“เศรษฐกิจแบ่งปัน”กับผลกระทบ ต่อประเทศที่น่าเป็นห่วง

“เศรษฐกิจแบ่งปัน”กับผลกระทบ ต่อประเทศที่น่าเป็นห่วง

เรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) ใช้พลังการแบ่งปันและความร่วมมือผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และสื่อออนไลน์ในประเทศจีน พูดถึงตำรวจท่องเที่ยวไทยร่วมกับ ตม.และกรมการปกครองกว่า 40 นายเข้าค้นคอนโดย่านเอกมัย เพื่อตรวจจับการปล่อยเช่าคอนโดรายวันที่มีการทำกันอย่างโจ่งแจ้งผ่านเอเจนท์ กรณีนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย

แม้แต่ที่ฮ่องกงก็มีกรณีคล้ายกันเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจจับการปล่อยเช่ารายวันผ่านเว็บไซต์ ซึ่งผิดกฎหมายในฮ่องกงที่ไม่อนุญาตให้มีการปล่อยเช่าห้องพักน้อยกว่า 28 วันโดยไม่มีใบอนุญาต นอกจากนี้หลายประเทศในโลก ก็ประสบปัญหาเดียวกัน โดยถูกร้องเรียนจากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง หรือแม้แต่ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยเช่า

ข่าวเหล่านี้ อาจมีผลทำให้คนบางส่วนเห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนไป เรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing economy) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้เน้นการเติบโตแบบลุยเดี่ยว แต่ใช้พลังการแบ่งปันและความร่วมมือผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดรูปแบบสินค้า และบริการใหม่ที่ตอบรับความต้องการของผู้คนในวงกว้าง โดยทำให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการสามารถติดต่อทำธุรกรรมกันได้โดยตรง ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น AirBnB ให้บริการที่พัก Grab ให้บริการรถโดยสาร หรือ LendingClub ที่ให้บริการการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล

เมื่อดูตามทฤษฎีของเศรษฐกิจแบบแบ่งปันแล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องดีแต่ทำไมหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยมองว่า เรื่องนี้ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการเช่ารายวันที่ศาลเคยมีคำพิพาษาตัดสินว่า เช่าคอนโดรายวัน-สัปดาห์ ผิด พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะการทำธุรกิจรูปแบบนี้บางประเภทไม่มีการเสียภาษีที่ถูกต้อง บางครั้งไม่ได้ทำตามระเบียบให้ถูกต้อง เช่น เรื่องการจดทะเบียน หรือการบริการตามกฎหมาย ที่ผู้ประกอบธุรกิจแบบเดิมๆ ต้องปฎิบัติตาม ทำให้ผู้ประกอบการรูปแบบเดิมมีต้นทุนสูงกว่า และไม่อาจแข่งขันได้ จากการเสียภาษีและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการทำตามระเบียบ

กรณีคอนโดให้เช่ารายวัน ซึ่งสร้างขึ้นมามีจุดประสงค์ เพื่ออยู่อาศัยระยะยาว อาจเป็นการรบกวนผู้อยู่อาศัยทั่วไป รวมไปถึงด้านความปลอดภัยจากการที่มีคนแปลกเข้ามา หรือทำให้มีผลต่อทรัพย์สินส่วนกลางเสื่อมโทรมเร็วขึ้นจากผู้เช่ารายวันที่ผลัดเปลี่ยนกันมาจำนวนมาก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจแบบแบ่งปันประเภทการเช่ารายวัน นอกจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแล้ว ก็อาจถูกผู้อยู่อาศัยในคอนโดร้องเรียนด้วย ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาตรวจค้น และทราบว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าประจำอยู่ที่คอนโดเพราะลูกบ้านร้องเรียนไป

การทำธุรกิจแบบแบ่งปันบางประเภทนอกจากจะไม่เสียภาษีในประเทศแล้ว ที่น่าห่วงกว่า คือ บางธุรกิจการเช่ารายวันอาจไม่มีรายได้เข้าประเทศ และเริ่มไม่ใช่เศรษฐกิจแบบแบ่งปันตามทฤษฎีอย่างแท้จริง ปัจจุบันคอนโดหลายแห่งมีผู้ลงทุนต่างประเทศเป็นผู้พัฒนา แล้วปล่อยขายห้องจำนวน 49% ให้กับคนต่างชาติเพื่อการลงทุน โดยมีเอเจนท์ทำหน้าที่บริหารการปล่อยเช่ารายวันให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มบนอินเทอร์เน็ตที่ทำธุรกรรมกันในต่างประเทศโดยไม่มีรายได้เข้าประเทศ ผลที่เกิดขึ้นคือนอกจากธุรกิจไทยเสียรายได้ ราชการไม่ได้ภาษีแล้ว คอนโดก็ยังกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นอาจใช้นอมินีคนไทยมาเป็นเจ้าของบางส่วนใน 51% ที่เหลือ ทำให้คนต่างชาติกลุ่มนั้นมีอำนาจควบคุมคอนโด ซึ่งหากปล่อยเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในหลายๆ แห่ง ระยะยาวอนาคตของลูกหลานเราก็อาจจะลำบากขึ้นในเรื่องที่อยู่อาศัย

ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ใส่ใจมาตรวจจับอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ดีแม้จะดูเหมือนว่ากฎหมายของเรายังตามเศรษฐกิจแบบแบ่งปันไม่ทันก็ตาม แต่ขณะเดียวกันรัฐก็ควรเร่งพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และออกหลักเกณฑ์บังคับให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ต้องมีข้อกำหนดต่างๆ ให้เป็นธรรมต่อการทำธุรกิจของทุกฝ่าย เช่นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (peer to peer lending)

อีกประเด็นที่สำคัญธุรกิจแบบแบ่งปันบางรายอาจจะไม่ใช่การแบ่งปันที่แท้จริง แต่กลับเป็นการทำแบบลุยเดี่ยวเช่นกว้านซื้อที่พักแล้วปล่อยเช่า จึงควรจะต้องรีบหยุดยั้งก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศในวงกว้าง