ใครทำลายนครวัดและอาจทำลายโลก?

ใครทำลายนครวัดและอาจทำลายโลก?

สัปดาห์นี้มีบทความของเอลิสัน คาร์เตอร์ นักโบราณคดีคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในคณะวิจัยที่เข้าไปศึกษาบริเวณภายในของนครวัด ลงพิมพ์ใน นสพ. วอชิงตันโพสต์

เป็นธรรมดา บทความจำพวกนี้ย่อมมีการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสถานที่ มีข้อน่าสังเกตว่าผู้เขียนอ้างถึงการโจมตีของไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามีบทบาทในการทำให้อารยธรรมเขมรในยุคนั้นเสื่อมลง แต่มิได้อ้างถึงอาณาจักรจำปาว่ามีบทบาทด้วยหรือไม่ เขามองว่านครวัดและอารยธรรมเขมรมิได้ล่มสลายดังที่มักเข้าใจกัน หากได้เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมซึ่งภูมิอากาศมีบทบาทสำคัญยิ่ง นั่นคือ อาณาจักรเขมรรุ่งเรืองอยู่ในช่วงที่มีฝนตกมากตรงตามฤดูกาล ทำให้มีน้ำเพียงพอให้บริบริหารจัดการได้ตามแผน แต่ปัญหาสาหัสเกิดขึ้นเมื่อฝนแล้งร้ายแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน

คณะของผู้เขียนบทความเข้าไปทำวิจัยหลายปีแล้วและได้รับอนุญาตให้ขุดเนินดินภายในบริเวณของนครวัดได้ การขุดเช่นนั้นไม่มีการทำมาก่อนและช่วยให้พิสูจน์ได้แน่นอนว่า ตามเนินดินเหล่านั้นมีการปลูกที่อยู่อาศัยซึ่งนักวิจัยรุ่นก่อนไม่คิดว่าน่าจะมี อย่างไรก็ดี หลังจากขุดเนินดินเพื่อศึกษามา 3 รอบ หรือฤดูกาล คณะวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครอาศัยอยู่ภายในบริเวณของนครวัดบ้าง พวกเขาได้ละทิ้งที่อยู่อาศัยไปเมื่อไรและเพราะเหตุใด คำถามเหล่านี้มีความสำคัญเพราะผู้วิจัยในคณะนี้มองกันว่าอารยธรรมเขมรไม่เคยล่มสลายและชาวเขมรไม่เคยทิ้งนครวัด

นักโบราณคดีไม่ต่างกับคนทั่วไปที่มองว่า นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่แสนยิ่งใหญ่ของสมัยโบราณและมีคุณค่าสำคัญทางด้านต่าง ๆ รวมทั้งทางเศรษฐกิจแก่ผู้ครอบครองพื้นที่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะมันเป็นแรงจูงใจให้เกิดกิจการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่และแก่ประเทศ ในกรณีของนครวัด แต่ละปี มีนักท่องเที่ยวเข้าไปชมถึง 2 ล้านคน อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปจะไม่มองกันว่าการก่อสร้างอันแสนยิ่งใหญ่นั้นมีต้นทุนที่แท้จริงเท่าไรและมันอาจเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้อารยธรรมโบราณล่มสลาย ร้ายยิ่งกว่านั้น ในบางกรณี มองกันว่าไม่มีต้นทุนเพราะเทพเจ้า หรือมนุษย์ต่างดาวสร้างให้เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์โบราณจะมีความสามารถสูงถึงสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นเองได้

จากมุมมองการเกิดและการเสื่อมโทรมของอารยธรรมโบราณขนาดใหญ่ เขมรเป็นอารยธรรมสุดท้ายที่เสื่อมลง ก่อนเขมรก็มีอารยธรรมมายาในอเมริกากลาง อารยธรรมกรีกและโรมันในย่านยุโรปตอนใต้และหลายอารยธรรมในย่านตะวันออกกลางรวมทั้งอียิปต์ บาบิโลนและแอสซิเรียน นอกจากความสามารถในการก่อสร้างขนาดใหญ่แล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้อารยธรรมโบราณเกิดขึ้นคือ ความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานทาสที่ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างสิ่งเหล่านั้น และแหล่งพลังงานที่ใช้ในการหุงต้มและทำความร้อนในกรณีของอารยธรรมที่อยู่ในเขตค่อนข้างหนาว เช่น กรีกและโรมัน นั่นหมายความว่า พวกเขาต้องตัดต้นไม้ในป่าเพื่อนำที่ดินมาใช้เพาะปลูกและนำไม้มาใช้ทำฟืน

เรามิอาจทราบได้แน่นอนว่าย้อนไปในสมัยนั้น คนโบราณจะรู้หรือไม่ว่าการตัดต้นไม้ในป่าจนเตียนโล่งจะมีผลกระทบต่อดินฟ้าอากาศจนส่งผลให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล พวกเขาอาจรู้ แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะจำเป็นต้องใช้ทั้งที่ดินและฟืน อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่พวกเขาหลีกเลี่ยงได้ แต่กลับไม่ทำคือ การใช้ทรัพยากรมหาศาลรวมทั้งไม้หมดไปกับการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพีรามิดในอียิปต์และอาณาจักรมายา มหาวิหารในอาณาจักรโรมันและนครวัดในอาณาจักรเขมร สิ่งก่อสร้างดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นเพราะความหลงผิดคิดว่าตนแสนยิ่งใหญ่ของชนชั้นผู้นำ

โลกทั้งโลกในยุคนี้มีลักษณะคล้ายหนึ่งในอารยธรรมโบราณ การล่มสลายของอารยธรรมในสมัยนั้นบ่งว่า ถ้าชนชั้นผู้นำยังหลงผิดคิดว่าตนแสนยิ่งใหญ่พร้อมกับยังเอื้อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม สังคมโลกย่อมหมดโอกาสที่จะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน