นานาประเทศปูยุทธศาสตร์เอไอ สร้างความได้เปรียบแข่งขัน

นานาประเทศปูยุทธศาสตร์เอไอ สร้างความได้เปรียบแข่งขัน

ไทยยังมีความหวังที่จะแข่งขันด้านเอไอได้ถ้ามีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดี

เมื่อกลางเดือน ก.พ.ปีนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาลงนามในคำสั่งพิเศษของผู้บริหารเพื่อกระตุ้นการพัฒนาและกฎระเบียบของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในชื่อ ‘American AI Initiative’ ซึ่งรัฐบาลกลางให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเอไอ โดยคำสั่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 5 ด้านคือ 1.เน้นทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันดับสองรองจากด้านความมั่นคงของประเทศ

2.เร่งพัฒนาทรัพยากรด้านเอไอ ทั้งเรื่องข้อมูล ระบบประมวลผล และอัลกอริธึมต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและภาคอุตสาหกรรมสามารถประยุกต์ใช้เอไอได้อย่างรวดเร็ว 3.เร่งกำหนดมาตรฐานกลางด้านต่างๆ ของเอไอ 4.เร่งพัฒนากำลังคนด้านเอไอ ตลอดจนเตรียมกำลังคนให้พร้อม มีทักษะการใช้เอไอเพื่องานในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการศึกษา STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ในภาคการศึกษา

5.ส่งเสริมความร่วมมือกับนานาชาติในด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านเอไอ โดยในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีเอไอของสหรัฐอเมริกาให้คงอยู่ท่ามกลางการแข่งขันหรือภัยคุกคามจากประเทศอื่น

สหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำหนดกลยุทธ์ทางด้านเอไอ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017 ประเทศจีนก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเอไอที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเอไอในยุคใหม่” โดยจีนต้องการจะสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้มีมูลค่าถึง 150 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับแผนยุทธศาสตร์เอไอของประเทศจีนนั้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ขั้นคือ ในช่วงแรกจนถึงปี 2020 จะเน้นเรื่องความชาญฉลาดด้านบิ๊กดาต้า และทฤษฎีพื้นฐานด้านเอไอ ขั้นที่สอง มุ่งเน้นประยุกต์ใช้งานเอไอในด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ เมืองอัจฉริยะ โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมถึงการป้องกันประเทศ โดยมีเป้าหมายภายในปี 2025 และขั้นสุดท้ายมุ่งเน้นที่จะเป็นผู้นำของโลกทางด้านเอไอภายในปี 2030

นอกจากสหรัฐอเมริกาและจีนแล้วหลายๆ ประเทศในโลกอย่างเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส แคนาดา สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่เคนย่า ต่างก็ประกาศยุทธศาสตร์ชาติด้านเทคโนโลยีเอไอ เพราะหลายประเทศตระหนักดีว่าการปฎิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะมีผลผลิตที่โตขึ้นจากการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้อย่างมากมาย จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นแข่งขันในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ เหมือนกับในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อนที่ประเทศมหาอำนาจมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีแข่งกันไปอวกาศ

ยุทธศาสตร์เอไอของหลายประเทศมีการกำหนดงบประมาณจำนวนมาก เพื่องานวิจัยและการพัฒนาบุคลากร อาทิ ประเทศจีนตั้งงบประมาณไว้ถึง 7 พันล้านดอลลาร์ แบ่งเงิน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในการตั้งเอไอพาร์คที่นครปักกิ่ง ขณะที่เกาหลีใต้ใช้งบประมาณจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์ในแผนงานเอไอจนถึงปี 2022 ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง 1.5 พันล้านยูโรจนถึงปี 2022 ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลจะทำให้สถาบันการศึกษาและวิจัยของประเทศต่างเหล่านี้ต่างมุ่งเน้นมาทำวิจัยและการสอนทางด้านเอไอและดึงบุคลากรเก่งๆ จากทั่วโลกมาศึกษาและทำงาน

นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์เอไอที่เป็นความร่วมมือของนานาชาติ เช่น สหภาพยุโรปมีแผนที่จะระดมเงินงบประมาณทางด้านนี้ 20,000 ล้านยูโร และได้จัดสรรงบประมาณวิจัยปีละ 1.5 พันล้านยูโรจนถึงปี 2020 นอกจากนี้สหประชาชาติที่เปิดศูนย์กลางทางด้านเอไอและหุ่นยนต์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

แม้หลายประเทศจะมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเอไอไปอย่างมากและมีการกำหนดยุทธศาสตร์มาหลายปีแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังมีความหวังที่จะแข่งขันทางด้านเอไอได้ถ้ามีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ดี โดยเราอาจต้องมุ่งเน้นการทำวิจัยและพัฒนาในเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นจุดเด่นของประเทศ เช่น การนำเอไอมาใช้ในด้านการท่องเที่ยว การเกษตร ตลอดจนเน้นการพัฒนาเอไอในด้านภาษาไทยและท้องถิ่นของเรา

ทั้งนี้ในยุทธศาสตร์ควรเน้นใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และสำคัญที่สุด คือ ต้องลงทุนกับการศึกษาทางด้านนี้ ทั้งการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเอไอ ตลอดจนพัฒนาประชาชนให้มีทักษะการใช้เอไอเพื่องานในอนาคตต่อไป