ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์

ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์”

ซึ่งจัดโดยศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเห็นว่าเนื้อหาในการสัมมนาจะมีประโยชน์ต่อประชาชนโดยทั่วไป จึงจะขอสรุปประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ที่มาที่ไปของ “ภาษีและ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 346) ที่เพิ่งประกาศเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้น หมายความถึง “เฉพาะเงินฝากจากบัญชีประเภทออมทรัพย์” ของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น โดยไม่รวมถึงบัญชีเงินฝากประเภทอื่นๆ เช่น บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หรือบัญชีเงินฝากของสหกรณ์ ซึ่งกฎหมายเดิมได้กำหนดยกเว้นไว้อยู่แล้วว่า หากดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ประเภทออมทรัพย์มีจำนวนไม่ถึง 2 หมื่นบาทต่อปี (ทุกธนาคารรวมกัน) ผู้ฝากจะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าบัญชีที่ได้รับการยกเว้นมีอยู่จำนวนมาก (มากกว่า 90% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด) เนื่องจากการจะได้ดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทต่อปีได้นั้น ผู้ฝากต้องมีเงินจำนวนหลักล้านขึ้นไปอยู่ในบัญชี

ในส่วนของประวัติศาสตร์กฎหมายไทย ที่ผ่านมาแม้ในทางทฤษฎี ดอกเบี้ยถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทหนึ่ง เพราะมีการงอกเงยของเงินได้เกิดขึ้นจากต้นเงินที่ฝากไว้ แต่รัฐบาลได้ยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในราชอาณาจักรแบบไม่กำหนดเพดานนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา และต่อมาในปี 2534 ได้เริ่มมีการกำหนดเพดานยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่จำนวนที่ไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อปี และปรับเพดานอีกครั้งในปี 2552 ให้อยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งกฎหมายยังคงอัตราการยกเว้นไว้ที่ 2 หมื่นบาทต่อปี นับตั้งแต่ปี 2552 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กฎหมายกำหนดเรื่องการส่งข้อมูลไว้อย่างไร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 346) ได้กำหนดหลักการในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการนำส่งข้อมูล โดยอาจอธิบายได้ 2 กรณี กล่าวคือ 1.กรณีผู้มีเงินได้ให้ความยินยอมโดยการ “ไม่ได้ไปแจ้งธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร" นั้นหมายความว่าผู้มีเงินได้ได้ให้ความยินยอมโดยอัตโนมัติให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากไปยังกรมสรรพากร ซึ่งผลคือผู้มีเงินได้ในกรณีนี้หากมีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันทุกธนาคารไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ธนาคารไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินได้จากดอกเบี้ยดังกล่าว (ที่ไม่ถึง 2 หมื่น) ไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือเท่ากับว่าได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในส่วนนี้ 2.กรณีผู้มีเงินได้ไม่ให้ความยินยอม โดยแจ้งต่อธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร ผลคือธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้นๆ ไม่ว่าจะมียอดเท่าไรก็ตาม โดยเงินที่ถูกหักไว้แล้วนั้น ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกให้ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรืออาจทำเรื่องขอคืนภาษีที่ถูกหักไปได้ (โดยนำไปรวมกับเงินได้รายการอื่นเพื่อขอคืนภาษี) 

ในทางปฏิบัติธนาคารต้องทำอะไรบ้าง

ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 346) ธนาคารมีหน้าที่และการดำเนินการที่แตกต่างไปจากเดิมในหลายประเด็น ได้แก่

1.มีหน้าที่ในการส่งข้อมูลเกี่ยวกับ “ชื่อบัญชีเงินฝากและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก” ซึ่งจะต้องเป็นของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากนั้น และจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณและการจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้มีเงินได้รายดังกล่าวด้วย 2.ในอดีต รูปแบบในการจัดส่งข้อมูลมีทั้งในรูปของกระดาษและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในรูปแบบใด แต่ในปัจจุบันกำหนดให้การจัดส่งต้องดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยให้เป็นไปตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร

3.ในอดีต กรณีการได้รับดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทจากบัญชีเดียวให้ธนาคารผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% แต่หากมีการได้รับดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทจากหลายบัญชี/ต่างธนาคาร ให้ผู้มีเงินได้แจ้งธนาคารผู้จ่ายเพื่อหักภาษี (ซึ่งในทางปฏิบัติมักไม่มีผู้จดแจ้ง) ดังนั้น ประกาศฉบับ 346 ดังกล่าวจึงเปลี่ยนหลักเกณฑ์ ให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากทั้งหมดของผู้มีเงินได้มายังกรมสรรพากร (โดยยังไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย) จากนั้น กรมสรรพากรจะมีหน้าที่ประมวลผลด้วยตนเองว่าผู้มีเงินได้แต่ละรายจะต้องเสียภาษีอย่างไร ซึ่งหากตรวจพบว่าผู้มีเงินได้มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันทุกธนาคารเกิน 2 หมื่นบาทต่อปี กรมสรรพากรจะแจ้งกลับไปยังธนาคารให้ทำหน้าที่ หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ตามที่กฎหมายกำหนด (ซึ่งจะเป็นไปตามกรณีผู้มีเงินได้ให้ความยินยอมโดยการ “ไม่ได้ไปแจ้งธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อกรมสรรพากร” ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น)

4.ในส่วนของสถานที่จัดส่งนั้น จากเดิมที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลของผู้ฝากเงินต่อกรมสรรพากรพื้นที่ ในปัจจุบันให้นำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร แทน

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจนของ “ภาษี เทคโนโลยี และ Big data” ที่จะมีบทบาทต่อการจัดเก็บภาษีมากขึ้นในอนาคต

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]