เตือน”ธนาธร”อย่าล้น เปิดเกมรุกแก้ประมง

เตือน”ธนาธร”อย่าล้น  เปิดเกมรุกแก้ประมง

เมื่อเผชิญกับปัญหา หากปรารถนาความสำเร็จในการแก้ไข ต้องกำหนดให้ชัดว่าที่ต้องการแก้คืออะไร ยิ่งเป็นปัญหาชองชาติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศในภาพรวม

 ยิ่งจำเป็นต้องชัดเจนและไม่ให้พลาดเป้า ทัศนะอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้อง รังแต่จะทำให้การกำหนดปัญหาเลอะเลือน ส่งผลการแก้ไขพร่ามัว ไม่มีประสิทธิภาพ ความกล้าหาญที่จะตัดสินใจและใช้ความเด็ดขาดในการปฏิบัติเพื่อจัดการแก้ไขเป็นเรื่องจำเป็น 

เมื่อสหภาพยุโรป (EU) ประกาศให้ใบเหลือง โดยกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) ก่อผลกระทบหนักหน่วงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากรายได้จากการส่งออกเป็นตัวจักรหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้ประเทศพัฒนาไปได้อย่างคล่องตัว และสินค้าประมงเเป็นมูลค่าหลักของการส่งออก หกาแก้ไขไม่ถูกต้อง จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนได้ยากลำบาก เป็นปัญหาต่อการพัฒนาชาติ อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนโดยรวม 

 ความชัดเจนของปัญหาจึงอยู่ที่ “ใบเหลือง” เป้าหมายของการแก้ไขคือทำให้ “EU” เปลี่ยนแปลงประกาศ ปลดประเทศไทยออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้ได้  คล้ายกับว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ของ “พ่อค้าส่งออก” แต่หากเปิดมุมมองให้กว้างออกไปจะพบว่าเรื่องนี้มีมิติที่ซับซ้อนกว่านั้นมากมาย  ข้อหา IUU มุ่งที่ไป “การทำประมงที่ก่อให้เกิดการทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเล” อันเป็นเรื่องวาระที่ถูกต้อง ข้อเรียกร้องจากใบเหลืองคือ การดูแลทะเลทั้งระบบ ซึ่งการจัดการไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ออกจะยากเย็นอย่างยิ่งเสียด้วยซ้ำ เพราะ “การประมงไทย” ก็ไม่ต่างจากอาชีพอื่น ที่หมักหมมปัญหาไว้มากมาย ด้วยความไร้ระบบ ระเบียบ

IUU คือการทุบโต๊ะว่า “ไม่ได้แล้ว” และ “ต้องแก้ไข” เพื่อคืน “ระบบนิเวศน์ให้ทะเล” โดยมีมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นบทลงโทษหากไม่ทำตาม  การ “ปลดใบเหลือง”เป็นภารกิจที่ถ้าไม่ทำให้เกิดขึ้น เท่ากับการปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหายอย่างหนัก  แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดผลดังกล่าวคือ “การฟื้นระบบนิเวศน์ทางทะเล”อันเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อทุกฝ่าย และทุกสิ่งในทางปฏิบัตินั้นหมายถึงการเข้าไปสร้างระบบ จัดระเบียบการทำประมงในน่านน้ำไทยครั้งใหญ่ เพื่อดูและระบบนิเวศน์ทางทะเลเกิดขึ้นอย่างถาวร

แต่อย่างที่บอกปัญหานี้หมักหมมมานาน เนื่องจากการวางระบบใหม่ และจัดระเบียบให้เป็นไปตามระบบที่วางย่อมก่อผลกระทบต่อความเคยชินของฝ่ายต่างๆนั้น ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ ไม่ยินยอมและหาทางต่อต้าน 

ผู้บริหารที่เข้ามาจัดการเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องใจแข็งที่จะมุ่งมั่นสู่จุดหมาย สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ โดยไม่โอนอ่อนไปตามเรียกร้องของความเคยชินที่จะทำให้การแก้ปัญหาสะดุดหยุดลงหรือล้มเหลว รัฐบาล คสช.รับบทบาทนี้ โดยมีความได้เปรียบตรงที่สามารถใช้ความเด็ดขาดในการจัดการอย่างกล้าหาญที่จะเผชิญกับแรงต่อต้านได้ ด้่วยไม่ต้องพะวงกับการไม่ยอมรับเหมือนกับนักการเมือง เป็นการหวังผลระยะยาว โดยยอมให้เกิดความไม่พอใจในระยะสั้น และที่สุด จากวันที่เริ่มมาตรการ จนมาถึงวันนี้

ปัญหา IUU คลี่คลายและจบลงแล้ว  สหภาพยุโรป (EU)ปลดใบเหลืองการประมงไทย ยกเลิกมาตรการกีดกดันการส่งออกทั้งหมด นำธุรกิจประมงไทยสู่ความเป็นปกติ  และผลที่ได้รับอย่างคุ้มค่ายิ่งคือ “ระบบนิเทศน์ทางทะเลไทย”ได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ “ระเบียบ และมาตรการ”ที่สร้างขึ้นมา จะรักษาระบบนั้นให้ยั่งยืนอยู่อย่างถาวร “นิเวศน์ทะเลไทย”จะไม่ถูกทำลาย เพราะ “การทำประมง”อีกแล้ว นั่นคือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอย่างชัดแจ้ง 

หากมองแบบซื่อๆ ตรงๆ ย่อมเป็นผลงานที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในความสามารถในการจัดการ และความเสียสละที่ต้องพร้อมรับความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด เพราะทัศนะที่มาจากความเคยชินอันไร้ระเบียบอย่างที่ว่ามา เรื่องควรจะจบลงอย่างสวยงาม และได้รับการบันทึกเป็นเกียรติภูมิในผลงานของผู้บริหารจัดการให้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น  แต่กลับกลายเป็นว่า เรื่องที่ควรชื่นชมนี้ถูกหยิบมาเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองไปเสียได้ 

หลัง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเผชิญชะตากรรมทางการเมือง ถูกตัดสินให้ “ยุติบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว” จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินในคดีถูกฟ้องร้องว่า “มีหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน” 

“หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่” เดินหน้าสู้ต่อด้วยการประกาศภารกิจ “เข้าถึงประชาชน” และบทบาท “ส.ส.นอกสภา” งานแรกคือ การจัดพบผู้ประกอบกิจการธุรกิจประมงที่อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ไม่มีอะไรผิดคาด ด้วยเป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้วว่า “นักธุรกิจประมงมหาชัย” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหา IUU โดยถูกบังคับให้เปลี่ยนความเคยชินในการประกอบอาชีพในทางที่ก่อปัญหา “ระบบนิเวศน์วิทยาทางทะเล” จะต้องให้ข้อมูลในมุมที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองในการที่จะได้คืนการประกอบอาชีพอย่างไร้ระเบียบนั้น เพียงแต่ในฐานะ “หัวหน้าพรรคการเมือง”ของ “คนรุ่นใหม่” ควรจะมีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่จะรับฟังแล้วสามารถมองเห็นได้ว่า “นั่นเป็นการนำเสนอปัญหาในมุมของความเคยชินที่ไร้ระเบียบ”

โลกในยุคที่ความรู้เรื่องสภาวะเวดล้อม และแรงกระตุ้นให้ร่วมกันตระหนักถึงภัยแห่งการทำลายระบบนิเวศน์ ควรอยู่ในกระบวนความคิดของ “ผู้นำรุ่นใหม่” ซึ่งจะทำให้สามารถมองเห็น “ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขความเคยชินกับการทำมาหากินอย่างไร้ระเบียบ และเป็นผลร้ายต่อภาพรวมของประเทศ และของโลก”ได้ไม่ยาก แต่อาจจะเป็นไปได้ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเร่งรีบที่จะรักษาพื้นที่ความนิยมซึ่งถูกกระทำด้วยชะตากรรมทางการเมืองมากเกินไป มุมมองต่อปัญหาที่ได้รับฟัง จึงถูกจับโยงเข้าสู่ทัศนะทางการเมืองในเชิงต่อต้านอำนาจของกองทัพ จนละเลยต่อปัญหาที่แท้จริงของเรื่องที่ได้รับฟัง

ด้วยหลังจากนั้น “น้ำหนักของประเด็น”ที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจนำเสนอจึงอยู่ที่ การมองว่า รัฐบาลใช้อำนาจจัดการกับ IUU โดยไม่ใส่ใจความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของประชาชน ใช้กลไกของกองทัพเข้ามาจัดการโดยไม่มีความดเข้าใจปัญหาเพียงพอ” เป็นการสะท้อนว่า เป็นการมองปัญหาด้วยทัศนะต่อต้านกองทัพ" และปล่อยให้ทัศนะดังกล่าวนี้ บดบังสภาวะของปัญหาที่แท้จริง ผลที่ตามมาคือการเสนอวิธีแก้ไขหลุดไปจากต้นเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ ด้วยการประกาศว่า “ถ้ามีอำนาจจะเข้ามารือระบบทั้งหมด ให้พลเรือนเข้าไปแก้ปัญหาแทนทหาร” นอกจากจะเป็นวิธีการที่ทำให้สถานการณ์กลับไปสู่ “สภาวะที่ไร้ระบบและทำลายระเบียบที่นำสู่ความสำเร็จอยู่แล้ว” ยังยากที่มั่นใจว่าในเรื่อง IUU นี้ “พลเรือน”ที่คิดว่ามีความสามารถมากกว่านั้น จะประสบความสำเร็จในการแก้ไขเหมือนที่รัฐบาลคสช.ทำสำเร็จมาแล้ว 

ทุกปัญหาของประเทศมีความสลับซับซ้อน เกิดขึ้นและคงอยู่ด้วยมิติต่างๆ มากมายที่มาประกอบกัน บางเรื่องเกี่ยวกับการเมือง บางเรื่องการเมืองไม่เกี่ยวเลย การแก้ไขจำเป็นต้องกำหนดกรอบของปัญหาให้ชัดเจนว่า คืออะไร และจะทำให้เป็นอะไร ด้วยวิธีไหน ความชัดเจนจะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องไม่มีทัศนะที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือล้นเกินมาปะปนกำหนด หากยังแยก “การต่อสู้ทางการเมือง” กับ “การแก้ปัญหาของชาติ”ไม่ออก หรือไม่เป็น

โอกาสหลงประเด็น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อการจัดการปัญหาของประเทศได้ง่ายๆ

โดย... พลเมือง 4.0