ไหนว่าเห็นคนเท่ากัน

ไหนว่าเห็นคนเท่ากัน

ผมอ่านคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาพนิสิตสวมเสื้อครุยที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้แล้ว ยอมรับตรงๆ ว่าไม่เข้าใจ

แม้จะพยายามอ่านวนซ้ำหลายรอบก็ตาม

สาระสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การร่ำเรียนวิชารัฐศาสตร์ หรือเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การรัฐประหาร และการชี้หน้ากล่าวหากันว่าอีกฝ่ายไม่จงรักภักดี แต่แก่นของเรื่องอยู่ที่การ เห็นคนเท่ากัน และ เคารพในความเห็นที่แตกต่าง” ซึ่งเธอคนนี้และพรรคการเมืองที่เธอสังกัดพร่ำพูดมาตลอด

จริงๆ แล้วเรื่องรสนิยม แนวคิด หรืออุดมการณ์ทางการเมืองถือเป็นเสรีภาพ สามารถพูด คิด ทำ และแสดงออกได้ แต่เสรีภาพนั้นก็ต้องถูกจำกัดด้วยหน้าที่ นั่นก็คือการไม่ล่วงล้ำก้ำเกินเสรีภาพของบุคคลอื่น จนนำมาสู่ความขัดแย้งวุ่นวาย โดยเฉพาะเมื่อตนเองออกมายืนกลางสปอตไลท์ เป็นบุคคลสาธารณะ

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นกลาง เป็นธรรม หรือในทางวิชาการสามารถกระทำได้ แต่ไม่ใช่แสดงออกในลักษณะ ด้อยค่า อีกฝ่ายหนึ่ง หรือมุ่งทำลายความเชื่อถือศรัทธาของบุคคลอื่น ยิ่งเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ ยิ่งต้องพึงระวัง

ส่วนที่ว่ามีการใช้สถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือโจมตีกันในทางการเมืองนั้น จะว่าไปก็เป็นเรื่องของคู่ขัดแย้งด้วยกันเอง ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันหรือระบบกฎหมายที่วางเอาไว้นับร้อยปี และเรื่องแบบนี้ถ้าไม่มีเชื้อมาก่อนมักจุดไฟไม่ติด ประเด็นก็คือเมื่อรู้ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว ก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงเพื่อลดปัญหา ไม่ใช่จ้องดราม่าเพื่อสร้างเงื่อนไขหรือซ้ำเติมสถานการณ์

ข้อเท็จจริงที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือ ตั้งแต่มีประเด็นโต้แย้งเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ในช่วงราวๆ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสถาบัน ได้ใช้ความพยายามอย่างหนักในการสร้างกลไกหลายชั้นเพื่อกลั่นกรองคดีความผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 เพื่อไม่ให้ก่อผลลบจนผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสร้างความเข้าใจผิดไปถึงนานาอารยประเทศจากปัญหาการเมืองภายในของไทยเอง

ฉะนั้นทุกคดีที่ขึ้นสู่ศาลจึงมีเหตุผลตามสมควร ขณะที่อีกหลายๆ คดีที่ไม่มีสารัตถะ ก็จะถูกกรองทิ้งไป นี่คือตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาที่ไม่ก่อปัญหาใหม่

เหตุนี้เองทุกปัญหาทางการเมืองที่เธอผู้นั้นกล่าวมา (และอ้างเป็นเหตุผลของการถ่ายภาพแสดงอารมณ์) จริงๆ แล้วสามารถแก้ไขได้ผ่านกลไกนิติบัญญัติที่ตัวเธอกำลังมีบทบาท แต่ต้องเป็นการแก้ไขบนความเข้าใจและสำนึกรับผิดชอบ ไม่ใช่ “ด้อยค่า บุคคลอื่น

หัวใจของการเป็น บุคคลสาธารณะที่ดี คือการหยุดยั้งการกระทำบางอย่างที่แม้เราอยากจะทำ แต่ต้องสะกดไว้ไม่ทำ เพื่อป้องกันสังคมวุ่นวาย บ้างเมืองปั่นป่วน และนั่นคือความเสียสละและความรับผิดชอบของคนการเมือง

แกนนำของพรรคการเมืองนี้ชอบอ้างถึงภารกิจ 2475 อ้างถึง ท่านปรีดี พนมยงค์ แต่ไม่เคยพูดถึงหรือปฏิบัติเยี่ยงท่าน โดยเฉพาะความเสียสละอันใหญ่ยิ่งที่ไม่ทำให้บ้านเมืองขัดแย้งแตกแยกไปมากกว่าเดิม...คือเรื่องอะไรโปรดไปศึกษาดู