กรรมกรและนิยามที่ถูกลืม

กรรมกรและนิยามที่ถูกลืม

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า กรรมกร หากถามว่าใครคือกรรมกร คำตอบของแต่ละคนอาจแตกต่างหลากหลายเช่น

ผู้ใช้แรงงาน คนงานไร้ฝีมือ คนที่รับค่าแรงขั้นต่ำ คนที่ทำงานแบกหาม ฯลฯ แต่ในความหลากหลายเหล่านี้ หากพิจารณาให้ดีก็จะพบจุดร่วมกันที่สำคัญอยู่ด้วยนั่นก็คือกรรมกรคือคนทำงานที่ไม่ใช้ฝีมือในการทำงาน แต่ใช้แรงกายในการทำงาน

แล้วหากจะถามต่อไปว่า กรรมกร หมายถึงคนทำงานอาชีพใดบ้าง ไม่น่าเชื่อว่าคำว่ากรรมกรไม่เคยมีนิยามที่ชัดเจนจริง ๆ ถึงขนาดที่ว่าต้องมีการตีความกันในทางกฎหมายว่าอาชีพใดที่จะถือว่าเป็นกรรมกร ดังเรื่องที่กรมการจัดหางานได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือลักษณะการทำงานในตำแหน่งยามว่าเป็นงานกรรมกรหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจึงได้มีหนังสือตอบกรมการจัดหางาน ตามบันทึกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(กรรมการร่างกฎหมายคณะที่7) เรื่องเสร็จที่ 284/2540 โดยระบุว่า ในพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำมิได้กำหนดนิยามของคำว่ากรรมกรไว้ จึงอาจพิจารณาตามความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมว่ากรรมกรหมายถึงคนงาน ลูกจ้างที่ใช้แรงงาน เป็นจำพวกไม่ใช่ทาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะงานของกรรมกรว่า เป็นการทำงานที่ใช้แรงงานเป็นสำคัญ... ซึ่งในเอกสารความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ให้ความเห็นด้วยว่าอาชีพยามเป็นคนละอาชีพกับกรรมกร เพราะการทำหน้าที่ยามแม้จะเป็นงานง่ายๆ แต่ก็มิได้ใช้แรงงานเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องมีการฝึกฝนทักษะเพื่อให้มีระเบียบวินัย ยามจึงมิใช่อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเช่นเดียวกับกรรมกร การให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในครั้งนี้ จึงเป็นการย้ำให้สังคมปัจจุบันเข้าใจว่ากรรมกรคือผู้ที่ทำงานง่ายและใช้แรงเป็นสำคัญ

หากลองย้อนกลับไปดูในอดีตว่าเรารู้จักกรรมกรกันในความหมายใดบ้าง จะพบว่า พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2480 มาตรา 6 เขียนไว้ว่า “นายจ้าง ผู้จัดการหรือบุคคลอื่นซึ่งรับผิดชอบในงานอุตสาหกราม พาณิชยกรรม การเดินเรือทะเล กสิกรรมหรือโยธาหรือลูกจ้างซึ่งทำงานเหล่านั้น มีหน้าที่ต้องตอบข้อถาม และชี้แจงข้อความตามแนววัตถุประสงค์ ลักษณะและรายการที่กำหนดไว้ต่อกรรมการสอบสวนภาวะกรรมกรหรืออนุกรรมการแล้วแต่กรณี” จากข้อความในมาตรา 6 ของพ.ร.บ.สอบสวนภาวะกรรมกรนี้ทำให้เราทราบ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือตามพ.ร.บ.นี้ กรรมกร หมายถึงลูกจ้าง เพราะนายจ้างและผู้จัดการคงไม่นับว่าเป็นกรรมกรแน่ๆ เรื่องที่สองลูกจ้างที่จะถูกนับว่าเป็นกรรมกรได้นั้น จะต้องทำงานในกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเดินเรือทะเล กสิกรรมหรือโยธา โดยไม่แบ่งแยกว่าทำงานในตำแหน่งใด

ในปี 2522 การศึกษาเรื่อง ทัศนคติของกรรมกร ศึกษาเฉพาะกรณีสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยของ วรภาส รุจิโภชน์ ให้คำนิยามของกรรมกรไว้ในการศึกษาครั้งนี้ว่า “หมายถึงผู้ปฏิบัติงานรถไฟที่ไม่มีอำนาจการจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ให้บำเหน็จหรือลงโทษผู้ปฏิบัติงานคนอื่น” ซึ่งเป็นนิยามที่ผู้ศึกษาเอามาจากคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเจ้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งหากพิจารณาตามนิยามนี้เราก็จะพบว่ากรรมกรนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ทำงานในส่วนสำนักงานด้วย

ในปี 2529 การศึกษาเรื่อง นโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับกรรมกรระหว่าง พ.ศ.2475-2499 ของ จงใจรัก ปกพัฒนากุล” นิยามคำว่ากรรมกรว่าหมายถึง “คนที่ทำงานในตำแหน่งธรรมดาตามโรงงาน แต่ไม่รวมฝ่ายจัดการ นักวิชาการและนักวิชาชีพ ตลอดจนมีความหมายรวมถึงคนที่ทำงานด้านสาธารณูปโภค การขนส่ง อาชีพขับรถรับจ้างประเภทต่างๆด้วย” ถ้าพิจารณาตามนิยามนี้กรรมกรก็จะนับรวมถึงคนขับรถรับจ้าง เช่น คนขับรถแท็กซี่ด้วย

จากตัวอย่างการนิยามคำว่ากรรมกรที่ยกมานี้ แน่นอนว่าเป็นการเลือกหยิบยกการให้คำนิยามคำว่า กรรมกรจากข้อมูลและจากงานศึกษาบางส่วนเท่านั้น แต่กระนั้นก็ทำให้เห็นได้ว่านับตั้งแต่ในอดีต โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคที่คนไทยเริ่มที่จะเข้ามาครอบครองพื้นที่ตลาดแรงงานลูกจ้างและแรงงานในเมือง สังคมไทยไม่ได้มีการบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่ากรรมกรคือผู้ที่ทำงานที่ต้องใช้แรงมาก เช่นนี้แล้วเพราะเหตุใดและตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่สังคมไทยเข้าใจกันไปว่า กรรมกรคือผู้ที่ต้องใช้แรงกายเป็นอย่างมากในการทำงาน และงานกรรมกรจึงเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายเป็นสำคัญในการทำ (อันมีนัยว่าเป็นงานง่ายๆไม่ซับซ้อน)

ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เพียงคำว่า กรรมกร ที่มีการแปรความหมายไปจากในอดีต แต่สังคมไทยยังประดิษฐ์คำใหม่ๆ อย่างคำว่า คนงานและผู้ใช้แรงงานขึ้นมาเพื่อใช้เรียกลูกจ้างกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีสถานะภาพทางสังคมในระดับล่าง และสร้างคำว่า พนักงานและเจ้าหน้าที่ ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกลูกจ้างอีกกลุ่มที่มีสถานภาพทางสังคมดีกว่า และไม่นานมานี้เองที่คำว่าแรงงานนอกระบบถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกขานคนทำงานที่ไม่มีนายจ้างหรือมีนายจ้างที่คลุมเครือแต่คนกลุ่มนี้จะหมายความถึงแค่เฉพาะคนทำงานที่มีสถานะทางสังคมในระดับล่างอีกเช่นกัน เพราะหากจะหมายถึงคนทำงานที่ไม่มีนายจ้างที่เป็นผู้มีสถานภาพทางสังคมสูง สังคมไทยก็จะรับรู้ว่าพวกเขาคือผู้ประกอบวิชาชีพอิสระและฟรีแลนซ์

ความรับรู้ของผู้คนในสังคมที่มีต่อถ้อยคำเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการแบ่งแยกพวกเราพวกเขา ในขณะที่เราคือแรงงานฝีมือ แรงงานทักษะ แรงงานสมอง พวกเขาคือแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานไร้ทักษะ และแรงงาน(ใช้แรง)กาย ในขณะที่พวกเราเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงาน พวกเขาเป็นกรรมกร เป็นคนงาน เป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ความรับรู้เช่นนี้ยังเกิดขึ้นพร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเรามีต่อพวกเขา ในเมื่อพวกเราเป็นแรงงานฝีมือ เป็นพนักงาน เป็นเจ้าหน้าที่ พวกเราย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าจ้างที่ดี ส่วนพวกเขาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เป็นคนงาน เป็นกรรมกรพวกเขาจึงสมควรแล้วที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ความรับรู้เช่นนี้ในที่สุดแล้วทำให้เรามองไม่เห็นว่าทุกคนต่างก็เป็นคนทำงานที่มีคุณค่าต่อสังคมเหมือนกัน และทุกคนต่างก็ต้องทำมาหากินและใช้ชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเหมือนกัน

โดย... 

ตะวัน วรรณรัตน์ 

ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นรชิต จิรสัทธรรม

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น