เมื่อสาวๆ จะไม่ใส่ส้นสูง

เมื่อสาวๆ จะไม่ใส่ส้นสูง

ในเมืองไทย เราเห็นสาวใส่ส้นสูงจนชินตา บางคนสูงจนน่าเป็นห่วงว่า เธอจะสะดุดล้มและบาดเจ็บเอาได้ง่ายๆ 

แต่ที่ญี่ปุ่น สาวๆเรียกร้องสิทธิที่จะไม่ใส่ส้นสูง หลังจากนักแสดงสาว  ยูมิ อิชิคาวา ออกมารณรงค์ด้วยแฮชแท็ก #KuToo เลียนแบบกระแส #MeToo โดย Ku ย่อมาจาก Kutsu แปลว่า รองเท้า

การรณรงค์ของเธอดำเนินไปอย่างได้ผล สัปดาห์ที่แล้ว 3 มิถุนายน ผู้เรียกร้องได้ไปที่ กระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน ขอให้รัฐบาลสั่งองค์กรต่างๆ ห้ามใช้วิธี กึ่งบังคับให้สตรีต้องใส่รองเท้าส้นสูง ในการสมัครงานหรือในที่ทำงาน

ก็ถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ของการเรียกร้องสิทธิสตรีแหละครับ แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศแรก เพราะเมื่อปี 2016 พนักงานของบริษัท PwC ที่อังกฤษ ซึ่งเข้าไปทำงานวันแรก โดยสวมรองเท้าพื้นเรียบ แต่บริษัทขอให้เธอใส่รองเท้าส้นสูง 2-4 นิ้ว ตามระเบียบ เธอปฎิเสธ บริษัทก็เลยส่งเธอกลับบ้าน

หลังจากนั้น ชาวอังกฤษ 150,000 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้กำหนดข้อบังคับเรื่องนี้ แต่รัฐบาลปฎิเสธ โดยระบุว่าการที่จะใส่รองเท้าส้นสูงหรือไม่อย่างไร ในปัจจุบันก็มีกฎหมายอื่นที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อยู่แล้ว

 ถอยไปเมื่อปี 2015 ที่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เมืองคานส์สตรีวัยกลางคนจำนวนหนึ่งที่จะเข้าชมภาพยนต์ แต่พวกเธอสวมรองเท้าส้นเรียบ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเดินบนพรมแดงของเทศกาลนี้ ซึ่งผู้จัดงานได้ออกมาขอโทษในภายหลัง แต่ยังยืนยันว่า ต้องสวมรองเท้าส้นสูงเท่านั้น จึงจะเข้าไปเดินบนพรมแดงได้

 ปีต่อมา 2016 Julia Roberts ดาราดัง ก็เลยประท้วง เธอทำได้อย่างแนบเนียน โดยไปถึงงานในชุดราตรีสีดำสุดหรู สวมรองเท้าส้นสูงสีดำที่รับกันอย่างดี เธอเดินบนพรมแดงอย่างสง่างาม ตากล้องจำนวนมากถ่ายภาพเธอวูบวาบไปหมด แต่เมื่อเธอเดินผ่านพรมแดงช่วงแรกไปแล้ว ตอนขึ้นบันไดปูพรมแดง เธอก็สลัดรองเท้าออก แล้วก้าวขึ้นบันไดด้วยเท้าเปล่า ให้ตากล้องถ่ายภาพกันชุลมุน

 ระดับ จูเลีย โรเบิิร์ด ทำแบบนี้ ใครจะทำอะไรเธอได้ เมื่อเธอเดินขึ้นจนสุดบันได เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงนำรองเท้าไปให้เธอใส่อีกครั้ง แค่นี้ก็เป็นการประท้วง ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกแล้ว

 อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ ผู้จัดงานเทศกาลเมืองคานส์ ก็ยังยืนยันกติกาเดิม ว่าสตรีต้องสวมรองเท้าส้นสูงเท่านั้น จึงจะเข้าไปได้

 ส่วนที่ British Columbia ในประเทศแคนาดา เมื่อปี 2017 ได้มีประกาศห้ามบริษัทบังคับพนักงานให้ต้องใส่ส้นสูง เพราะอาจเป็นอันตรายได้ และยังเป็นการไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศอีกด้วย

 อย่างไรก็ตาม ต้นปีนี้ สายการบิน Norwegian Air ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เมื่อออกข้อกำหนดว่าพนักงานสตรีบนเครื่องบิน จะต้องมีเหตุผลทางสุขภาพ และมีหนังสือรับรองแพทย์เท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาติไม่ต้องสวมรองเท้าส้นสูง

 ดูเหมือนว่าเรื่องสาวกับส้นสูง กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก อีกไม่นานอาจจะมาถึงเมืองไทยก็ได้นะครับ

 ย้อนกลับไปที่ญี่ปุ่น การเรียกร้องเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง รัฐมนตรีแรงงาน นาย Takumi Nemoto ตอบสาวๆทั้งหลายแบบสั้นๆว่า การสวมรองเท้าส้นสูงในการสมัครงานและในที่ทำงาน จะต้องคงอยู่ต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับว่า เป็นความจำเป็น และเหมาะสม

 คุณ อิชิกาวา ผู้ริเริ่มการรณรงค์ครั้งนี้ เธอบอกว่า นี่เป็นก้าวแรก และเธอจะผลักดันต่อไป ซึ่งถ้ามีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสักวัน 

 ก็คงต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร แต่ที่ผมนำมาเล่าก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง ถือเป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็รวดเร็ว บางอย่างก็ต้องใช้เวลานาน เพราะทุกเรื่องย่อมมีประวัติศาสตร์ ประเพณี หรือวัฒนธรรม ที่มีมาก่อนเป็นเวลานาน

 การที่คนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ จะมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน เพราะเติบโตขึ้นมาคนละช่วงเวลา เวลาเราไปญี่ปุ่น เราจะเห็นคนทำงานที่นั่นแต่งตัวดี ผู้ชายใส่สูท ผู้หญิงใส่ส้นสูง ซึ่งรัฐมนตรีแรงงานญี่ปุ่น ก็เติบโตมาในบรรยากาศแบบนี้ เขาจึงเห็นว่าเป็นความเหมาะสมอยู่แล้ว

 ส่วนหญิงสาวรุ่นใหม่ ก็คงมองในเรื่องสิทธิสตรีเป็นหลัก โดยพวกเธอตั้งคำถามว่า ทำไมจะต้องบังคับให้เธอใส่ส้นสูงล่ะ ในเมื่อผู้ชายซึ่งเดินอยู่ที่ทำงานเดียวกัน ไม่ต้องใส่ซึ่งก็เป็นคำถาม ที่ตอบได้ยากเหมือนกัน

 ความท้าทายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ยังคงมีอยู่เสมอในทุกสังคม บางเรื่องก็ทำได้สำเร็จ บางเรื่องก็ล้มเหลว อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีเหตุผลว่าทำไมคนไทยจึงควรสวมหมวก ให้เหมือนอารยประเทศ แต่เขาก็ล้มเหลว เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีปฎิบัติของคนไทย

 แต่ในขณะที่สาวๆเรียกร้อง รัฐมนตรีแรงงานญี่ปุ่น ให้เลิกแนวปฎิบัติเดิมๆ เรื่องส้นสูง รัฐมนตรีต่างประเทศ กลับประกาศว่างานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นในปีหน้า เขาจะแจ้งสำนักข่าวต่างประเทศว่า การเขียนข่าวที่มี ชื่อคนญี่ปุ่น จะต้องเปลี่ยนไป

 เช่น นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe จะต้องเปลี่ยนเป็น Abe Shinzo เขาบอกว่า จีน และ เกาหลี เขียนชื่อสกุลก่อน แล้วตามด้วยชื่อตัว ในอดีตญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น แต่ถูกเปลี่ยนแปลงในยุคหลังให้สอดคล้องกับฝรั่ง รายงานของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2000 ระบุว่าควรจะกลับไปสู่ระบบเดิม ดังนั้น เขาจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนชื่อคนญี่ปุ่นทั้งหมดในสื่อภาษาอังกฤษ ให้เริ่มด้วยนามสกุล และตามด้วยชื่อตัว ให้ทันฤดูกาลแข่งกีฬาโอลิมปิก ปีหน้า

 เห็นไหมครับ โลกก็เป็นเช่นนี้แหละ เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง อะไรเหมาะสมที่จะเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยน แต่บางครั้งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แล้วกลับไปเหมือนเดิมก็มี  

 บ้านเมืองเราช่วงนี้ ก็มีผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง ทุกเรื่องมีทั้งผู้เห็นด้วย และเห็นแย้ง ซึ่งทุกฝ่ายควรรับฟังซึ่งกันและกัน พิจารณาถึงสภาพแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของประเทศประกอบด้วย แล้วทุกอย่างก็จะก้าวต่อไปด้วยดี

 เมื่อโลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผมก็ขอเปลี่ยนบ้าง วันนี้จึงขอจบแบบนี้ก็แล้วกัน....

 #ใจเย็นๆ #ชาติไทยของเราทุกคน #ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา