พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง

พลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ต้องสร้างความเข้าใจและเป้าหมายร่วมกัน

ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้การวางแผนธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น มาถึงวันนี้โลกต้องเจอกับสงครามการค้าก็ยิ่งทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่สุดในโลกธุรกิจทุกวันนี้

ประเด็นแรก คือลำพังแค่การคิดและการวางแผนไม่เพียงพออีกต่อไปเพราะหาก “ลงมือทำ” ได้ล่าช้าก็อาจทำให้เราพลาดท่าเสียทีคู่แข่งได้ง่าย ๆ เพราะไม่ว่าจะดูข่าวหรืออ่านบทวิเคราะห์จากที่ใดเราก็จะเห็นไอเดียแปลก ๆ ใหม่ ๆ เต็มไปหมดแต่ที่ยังไม่สำเร็จเพราะขาดคนทำอย่างจริงจัง คนที่ลงมือทำก่อนแม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของไอเดีย แต่มีความสามารถมากพอที่จะทำให้สิ่งที่คิดขึ้นมาได้นั้นกลายเป็นจริงจึงเป็นคนที่มีโอกาสสำเร็จมากกว่า การเปิดรับฟังแนวคิดใหม่ ๆ จากภายนอกอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการเปิดโอกาสรับแนวคิดใหม่ ๆ ที่อาจสร้างความสำเร็จให้กับเราได้การคิดได้ และประกาศความคิดของตัวเราเองให้โลกรู้ ไม่ได้เป็นมรรคผลใด ๆ หากไม่สามารถทำได้จริงการคิดและการสร้างกระบวนการไปจนทำสิ่งที่คิดให้กลายเป็นจริงได้ จะนำไปสู่ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เราสามารถใช้สร้างโอกาสสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งนั่นเป็นตัวชี้ขาดสำคัญ

ประเด็นต่อมา คือผู้บริหารและเจ้าของกิจการอย่าประมาทกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน วันนี้โลกธุรกิจพูดคุยกันถึงบล็อกเชน เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที ฯลฯ อย่าคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้และทำความเข้าใจกับมันเพราะเราเป็นผู้บริหาร เรามีพนักงาน มีผู้เชี่ยวชาญทำงานให้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งไม่จริงเลยครับ การขาดความรู้อย่างถ่องแท้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ ได้เพียงผิวเผิน ขาดวิสัยทัศน์จะทำเอาสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นมาต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้าและบริการในอนาคต การเรียนรู้ในทุกวันนี้ก็มีช่องทางให้เรารับรู้มากมาย การก้าวออกจากออฟฟิศใช้เวลาพูดคุยกับคนนอกก็เป็นวิธีหนึ่ง หลักสูตรระยะสั้นก็เปิดขึ้นมากมายให้เราเลือก

หนังสือ บทวิเคราะห์ เพจให้ความรู้เฉพาะด้าน ฯลฯ มีมากมายให้เราติดตามและทำความเข้าใจในศาสตร์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ซึ่งล้วนส่งผลต่อการทำงานของเรา การจัดสรรเวลาเพื่อยกระดับความรู้ของตัวเองผ่านช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก หากเราติดตามความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เรามีความพร้อมในการนำองค์กรไปสู่อนาคตซึ่งเป็นประเด็นที่ 3 คือบทบาทในการเป็นผู้นำซึ่งต้องนำองค์กรและบุคลากรไปใน 2 แนวทาง อย่างแรกคือมีทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มใด หรือมีคลื่นในการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นหากเรารอบรู้เพียงพอเราก็จะวิเคราะห์ได้ว่ามันจะสอดคล้องกับแนวทางขององค์กรเราหรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ต้องพร้อมจะปรับตัวรับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนั้น และกำหนดเป้าหมายร่วมกันทั้งองค์กรให้ไปในทางเดียวกันให้ได้

ดังนั้น บทบาทการเป็นผู้นำประการที่สองก็คือการโน้มน้าวใจให้คนในองค์กรมองเห็นอนาคตร่วมกับเราได้ ซึ่งจำเป็นต้องปลูกฝังความเชื่อให้เกิดขึ้นให้สำเร็จ เพราะผู้นำไม่อาจนำองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการได้หากพนักงานมีความเชื่อที่ตรงกันข้าม การสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นจะทำให้พนักงานมองเห็นเป้าหมายที่องค์กรต้องการ เท่ากับเราเดินมาได้ครึ่งทางแล้ว การก้าวต่อไปสู่ปลายทางจึงไม่จำเป็นต้องออกแรงมากนัก แต่หากพนักงานไม่เชื่อในทิศทางที่เรากำลังจะไป นั่นเท่ากับเราต้องเริ่มจากศูนย์และต้องใช้พละกำลังเยอะมากเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

แน่นอนว่าการแข่งขันทางธุรกิจทุกวันนี้เต็มไปด้วยความผันผวนและการต่อสู้ที่รุนแรงกว่าในอดีตการที่เราต้องต่อสู้กับคู่แข่งภายนอก และต้องกลับเข้ามาต่อสู้กับความขัดแย้งภายในย่อมไม่มีวันทำให้เราก้าวไปไหนได้ การสร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันย่อมทำให้เรารวมพลังกันได้มากกว่าและพลังนั้นก็จะผลักดันให้เราไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในที่สุด