่าไหม ดูท่าจะขาดเยอะ”

แปลกจัง ทำไมคนหลายมองเรื่องความเป็นผู้นำเป็นเรื่องไกลตัว มิหนำซ้ำยังมองเป็นภาระที่องค์กรต้องส่งพวกเขาไปเรียนมากกว่าขวนขวายพัฒนาด้วยตัวเอง หรือจะเป็นเพราะความเป็นผู้นำถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Job Description ที่ต้องใช้ในเวลางานเท่านั้น

ความจริง 3 ประการเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ

1. ความเป็นผู้นำไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง ความเป็นผู้นำคือการเอาตัวตนทั้งหมดของคุณไปในทุกบทบาทที่คุณกำลังทำ หากคุณคือผู้นำครอบครัว คุณก็สามารถนำทักษะความเป็นผู้นำครอบครัวนี้ไปใช้ในองค์กรได้ แม้ว่าคุณจะไม่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าในองค์กรก็ตาม บางครั้งคุณอาจลุกขึ้นมานำตามสถานการณ์โดยที่คุณไม่ได้อยู่ในบทบาทผู้นำองค์กรเลย

2. ความเป็นผู้นำไม่ได้แปลว่าคุณต้องเก่งที่สุด เรามักคุ้นเคยกับภาพผู้นำกล่าวเปิดงาน ตัดริบบิ้น รับรางวัล ออกสื่อ โอ้โห เป็นผู้นำได้ต้องเก่งนะเนี่ย แท้จริงแล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าผู้นำทำอยู่คนเดียว เก่งอยู่คนเดียว สิ่งเหล่านี้จะเกิดไม่ได้หากผู้นำไม่เปิดโอกาสให้ทีมได้คิด ได้ทำงานเป็นทีม ลองหาทางออก ลองลงมือทำ และชื่นชมในความสำเร็จของทีมร่วมกัน

3. ผู้นำที่ดีเชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่นมากกว่าตนเอง บางคนปฏิเสธโอกาสขึ้นตำแหน่งเพราะไม่อยากเป็นผู้นำ ด้วยเหตุผลต่างกันไป เช่น ไม่มั่นใจในตัวเอง, กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ, อยู่คนเดียวสบาย ๆ ต้องไปนำคนอื่นเดียวยุ่ง, ตัวเองยังเอาตัวไม่รอดแล้วจะไปนำใคร Steve Jobs เคยกล่าวไว้ว่า “เทคโนโลยีไม่มีค่าอะไร สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องมีความเชื่อมั่นในตัวคนว่าโดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นคนดีและฉลาด” เมื่อคุณแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนอื่นก่อน สิ่งที่คุณจะได้กลับมาคือความเชื่อมั่นในตัวคุณในฐานะผู้นำของเขา

ความเป็นผู้นำอยู่กับตัวตนของเราทุกที่ทุกเวลา ไม่จำกัดเฉพาะบทบาทในที่ทำงานเท่านั้น คนที่ Born to be a leader ไม่ได้แปลว่าเกิดมาก็นำได้เลย แต่คือคนที่ใส่ใจกับการเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำของตนเองอย่างไม่หยุดยั้งต่างหาก

วันนี้หากเรายังมองการพัฒนาความเป็นผู้นำในตนเองว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา คิดว่าการพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่รอได้ ความฝันที่จะได้ยินชื่อผู้นำไทยเป็นหนึ่งในผู้นำโลกคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน